จากประเด็นเรื่อง UberX เริ่มให้บริการในไทย แต่พบว่ากลับใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (ที่เรียกกันว่าป้ายดำ) จนเกิดคำถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่
ทีม Blognone สอบถามประเด็นนี้ไปยัง Uber ประเทศไทยแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าให้สอบถามไปยัง Uber ที่สิงคโปร์ และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ระหว่างนี้เราจึงสอบถามความเห็นจากนักกฎหมายหลายท่าน และได้รับคำตอบมาดังนี้ครับ
กรณี Uber ที่แต่เดิมใช้รถลีมูซีน (รถยนต์บรรทุกคนโดยสารได้เกินกว่าเจ็ดคน) จึงอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แต่ครั้นเปลี่ยนแนวธุรกิจมาจับตลาดล่างใช้รถยนต์นั่งธรรมดา คือรถยนต์บรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน จึงมิได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว (เป็นไปตามข้อยกเว้นมาตรา ๕ (๒) (ก) พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ) แต่มาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ แทน โดยเข้าลักษณะเป็นรถยนต์สาธารณะตามนิยามมาตรา ๔ (“รถยนต์สาธารณะ” หมายความว่า (๒) รถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจําทาง)
พอเป็นรถยนต์สาธารณะ หน้าที่ความรับผิดชอบของ Uber ก็เกิดขึ้นตามมาด้วย ทั้งในส่วนตัวรถยนต์จะต้องมีลักษณะเครื่องหมาย โคม TAXI-METER สีรถ ฯลฯ ตามกฎหมาย รวมทั้งตัวคนขับจะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ตัวอย่างเช่น
หาก Uber ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงเหล่านี้ เช่น ใช้รถยนต์ป้ายทะเบียนดำหรือขาว ไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนคนขับรถรับจ้างสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีโทษปรับเช่นกัน (น่าจะประมาณ ๒,๐๐๐ บาท)
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ ส่วนจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน
ส่วนประเด็นวิธีการเรียกใช้บริการ ไม่ว่าจะโดยการโบกเรียก หรือโทรศัพท์เรียก หรือผ่าน application ไม่ทำให้ความเป็นรถสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปค่ะ เพียงแต่กรณีหลังอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจยากขึ้นเท่านั้น
บริการแท๊กซี่เป็น "บริการขนส่งไม่ประจำทาง" ชนิดหนึ่ง ตามความในมาตรา 4(3) เป็นธุรกิจที่ควบคุมโดยกฎหมาย ผู้ที่จะให้บริการโดยได้รับค่าจ้าง ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ตามมาตรา 65 วรรค 2 และต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง ตามมาตรา 65 วรรค 1
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 126 ของ พรบ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522
หมายเหตุ: คัดลอกจากความเห็นคุณพิชัยในข่าวเดิม
ประเด็นเรื่องแท็กซี่ป้ายดำถือเป็นการใช้รถส่วนบุคคลไปทำการรับส่งผู้โดยสาร ถือว่าผิด พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 เรื่องการใช้รถผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้อยู่แล้ว ดังนั้น Uber ในฐานะผู้ประกอบการจัดให้บริการที่ผิดกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่้วไป ก็อาจถือได้ว่าประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย