รีวิว Wellograph นาฬิกาเพื่อสุขภาพ

by lew
26 November 2014 - 02:13

ยุคของนาฬิกาฉลาด (สมาร์ทวอช) อาจจะเริ่มต้นด้วย Pebble ที่สร้างปรากฎการณ์ความนิยมในหมู่นักพัฒนาเป็นวงกว้าง จนตอนนี้เองแพลตฟอร์มของนาฬิกาก็ดูจะเป็นก้าวแรกของคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ที่มีการใช้งานจริงเป็นวงกว้าง ตัว Wellograph เป็นทีมพัฒนาที่แยกมาจากที่ของ Atiz ที่ทำธุรกิจเครื่องสแกนหนังสือมาก่อน โดยเครื่องพัฒนาในไทยนี่เอง

ในแง่ของฟีเจอร์แล้ว Wellograph คงไม่สามารถนับได้ว่าเป็นสมาร์ทวอชเต็มรูปแบบแบบเดียวกับ Pebble หรือ Android Wear เพราะตอนนี้เองก็ยังไม่สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นลงไปได้โดยตรง ฟีเจอร์สำคัญของ Wellograph คือการจับการเดินและอัตราการเต้นของหัวใจ ตามชื่อของผู้ผลิตที่เรียกมันว่าเป็นนาฬิกาสุขภาพ (Wellness Watch)

รูปร่างภายนอก

Wellograph เลือกใช้รูปร่างสี่เหลี่ยมแต่โค้งเล็กน้อย กระจกหน้าเป็นกระจกแซฟไฟร์โค้งตามทรงนาฬิกาที่ทางผู้ผลิตชูเป็นฟีเจอร์สำคัญ ประเด็นของหน้าจอสี่เหลี่ยมหรือวงกลมสวยกว่ากันคงเป็นประเด็นถกเถียงกันไปอีกนาน โดยเฉพาะเมื่อแอปเปิลเลือกใช้หน้าจอสี่เหลี่ยมไปแล้ว แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของ Wellograph คือความหนาที่ค่อนข้างหนาแต่ก็เป็นข้อเสียของสมาร์ทวอชส่วนใหญ่ในท้องตลาด (แม้แต่ตัวที่เล็กที่สุดอย่าง Pebble ก็ยังบางกว่าไม่มากนัก) ทำให้การใส่ใช้งานบางอย่างเช่นพิมพ์งานไม่ค่อยสะดวกนัก อีกอย่างหนึ่งคือหน้าจอสี่เหลี่ยมที่เวลามองแล้วลอยออกมาจากตัวหน้าปัทม์ทำให้มองดูไม่ดีนัก

แต่ในแง่ของฟีเจอร์ภายนอกที่สำคัญคือ Wellograph จะกันน้ำได้ 50 เมตร ทำให้สามารถใส่ว่ายน้ำได้สบายๆ

อินเทอร์เฟซ

Wellograph เป็นหน้าจอแบบไม่สัมผัสแต่มีปุ่มสองปุ่ม โดยกดได้สองแบบคือ "เลือก" และ "เลื่อนลง" การใช้งานโดยทั่วไปคงไม่ลำบากนัก เพราะโดยปกติประจำวันการกดปุ่มก็มักเป็นการเลื่อนหน้าจอไปดูข้อมูลเป็นระยะมากกว่าจะทำอย่างอื่น แต่เวลาที่ต้องเข้าเมนูลึกๆ เช่น ตั้งเวลา หรือเชื่อมต่อ Bluetooth จะค่อนข้างลำบาก เพราะหากกดพลาดบางครั้งก็จะหลุดออกจากเมนูที่ต้องการไปเลย ระบบเมนูต่างๆ เองก็จะเป็นรายการวนลูป เพราะกดลงได้อย่างเดียว ทำให้การใช้งานช่วงแรกๆ จะงงๆ ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักก็จะเริ่มเข้าใจแนวคิดการออกแบบ แต่จากที่ลองใช้มาผมก็ยังให้อินเทอร์เฟซแบบ Pebble ที่เป็นสามปุ่มนั้นเข้าใจได้ง่ายกว่าแบบนี้มาก

เพิ่มเติม: นอกจากการกดเลื่อนแล้ว ยังสามารถกด back ได้ด้วยการกดสองปุ่มพร้อมกัน และกดค้างปุ่มบนเพื่อเปิด/ปิด Bluetooth ได้

ความแม่นยำ

ผมทดสอบใส่ Wellograph หนึ่งวันเต็มเทียบกับเครื่องนับก้าวของ Omron HJA-311 พบว่าจำนวนก้าวต่างกันไม่ถึง 10% ตัว Omron คงได้เปรียบกว่ามากเพราะเป็นการเหน็บเอวที่นับได้ง่ายกว่านาฬิกาที่แกว่งไปมาตลอดเวลาโดยบางทีไม่ได้เดิน แต่ตัวเลขโดยรวมก็ถือว่าไม่ต่างกันมาก ประเด็นการนับก้าวมีเรื่องแปลกๆ ที่ผมพบระหว่างการทดสอบคือบางครั้งตัวเลขที่แสดงจะเปลี่ยนเอง เช่นอยู่ๆ จำนวนก้าวกลายเป็น 0 แล้วกลับมาประมาณเดิมอีกครั้ง

แต่อีกฟีเจอร์ของ Wellograph คือการวัดอัตราการเต้นของหัวใจจะมีการแสดงกราฟให้ดูด้วย ผมลองดูแล้วพบว่ากราฟไม่สวยเป็นรูปคลื่นหัวใจเหมือนในภาพโฆษณานัก แต่ตัวเลขอัตราการเต้นค่อนข้างนิ่ง ผมเทียบกับเครื่องวัดอัตราการเต้นหัวใจแบบสายคาดหน้าอกเป็น Bluetooth LE ที่ผมใช้อยู่ก็พบว่าอันตราที่ได้ออกมาพอๆ กัน แต่ตัวเลขการอัพเดตของ Wellograph จะช้า และมีบางช่วงตัวเลขแปลกออกไปเลย เช่น อัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 80-85 ครั้งต่อวินาทีเครื่องวัดแบบคาดอกจะแสดงค่าในช่วงนี้ตลอดเวลาขณะที่ Wellograph จะนิ่งอยู่ที่ 82 อยู่พักใหญ่ๆ จึงเปลี่ยนค่าไปบ้าง แต่มีบางครั้งค่าที่เปลี่ยนก็หลุดไปเลยกลายเป็น 68 โดยรวมๆ แล้วการใช้งานน่าจะใช้เพื่อประมาณการออกกำลังกายซึ่งก็น่าจะแสดงแนวโน้มโดยเฉลี่ยได้ แต่การวัดแบบแม่นยำจากแขนน่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป

แอพลิเคชั่น

Wellograph มีแอพลิเคชั่นมาคู่กันเป็นมาตรฐาน ใช้ซิงก์ข้อมูลออกจากตัวนาฬิกาและตั้งเวลานาฬิกาให้ตรงอัตโนมัติ การใช้งานโดยทั่วไปคงไม่มีปัญหาอะไร แอพสามารถแบ่งช่วงการออกกำลังกาย สิ่งที่ขาดไปคือการเชื่อมต่อกับแอพอื่นๆ รวมถึงการส่งข้อมูลออกเป็นไฟล์

อายุแบต

อายุแบตเตอรี่เป็นอีกฟีเจอร์ของ Wellograph ที่โฆษณาว่าอยู่ได้นานถึง 7 วัน ผมใส่ใช้งานต่อเนื่อง มีกดเล่นบ้างก็อยู่ได้เกิน 4 วันสบายๆ แต่มีข้อต้องระวังคือหน้าจอวัดอัตราการเต้นหัวใจนั้นจะบังคับให้ระบบวัดหัวใจทำงานตลอดเวลาและกินแบตเตอรี่มาก ทำงานอยู่ไม่ถึงวันก็แบตหมดได้ง่าย ตรงนี้ต้องระวังให้เปลี่ยนไปเป็นหน้าจอนาฬิกาหรือนับก้าวไป

บทสรุป

จากการลองใช้งาน Wellograph เองคงทำหน้าที่ในฐานะเครื่องนับก้าวได้ดีพอสมควร ปัญหาสำคัญของ Wellograph คงเป็นเรื่องของราคาที่ตอนนี้ขายอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นบาท ด้วยราคาขนาดขนาดนี้ฟีเจอร์สำคัญเทียบกับสมาร์ทวอชอื่นๆ ที่กำลังออกมาเต็มตลาดคงเป็นความสามารถกันน้ำ และอายุแบตเตอรี่ที่อยู่ได้หลายๆ วัน

จุดเด่น

  • กันน้ำ
  • อายุแบตเตอรี่นาน

จุดด้อย

  • ราคาแพง
Blognone Jobs Premium