สำหรับวินาทีนี้แล้ว คงปฎิเสธไม่ได้ว่าโน๊ตบุ๊คขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่าซับโน๊ตบุ๊คนั้น เรียกได้ว่าไม่มีอะไรมาหยุดกระแสความแรงของ ASUS Eee PC ได้ ด้วยราคาที่แสนถูก เมื่อเทียบกับราคาของซับโน๊ตบุ๊คทั่วไป น่าโชคดีที่คนไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ เจ้า Eee PC นี้เป็นชาติแรกๆ ต่อจากไต้หวันและฮ่องกงในงาน Commart 2007 ด้วยการลุ้นซื้อที่บูธของ ASUS ภายในงาน วันละหลายสิบเครื่อง
เอาล่ะ จบบทนำแล้ว ขอบคุณที่เพื่อนผมท่านหนึ่งได้โชคดี มีโอกาสเป็นเจ้าของ Eee PC นี้ หลังจากล่อลวงให้ซื้ออยู่พักใหญ่ๆ จึงดักตีหัวได้มีโอกาสหยิบมารีวิวให้ได้ชมกันครับ สำหรับรุ่นที่จะนำมารีวิวก็คือรุ่น ASUS Eee PC 701 (4GB) ครับ
สำหรับสเปคของ Eee PC นั้น ถ้าเทียบกับซับโน๊ตบุ๊คด้วยกันแล้วเรียกได้ว่าต่ำเลยเชียว ด้วยซีพียูเป็น Intel Celeron M ULV 353 ความเร็ว 900MHz และแรม 512MB และผมเองก็คิดว่ามันน่าจะถูกกว่านี้อีกนะ แต่ ณ ป้ายราคาปัจจุบัน ก็ถือว่าพอรับได้
ขนาดของตัวเครื่อง จากที่ลองเทียบดูแล้ว มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ และน้ำหนักก็ประมาณพจนานุกรมเล่มขนาดกลางๆ หนึ่งเล่มเท่านั้น ยังอยู่ในระดับที่ว่า นั่งเล่นบนรถแล้วไม่รู้สึกเมื่อย ส่วนเรื่องความร้อนก็ไม่ร้อนมาก
สำหรับพอร์ตต่างๆ ของเครื่อง ก็มีพอร์ตสำหรับต่อ LAN, พอร์ตสำหรับต่อโมเด็ม, USB 3 พอร์ต, ช่องเสียบ SD และพอร์ตสำหรับต่อ VGA ข้อดีที่สุดของพอร์ตทั้งหมด ก็คงเป็น USB ที่มีถึงสาม ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียบ Harddisk ยังไง เมื่อเสียบเมาส์และคีย์บอร์ดไปแล้ว
สิ่งที่น่าเซ็งที่สุดของเครื่องนี้อย่างหนึ่งคือจอ ที่ต้องเสียพื้นที่ด้านซ้ายและขวาให้แก่ลำโพง เลยเหลือแค่จอเล็กๆ ขนาด 800x480 แทน (ในขณะที่ OLPC เป็น 1280x900) และ trackpad ที่มีขนาดเล็กจนเกินไป หนำซ้ำค่ามาตรฐานของเครื่องยังปรับความเร็วการตอบสนองของ trackpad ไว้ต่ำสุดอีกต่างหาก ทำให้ "ถ้าไม่กดแรงๆ ก็แทบจะเลื่อนไม่ไป" ส่วนคีย์บอร์ด คิดซะว่าถ้าหากใช้ไปนานๆ คงจะชิน
ประสิทธิภาพของเครื่อง ลองเปิด Firefox, AmaroK และ PIM ก็ยังไม่แสดงอาการช้าออกมาให้เห็น และเวลาโหลดของโปรแกรมต่างๆ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เร็วใช้ได้ จากที่ลองดู DivX บนเครื่องด้วย SMPlayer (ที่เป็นหน้ากากของ MPlayer อีกที) ก็สามารถดูได้ไม่ติดขัด (แต่ลอง H264 ไม่ได้ เพราะ MPlayer ไม่มี codec)
Eee PC นั้นใช้เวอร์ชั่นปรับแต่งของ Xandros ด้วยธีม KDE คล้ายๆ กับ Windows XP มาเป็นระบบปฎิบัติการมาตรฐาน โดยเมื่อเปิดเครื่องมาจะพบกับแท็บต่างๆ หกแท็บ แยกโปรแกรมต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ มีโปรแกรมสำคัญๆ ก็คือ Firefox, Thunderbird, KDE PIM, AmaroK, OpenOffice.org, Pidgin, Skype และลิงค์ไปยังเว็บไซต์น่าสนใจอื่นๆ เช่น Google Docs, Gmail หรือ Wikipedia
เรื่องที่น่ารำคาญก็คือ (ยัง)ไม่สามารถลงโปรแกรมเพิ่มเติมได้ผ่านทาง Add/remove Programs ในหมวด Settings ได้ จำเป็นต้องใช้ apt-get
หรือ aptitude
ในการลงโปรแกรมเอาเองผ่านทาง Terminal ซึ่งในตอนนี้ก็ยังไม่มีโปรแกรมอะไรให้เลือกใช้มากนักภายใน repository และระบบปฏิบัติการที่ลงมาก็มีขนาดถึง 2.3GB ที่จะทำให้พื้นที่ใช้สอยจาก 4GB น้อยลงขึ้นไปอีก!
เรื่องที่น่าติที่สุดในตอนนี้ นอกจากยังไม่ค่อยมีโปรแกรมใดๆ แล้ว ถึงแม้ว่าจะสามารถอ่านภาษาไทยได้ดี แต่หลังจากลองเล่นกับ Input Method Setup แล้วก็พบว่ายังไม่สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ ผมคิดว่าบกพร่องมากๆ เลยนะ กับการเอามาขายในไทย แต่ยังพิมพ์ไทยไม่ได้เนี่ย?
ฟีเจอร์ที่อันหนึ่งที่ผมค่อนข้างผิดหวังคือ Desktop Mode เพราะในตอนแรกนึกว่าเมื่อเข้า Desktop Mode แล้วจะกลายเป็น KDE ปกติ ไม่ใช่อินเทอร์เฟสของ Eee แต่กลับไม่ใช่ เป็นแค่การขยายขนาดของจอ เมื่อต่อกับจอภายนอกเท่านั้น
ด้วยราคาของเครื่องที่ไม่แพงมาก ถ้าหากจะถามผมว่า "เหมาะเอาไปทำอะไร" ก็ต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ใช้ ถ้าหากจะเอาไปใช้ด้านการศึกษา สำหรับคนที่มีพื้นฐานคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง ถือว่าเหมาะ เพราะขนาดที่เล็กพกพาสะดวก หรือสำหรับกลุ่มผู้ใช้ระดับสูง (Geek) ที่มันจะกลายเป็น Gadget สารพัดประโยชน์ตัวหนึ่งเลย เพราะถึงแม้ขนาดของแฟลชที่ติดกับเครื่องจะน้อย แต่ก็สามารถเอา SD มาเสียบเพิ่มได้
ถึงแม้จะยังมีปัญหาเรื่องภาษาไทย แต่ก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต ปัญหาที่แก้ไม่ได้ในรุ่นนี้เช่นเรื่อง trackpad ถ้าหากต้องพก mouse USB ไปไหนมาไหนด้วย ก็คงจะดูไม่เมคเซนส์ซักเท่าไหร่ ก็อาจจะต้องหวังให้มีการปรับปรุงในเรื่องนี้ในรุ่นถัดๆ ไปครับ
ภาคสอง: ผมจะลง Ubuntu!