รีวิว HP Stream 11 คู่แข่งของ Chromebook จาก HP และไมโครซอฟท์

by nrad6949
6 December 2014 - 17:49

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์กำลังวางแผนร่วมกับคู่ค้าของบริษัทในการที่จะสร้างโน้ตบุ๊กราคาถูกเพื่อเป็นการต่อกรกับคู่แข่งในตลาดอย่าง Chromebook ที่กำลังกินส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์พกพาราคาถูกของไมโครซอฟท์ไปอย่างรวดเร็ว และหนึ่งในผลงานนั้นคือโน้ตบุ๊กสาย Stream ที่ร่วมมือกับทาง HP ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่สหรัฐอเมริกา

ผ่านไปหลายเดือน ทาง HP ประเทศไทยได้ตัดสินใจเอาเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอย่างเป็นทางการ ด้วยราคาค่าตัวเริ่มต้นที่ 11,990 บาท สำหรับรุ่น 11 นิ้ว ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการเชื่อมต่อ 3G ได้ด้วย ซึ่งทาง HP ได้ส่งเครื่องให้กับ Blognone เพื่อรีวิว และนี่คือรีวิวครับ

ตัวเครื่องและสเปค

สเปคของ HP Stream 11

  • หน่วยประมวลผลกลาง Intel Celeron N2840 ทำงานที่ความถี่ 2.16 GHz
  • หน่วยความจำ 32 GB (eMMC), แรม 2 GB
  • หน้าจอขนาด 11.6 นิ้ว ที่ความละเอียด 1366x768 พิกเซล เป็นจอด้าน (Anti-Glare)
  • ระบบเสียง DTS Studio Sound พร้อมลำโพงคู่แบบสเตอริโอ
  • รองรับการเชื่อมต่อ 3G/Wi-Fi/Bluetooth
  • รองรับการ์ดหน่วยความจำ SD (ไม่ใช่ microSD)
  • รองรับการเชื่อมต่อ HDMI และ USB 3.0
  • มาพร้อมประกัน 1 ปี (ซื้อเพิ่มได้)
  • น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.2 กิโลกรัม
  • มาพร้อมกับ Windows 8.1 with Bing และ Office 365 Personal ฟรี 1 ปี

ในแง่สเปค HP Stream 11 ถือว่าเป็นสเปคพื้นฐาน ไว้สำหรับการใช้งานทั่วไป อย่างเช่นทำงานเอกสาร และดูหนังฟังเพลง มากกว่าที่จะเอาไปใช้ทำงานเฉพาะทางเป็นหลัก อีกทั้งด้วยแนวคิดที่ถูกวางเอาไว้ในฐานะเป็นอุปกรณ์ซึ่งอิงกับ cloud storage เป็นหลัก ทำให้หน่วยความจำหลักของเครื่องให้มาในระดับที่ "พอใช้ได้" มากกว่าที่จะเป็นโน้ตบุ๊กเครื่องหลัก (สเปคของ HP Stream 13 ก็จะคล้ายกัน แต่ปรับหน้าจอให้ใหญ่ขึ้น)

เรื่องของหน่วยความจำที่ให้มา 32 GB ทาง HP ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นเพราะแนวคิดของเครื่องที่ถูกสร้างให้เป็น "wireless machine" หรือเครื่องที่ทำงานโดยเน้นการเชื่อมต่อตลอดเวลากับอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเน้นไปที่ cloud storage ซึ่งทำให้หน่วยความจำในเครื่อง ได้มาเพียงเท่านี้ โดยระบุว่า พื้นที่ของหน่วยความจำที่เหลือให้ใช้จริง จะมีเพียง 16 GB โดยประมาณ ซึ่งที่ถูกใช้ไปประมาณครึ่งหนึ่ง แบ่งได้ดังนี้

  • ระบบปฏิบัติการ 7 GB (Windows 8.1 with Bing)
  • พาร์ทิชันของระบบ (ไม่ระบุว่าเป็นสำหรับการกู้คืนหรือไม่) อยู่ที่ 4 GB
  • แอพต่างๆ ที่แถมมากับตัวเครื่อง 5 GB

สำหรับตัวเครื่อง HP Stream 11 มาด้วยสีสันที่สดใส โดยรุ่นที่เอามาจำหน่ายในประเทศไทยจะมีสองสีหลัก คือ Orchid Magenta (สีชมพูเข้ม) และ Horzion Blue (สีฟ้า) ส่วน HP Stream 13 จะมาเฉพาะสีฟ้าเท่านั้น ซึ่งทุกรุ่นที่จำหน่ายในเมืองไทยจะมาพร้อมกับโมเดม 3G ในตัว ใช้ซิมการ์ดขนาดปกติเสียบทำงานได้ทันที เครื่องที่ได้รับมารีวิวเป็นสีฟ้า ซึ่งส่วนตัวแล้วชอบสีสันของเครื่องเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะแตกต่างจากโน้ตบุ๊กโดยทั่วไปแล้ว สีของเครื่องยังดูดี ไม่จัดจนเกินไป ส่วนพลาสติกของเครื่องถือว่าแน่นหนาดี ไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นพลาสติกก๊อบแก๊บ

ด้านใต้ของเครื่องที่มาเรียบๆ

ด้านซ้ายของเครื่องประกอบไปด้วย (ซ้ายไปขวา) ช่องสำหรับ Kensington Lock, ช่องสำหรับอแด็ปเตอร์ชาร์จไฟ, ไฟ LED แสดงสถานะการชาร์จ, ช่องใส่ซิม และช่องใส่การ์ด SD

ด้านขวามือของเครื่องประกอบไปด้วย (ซ้ายไปขวา) ช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน, พอร์ต USB 2.0, พอร์ต USB 3.0 และพอร์ต HDMI

สิ่งแรกที่ผมเห็นด้วยสายตาจากการเปิดเครื่องและชอบอย่างมาก คือแป้นพิมพ์และทัชแพดที่มีขนาดใหญ่มาก ไม่ต้องเกร็งมือเวลาพิมพ์แม้แต่น้อย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีอย่างมากๆ เพราะทุกวันนี้โน้ตบุ๊กเครื่องหลักที่ผมใช้ทำงานประจำ ให้ประสบการณ์ในการพิมพ์ที่ถือว่า "เข้าขั้นแย่"

การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

เรื่องของซอฟต์แวร์ Windows 8.1 with Bing คือรุ่นที่ไมโครซอฟท์แจกจ่ายให้กับผู้ผลิตเครื่องในราคาที่ต่ำมากๆ (ไม่แน่ใจว่าฟรีหรือไม่) โดยบังคับให้ผู้ผลิตไม่สามารถเปลี่ยนตัวค้นหาที่เป็นค่าเริ่มต้น (default) ของเครื่องได้ แต่ผู้ใช้เอามาเปลี่ยนเองได้อย่างอิสระในภายหลัง ทั้งนี้รุ่นที่ติดมาจะเป็นรุ่นที่รองรับ 64-bit ตั้งแต่แรกเริ่ม

เรื่องของหน่วยความจำที่ให้มาเพียง 32 GB นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดอันหนึ่งที่บังคับให้ผู้ใช้ต้องเรียกใช้งานข้อมูลผ่าน OneDrive ที่เป็น cloud storage ของทางไมโครซอฟท์แทบจะตลอดเวลา (หลักการคล้ายๆ กับ Chromebook) อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการใส่การ์ดหน่วยความจำ SD และการทำงานแบบออฟไลน์ที่ทำงานได้เต็มที่ กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ชดเชยข้อเสียในจุดนี้ไปได้พอสมควร

สำหรับประสิทธิภาพของเครื่อง ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้เด่นกว่า HP Pavillion X2 สักเท่าไหร่ กล่าวคือ เปิดเครื่องได้รวดเร็ว ใช้ทำงานปกติได้ดี แต่ถ้าเริ่มทำงานที่ต้องใช้ทรัพยากรเครื่องมากๆ เช่นการเปิดแท็บใน Internet Explorer ในจำนวนเยอะๆ ก็ช้าลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนสำหรับคนที่ใช้ Google Chrome อาจจะเป็นข่าวร้ายเสียหน่อยตรงที่เริ่มต้นทำงานค่อนข้างช้า (แต่ก็ไม่ได้ช้าจนน่าเกลียด) พอเล่นเกมธรรมดาๆ หรือเกมเก่าๆ บางเกมได้อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสเปคโดยรวมเอง และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ชิปหน่วยความจำประเภท eMMC ด้วย

ผมเคยมีโอกาสใช้ Acer C7 Chromebook มาก่อน ซึ่งก็ต้องตอบว่าประสบการณ์ด้านประสิทธิภาพนั้นคล้ายๆ กัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเรื่องของการทำงานแบบออฟไลน์ที่ Stream 11 ให้นั้น ถือว่าเหนือกว่ามาก (ตรงนี้เป็นจุดแข็งของระบบปฏิบัติการ Windows มาอย่างยาวนาน)

เรื่องของจอ ด้วยความที่เป็นจอด้าน (Anti-Glare) ทำให้มองสบายตาอย่างมาก ลืมเรื่องของการสะท้อนแสงทั้งหมดแบบที่จอกระจกมีไปได้เลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของการที่จอกลับไม่ "สู้แดด" กล่าวคือ ถ้าเอาไปใช้งานนอกสถานที่และมีแสงส่องมาโดยตรง หน้าจอก็แทบจะมองอะไรไม่เห็นเลย นอกจากนั้นแล้วหน้าจอยังเอียงได้ระดับหนึ่งเท่านั้นก็จะติด ซึ่งสร้างข้อจำกัดในบางเวลา อย่างเช่น ช่วงที่ผมยืน ก็จะไม่สามารถอ่านข้อความจากจอได้ถนัดอย่างที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ดีมากของโน้ตบุ๊กเครื่องนี้คือเรื่องของแป้นพิมพ์ ผมชอบโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ตรงที่แป้นพิมพ์นั้นพิมพ์ได้ดีมากจนเหลือเชื่อ (รีวิวนี้ก็พิมพ์บนเครื่อง Stream 11) แป้นให้สัมผัสที่ดีอย่างมากโดยไม่เมื่อยมือ การพิมพ์ต่อเนื่องนานๆ ไม่มีอาการเมื่อยล้ามือ และสำคัญที่สุดตรงที่ปุ่มทุกอันกดแล้วลึก ทำให้ความมั่นใจในการพิมพ์ด้วยเครื่องนั้นดีมากๆ นอกจากนั้นที่พักมือ (palm rest) ก็ไม่ยวบยาบ

ในทางตรงกันข้ามทัชแพดที่มีขนาดใหญ่ กลับทำงานได้ไม่ค่อยเสถียรในบางครั้ง กล่าวคือเวลาสั่งเลื่อนหน้าจอขึ้นลง (scroll) บางครั้งก็ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง คลิกแล้วไปบ้าง ไม่ไปบ้าง ซึ่งถ้าใช้ทำงานแบบปกติก็อาจจะไม่ได้หงุดหงิดมาก แต่ถ้าทำงานแบบจริงจัง การต่อเมาส์ข้างนอกใช้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า (และแน่นอนว่าสร้างความหงุดหงิดน้อยกว่า)

เรื่องของเสียงถือว่าดังมากและให้เสียงที่ดีมากๆ เกินราคาค่าตัวไปมากโขอยู่ทีเดียว ผมลองเทียบความดังเมื่อเทียบกับเครื่องปัจจุบันที่ผมใช้อยู่ ก็พบว่า HP Stream ถือว่าดังมาก

ส่วนที่ประทับใจอย่างสุดท้ายเห็นจะเป็นแบตเตอรี่ที่ทำงานได้ยาวนานมาก ผมไม่ได้ทดสอบและวัดระยะเวลาอย่างจริงจัง แต่ที่ใช้มาแบบปิดๆ เปิดๆ เครื่อง สามารถใช้งานได้ประมาณ 6 ชั่วโมงตามที่ HP บอกไว้ ซึ่งผมจับภาพหน้าจอเอาไว้ว่า แม้แบตเตอรี่จะเหลือเพียง 15% ระบบก็ยังแจ้งว่าทำงานได้ต่อนานถึง 45 นาทีด้วยกัน

สรุป

เท่าที่ได้ใช้งานเครื่องมา ก็ต้องยอมรับว่า HP Stream 11 ถือเป็นโน้ตบุ๊กที่ดีอันหนึ่งในย่านราคาที่ไม่ได้แพงมากจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของแป้นพิมพ์ที่ดีมาก เสียงที่ออกมาจากลำโพงของเครื่องซึ่งดังและชัด รวมถึงการทำงานโดยทั่วไปของเครื่องก็ถือว่าตอบสนองได้ดี โดยภาพรวมถือว่าสอบผ่านในจุดนี้ ส่วนเรื่องของระบบปฏิบัติการ ซึ่งสามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้อย่างเต็มที่ เป็นอีกจุดแข็งหนึ่งถ้าเทียบกับ Chromebook ซึ่งต้องการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม หน่วยความจำของเครื่องที่ถือว่าให้มาค่อนข้างน้อย (บังคับให้ผู้ใช้ต้องขึ้นไปใช้ cloud storage โดยปริยาย) ทัชแพดที่ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หน้าจอที่ไม่สู้แดด และประสิทธิภาพของเครื่องที่ไม่ได้ดีอะไรมากมาย ย่อมเป็นจุดอ่อนของ Stream 11 ตัวนี้ (แต่เรื่องของประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคาแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่พอให้อภัยได้)

ด้วยราคาจำหน่ายพร้อมโมเดม 3G ในตัวที่ 11,990 บาท ผมคิดว่าราคานี้มีความสมเหตุสมผลระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก สามารถทำหน้าที่เป็น hotspot ปล่อยสัญญาณไวไฟให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ คำถามสำคัญคือ ด้วยราคา 11,990 บาทนี้ ถือว่า "แพงเกินไปหรือไม่" ซึ่งถ้า HP นำรุ่นที่เป็น Wi-Fi อย่างเดียวเข้ามาจำหน่าย อาจจะกดราคาได้มากกว่านี้ และแน่นอนว่าย่อมทำตลาดได้ดีมากกว่านี้ด้วยเช่นกัน

โดยสรุปคือ หากคิดว่าจะซื้อโน้ตบุ๊กสักเครื่อง ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจาก Chromebook (เปิดอ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พิมพ์ข้อความในเอกสารง่ายๆ สั้นๆ และใช้งานดู YouTube ทั่วไป) HP Stream 11 เป็นโน้ตบุ๊กที่ถือว่าเหมาะสมอย่างมาก ซึ่งน่าจะเหมาะกับคนที่เป็นนักศึกษา หรือต้องการคอมพิวเตอร์ตัวที่สองในการพกพาหรือใช้ทำงานนอกบ้าน อย่างไรก็ตาม หากมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพ หรือมีข้อมูลมากๆ Stream 11 อาจจะไม่เหมาะกับตัวท่านครับ

ข้อดี

  • แป้นพิมพ์ดีมากในระดับราคาของโน้ตบุ๊กที่ใกล้เคียงกัน
  • เสียงลำโพงดังและชัดเจน
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน

ข้อเสีย

  • ประสิทธิภาพกลางๆ เวลาทำงานหนักๆ บางครั้งก็ช้า
  • ทัชแพดที่ทำงานแบบครึ่งๆ กลางๆ
  • หน้าจอที่ไม่สู้แดด
Blognone Jobs Premium