เว็บไซต์ Ars Technica มีโอกาสนั่งคุยกับ Gabe Cohen, Dave Burke และ Brian Rakowski ผู้บริหารของทีม Android และได้ข้อมูลเชิงลึกของ Android 5.0 Lollipop มาหลายประเด็น
- กูเกิลใช้วิธีออก Android รุ่นพรีวิวเป็นครั้งแรกในรุ่นนี้ ซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะทีมงานได้ข้อมูลจากนักพัฒนากลับมาโดยตรงมากมาย (ตอนแรกทีมงานคาดว่า Lollipop จะมี API ใหม่ราว 5,000 ตัว สุดท้ายปรับแก้ไปมาจนจบที่ 7,000 ตัว) รวมถึงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็น่าจะออกรอม Lollipop ได้รวดเร็วกว่าเดิมเพราะมีเวลากับมันนานขึ้น ทีม Android มีความเห็นว่าอยากใช้นโยบายออกรุ่นพรีวิวต่อไปในอนาคต
- พูดถึงการแยก WebView ไปใส่ใน Google Play Services ว่าเหตุผลสำคัญเป็นเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย เนื่องจากแอพใน Play Store ราว 70-80% เรียกใช้ WebView และเอนจิน Chromium เปลี่ยนรุ่นทุก 6 สัปดาห์ ในระบบเดิม ถ้าหากมีบั๊กหรือช่องโหว่ความปลอดภัยจะส่งผลกระทบมาก แต่กลับอัพเดตได้ยากเพราะผูกกับตัวระบบปฏิบัติการ การเปลี่ยนมาอัพเดตผ่าน Google Play Services ย่อมช่วยลดปัญหาความปลอดภัยลงได้มาก
- ของใหม่ใน Lollipop ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือซอฟต์แวร์เซ็ตอัพระบบเมื่อเปิดใช้เครื่องครั้งแรก กูเกิลออกแบบมันใหม่หมด รองรับการล็อกอินสองชั้น และสามารถอัพเดตตัวเองได้ทันทีเมื่อต่อเน็ต (ก่อนผู้ใช้กรอกรหัสผ่านด้วยซ้ำ) เพื่อตรวจสอบว่ากูเกิลเพิ่มฟีเจอร์หรือนโยบายอะไรใหม่บ้าง
-
ตัวเซ็ตอัพยังมีฟีเจอร์ชื่อ Play Auto Install ช่วยติดตั้งแอพจาก Play Store ตามรายชื่อแอพของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ วิธีนี้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จึงไม่จำเป็นต้องพรีโหลดแอพไปกับรอม และสามารถเปลี่ยนแอพได้ตลอดเวลา (เช่น แอพบางตัวล้าสมัยหรือเลิกทำ ก็เอาออกได้ ไม่ต้องผูกติดกับรอมไปตลอด) แอพที่ติดตั้งด้วยวิธีนี้จะอยู่ใน data partition และผู้ใช้ลบออกได้เองง่ายๆ ด้วย
ประเด็นส่วนของ Nexus
-
Nexus 6 และ Nexus 9 ราคาแพงขึ้นเพราะตั้งเป้าจับตลาดพรีเมียมมากขึ้น กูเกิลยอมรับว่า Nexus 6 มีขนาดใหญ่และอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม แต่ก็หวังว่า Nexus 6 จะตอบโจทย์ในแง่การทำงานได้ทุกรูปแบบ
- ในสหรัฐ Nexus 6 จะวางขายแบบติดสัญญากับทุกเครือข่าย ผู้ซื้อ Nexus 6 แบบติดสัญญาจึงไม่ต้องจ่ายค่าเครื่องแพง อย่างไรก็ตาม กูเกิลก็ยอมรับว่าเครื่องแบบติดเครือข่ายจะได้อัพเดตช้ากว่าเครื่องเปล่าไม่ล็อคเครือข่ายอยู่ดี เพราะยังไงก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากเครือข่าย
- กูเกิลจะยังขาย Nexus 5 ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่ แต่ไม่ยอมบอกว่าจะขายต่อไปอีกนานแค่ไหน
- Nexus 6 ใช้ชิปดักฟังเสียงพูด Ti C55 ตัวเดียวกับ Moto X ทำให้สั่งงานด้วยเสียงได้แม้ปิดหน้าจออยู่ แต่ในแง่ซอฟต์แวร์ Lollipop ออกแบบให้ผู้ผลิตมือถือในอนาคตเลือกใช้ชิปได้ตามต้องการ (กูเกิลมี hardware abstraction layer ให้) ส่วนรูปแบบการใช้งาน Moto X ใช้ซอฟต์แวร์ของตัวเองดักเสียงพูดแล้วส่งคำสั่งต่อให้แอพ Google Search แต่กูเกิลใช้แอพ Google Search ตัวเดียวควบสองหน้าที่ ผลคือทำงานได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และลดโอกาสโดนดักข้อมูลกลางทางลง
ที่มา - Ars Technica