หลังโดนฟ้องว่าละเมิดสิทธิบัตร Samsung ก็ฟ้องกลับ NVIDIA ด้วยประเด็นเดียวกัน

by ตะโร่งโต้ง
13 November 2014 - 04:00

หลังจากที่ Samsung และ Qualcomm โดน NVIDIA ยื่นฟ้องด้วยข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเกี่ยวกับตัวประมวลผลกราฟิก ตอนนี้ขาใหญ่แดนโสมได้ออกมาตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้อง NVIDIA บ้าง ด้วยข้อหาลักษณะเดียวกันคือการละเมิดสิทธิบัตร แถมพ่วงด้วยข้อกล่าวหาโฆษณาเกินจริงที่ทำให้เข้าใจว่าชิป Tegra K1 เป็นชิปสำหรับอุปกรณ์พกพาที่เร็วที่สุดในโลก

ในส่วนของคดีสิทธิบัตรนั้น Samsung อ้างว่า NVIDIA ได้ละเมิดสิทธิบัตร 6 รายการที่ว่าด้วยเรื่องการออกแบบชิป รวมถึงการควบคุมหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์หลากหลายชนิด โดยในคดีสิทธิบัตรนี้มิได้มีเพียง NVIDIA เท่านั้นที่โดนฟ้อง แต่ยังมี Velocity Micro บริษัทผู้ผลิตพีซีแบบปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้าตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาด้วย โดย Velocity Micro นั้นโดนเล่นงานคดีสิทธิบัตรถึง 8 รายการด้วยกัน

ไม่เพียงแต่เรื่องสิทธิบัตรเท่านั้น แต่ Samsung ยังใช้โอกาสเดียวกันนี้ฟ้อง NVIDIA ด้วยประเด็นการโฆษณาเกินจริง โดยอ้างอิงถ้อยคำจากการที่ NVIDIA โฆษณาแท็บเล็ต Shield ว่าใช้ "หน่วยประมวลสำหรับอุปกรณ์พกพาที่เร็วที่สุดในโลก" ซึ่งหมายถึง Tegra K1 โดย Samsung ระบุว่าชิป Exynos ของตนนั้นมีคะแนนการทดสอบเหนือกว่า Tegra K1 ในการเบนช์มาร์คหลายแห่ง อาทิ Geekbench 3

ด้าน NVIDIA นั้นกำลังเตรียมข้อมูลเพื่อสู้คดีกับ Samsung โดยมีการให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟ้องเรื่องสิทธิบัตรเพียงแค่ว่า Samsung นั้นจงใจลาก Velocity Micro เข้ามาด้วยเพียงเพราะบริษัทนี้ตั้งอยู่ในรัฐ Virginia ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าการพิจารณาคดีของศาลในรัฐนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง ส่วนข้อโต้แย้งเชิงเทคนิคเกี่ยวกับสิทธิบัตรนั้น NVIDIA ยังมิได้เปิดเผยออกมา

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการโฆษณาแท็บเล็ต Shield ที่โดนฟ้องว่ากล่าวเกินจริงเรื่องชิป Tegra K1 นั้น NVIDIA ให้ความเห็นแต่เพียงว่าการกล่าวอ้างของตนเองที่บอกว่าชิป Tegra K1 เร็วที่สุดในโลกเป็นการอ้างอิงจากผลเบนช์มาร์คหลายแห่งหลายค่ายมาพิจารณารวมกัน มิใช่การยกเอาผลเบนช์มาร์คจำเพาะที่ใดที่หนึ่งมาอ้าง พร้อมกับนำเสนอแผนภูมิเปรียบเทียบผลการเบนช์มาร์คระหว่างแท็บเล็ต Shield ที่ใช้ Tegra K1 เปรียบเทียบกับ Galaxy Note 4 ที่ใช้ Exynos 5433

งานนี้ถึง Samsung จะดูแข็งแกร่งใหญ่โตกว่า แต่ NVIDIA คงสู้ไม่ถอยแน่ๆ

ที่มา - CNET

Blognone Jobs Premium