หลังจากการมาถึงของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ มีการลากสายใยแก้วนำแสงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งบนบกและใต้น้ำเพื่อรองรับความต้องการนี้ แต่การติดตั้งใยแก้วนำแสงนั้นต้องใช้เวลาและเงินในปริมาณมาก เทคโนโลยีการเชื่อมต่อลูกผสมเลเซอร์-วิทยุจาก AOptix ที่ใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่าและราคาถูกกว่าจึงเริ่มได้รับความสนใจในการนำมาช่วยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีการเชื่อมต่อนี้ใช้ทั้งการเชื่อมต่อด้วยเลเซอร์และคลื่นวิทยุทำงานแยกจากกันเพื่อช่วยชดเชยจุดอ่อนของอีกฝ่าย เนื่องจากเลเซอร์จะไม่สามารถทำงานได้ในภาวะหมอกหนา และคลื่นวิทยุเองก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก (หากฝนตกหนักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิและความชื้นของอากาศจนหมอกหายไป) ทำให้การเชื่อมต่อนี้ค่อนข้างทนทานต่อสภาพอากาศ
ตัวอุปกรณ์มีขนาดเท่าๆ กับโต๊ะกาแฟ มีสองตาเหมือนกับหัวของ Wall-E (ดูภาพประกอบท้ายข่าว) ข้างหนึ่งสำหรับเลเซอร์และอีกข้างสำหรับคลื่นวิทยุแบบทิศทาง สามารถเชื่อมต่อกับอีกกล่องหนึ่งที่อยู่ห่างไปในระยะ 10 กิโลเมตรและสามารถเชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ แบบ daisy chain ได้
ปัจจุบัน AOptix สามารถรับรองความเร็วของการรับส่งข้อมูลได้ที่ 2 Gbps เมื่อเทียบกับใยแก้วนำแสงที่ใช้กันในปัจจุบันก็ต่างกันพอสมควร (เทคโนโลยีใยแก้วนำแสงที่ใช้กันอยู่มีอัตราการส่งข้อมูลราว 100 Gbps ทั้งยังมีงานวิจัยที่ทำให้ใยแก้วนำแสงส่งข้อมูลได้ 43 Tbps และ 255 Tbps) แม้ความเร็วจะต่ำ แต่ความง่ายในการติดตั้งและต้นทุนที่ต่ำกว่าก็ทำให้มันเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความต้องการไม่สูงมากนัก โดยในตอนนี้มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา 3 รายที่นำไปทดลองใช้, ใช้งานจริงโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์ในเม็กซิโกหนึ่งราย และกำลังใช้ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไนจีเรีย
ที่มา - MIT Technology Review ผ่าน SlashGear