รีวิว Kindle Voyage เครื่องอ่านอีบุ๊กรุ่นล่าสุดพร้อมหน้าจอความละเอียดสูง

by tekkasit
12 December 2014 - 16:53

หลังจากอเมซอนวางจำหน่ายเจ้า Kindle Voyage มาพักหนึ่ง เพื่อนผมคนเดิมก็ซื้อ Kindle Voyage มาเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมก็ขออนุญาตหยิบยืมมาลองใช้เป็นเวลาหนึ่งคืน ผมก็เลยได้โอกาสจับของจริงมาทดสอบการใช้งานและพร้อมกับแชร์ให้เพื่อนๆให้ได้รับทราบกัน

ตัว Kindle ที่เพื่อนผมสั่งมาเป็น Kindle Voyage รุ่น Wi-Fi only พร้อมโฆษณาราคา 199 เหรียญสหรัฐนะครับ ประกอบกับผมมี Kindle Paperwhite รุ่นแรกอยู่ ดังนั้นในการรีวิวการใช้งานเจ้า Kindle Voyage ผมอาจจะเปรียบเทียบกับ Kindle Paperwhite รุ่นแรกบ่อยหน่อยนะครับ เผื่อใครจะได้เห็นภาพมากขึ้น (จะได้หลวมตัวบ้าง)

หมายเหตุ: รุ่นที่ผมทดสอบคือรุ่น Wi-Fi เฟิร์มแวร์รุ่น 5.6.1 (2531760037) แบบมีโฆษณา (with special offers)

ฮาร์ดแวร์

  • หน้าจอ E Ink รุ่น Carta ขนาด 6 นิ้ว แสดงผลความละเอียด 1448 x 1072 ที่ 300 dpi แสดงภาพแบบ grey scale ได้ 16 ระดับ พร้อมแสงในตัว (front light) และระบบสัมผัสแบบ capacitive
  • มีเซนเซอร์แม่เหล็กรองรับปกที่ช่วยเปิดปิดเครื่องอัตโนมัติ (auto sleep/wake)
  • กว้าง 11.5 ซม. ยาว 16.2 ซม. และหนา 0.76 ซม.
  • หนัก 180 กรัม สำหรับรุ่น Wi-Fi อย่างเดียว และ 188 กรัม สำหรับรุ่น Wi-Fi กับ 3G
  • หน่วยความจำบนเครื่อง 4 GB เหลือให้ใช้งานได้จริงประมาณ 3GB
  • สนับสนุน Wi-Fi ทั้ง a/b/g/n และรองรับมาตรฐานความปลอดภัยทั้ง WEP WPA WPA2 และ WPS
  • ซีพียู Cortex A9 หนึ่งแกน รันที่ความเร็วสูงสุด 1GHz และแรม LPDDR2 512 MB
  • แบตเตอรี่แบบเปลี่ยนไม่ได้ 3.8V ความจุ 1320 mAh (5.01Wh)

Kindle Voyage มีด้านหน้าที่สะดุดตา เพราะมีด้านหน้าที่แบนราบเสมอกันเป็นกระจกชิ้นเดียวตั้งแต่จอภาพไปถึงขอบเครื่องคล้ายกับสมาร์ทโฟนปัจจุบัน ไม่เหมือนคินเดิลรุ่นก่อนหน้าตัวจอกับกรอบจะแยกชิ้นกันซึ่งจะมีรอยต่อให้ฝุ่นผงไปสะสมไว้ได้ กระจกหน้าพื้นผิวเรียบลื่นเวลาลูบ ซึ่งจะต่างจาก Paperwhite ที่จะเวลาลูบจะรู้สึกสากที่ปลายนิ้วเล็กน้อยคล้ายกระดาษ ส่วนแถบขาวที่เห็นเป็นจุดและเส้นสีขาวทั้งด้านซ้ายและขวาจอภาพเป็นเซนเซอร์รับแรงกด PagePress เพื่อช่วยในการพลิกหน้าหนังสือ จะพูดถึงรายละเอียดฟีเจอร์นี้ในภายหลัง

จอภาพ เป็นจอสัมผัสแบบ capacitive โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเซนเซอร์ละเอียดขึ้น เพราะจากประสบการณ์รู้สึกว่ามีปัญหาเวลาจิ้มคำศัพท์บน Paperwhite บางครั้งไม่ค่อยตรงคำหรือไม่ค่อยตรงบรรทัด ทำให้ต้องตั้งใจเล็งเป็นพิเศษ แต่ระหว่างการทดสอบก็ไม่เคยเจอปัญหานี้บน Kindle Voyage

ส่วนฟีเจอร์หน้าจอลดแสงสะท้อนโดยการกัดพื้นผิวขนาดเล็กไว้ (micro-etching) ที่โฆษณาว่าจะช่วยลดแสงสะท้อนลง ทำให้อ่านหนังสือง่ายขึ้น แต่ก็ในการทดสอบเบื้องต้นโดยใช้แสงไฟภายในห้อง ก็ไม่รู้สึกว่าแตกต่างและช่วยอะไรได้มากนัก สู้ขยับตัวเปลี่ยนมุมมองไม่ให้ย้อนแสง ได้ผลกว่าเยอะ

ด้านข้างเครื่องเรียบ ไม่มีปุ่มอะไรทั้งสิ้น

ด้านล่างมีเพียงไฟ LED แสดงสถานะการชาร์จและช่องต่อ micro USB เท่านั้น

ด้านหลัง Kindle Voyage เรียกว่าคล้ายกับเครื่องตระกูล Fire มาก กรอบหลังเครื่องเป็นแมกนีเซียมเพื่อให้น้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรง ผิวสัมผัสคล้ายยางกันลื่นไม่ทิ้งรอยนิ้วมือ ด้านบนเป็นพลาสติกมันเงาสีดำที่ดูดรอยนิ้วมือมาก ปุ่มเปิดปิดเครื่องถูกย้ายมาอยู่หลังเครื่องด้านซ้าย เวลาใช้งานจะสามารถกดได้ด้วยนิ้วชี้มือขวา ซึ่งเวลาใช้งานจริงชอบมากเพราะกดง่ายขึ้นเยอะ แทนที่ต้องไปควานหาปุ่มเปิดปิดเล็กๆ ท้ายเครื่องหรือไม่ก็พึ่งบริการปกแม่เหล็ก ที่ริมเครื่องทำลาดไว้เล็กน้อยทำให้ดูโฉบเฉี่ยวหยิบจับใช้งานไม่รู้สึกว่าหนา

ในแง่น้ำหนัก เครื่อง Kindle Voyage เบากว่า Paperwhite เล็กน้อย (น้ำหนักลดลงประมาณ 15% คือ 180-188 กรัม เมื่อเทียบกับ Paperwhite ที่ 213-221 กรัม) ส่วนเรื่องขนาดโดยรวมเรียกว่าสั้นลงกว่า Paperwhite เล็กน้อย โดยรวมๆแล้วแม้ว่าในแง่ขนาดและน้ำหนักถือว่าพัฒนาดีขึ้น แต่ในสำหรับผู้ใช้งาน Kindle Paperwhite เดิมก็ไม่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้ามีการใช้ปกร่วมด้วย น้ำหนักที่แตกต่างเพียงสามสิบกรัมก็ไม่ได้มีความสำคัญนัก อย่างไรก็ตาม Kindle Voyage ก็ยังคงพกพาได้สะดวกและสามารถถืออ่านมือเดียวได้เป็นเวลานาน

หน้าจอ

ถ้าเปรียบเทียบพัฒนาเรื่องหน้าจอ Kindle Voyage กับ Paperwhite รุ่นแรก พบว่ามีความแตกต่างที่เห็นได้คือ contrast เพิ่มขึ้น เพราะเปลี่ยนมาใช้จอ Carta (เช่นเดียวกับ Paperwhite รุ่นที่สอง) แต่โดยส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เอามาวางคู่กัน อาจจะไม่รู้สึกว่าพัฒนาการเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเอามาวางเทียบกัน จะรู้สึกได้ว่าพื้นที่สีขาว Kindle Voyage ขาวกว่าเล็กน้อย ส่วน Paperwhite จะดูอมเขียว ส่วนสีดำ Kindle Voyage ดำกว่า ด้านล่างเป็นภาพที่เอามาเปิดวางคู่กัน

จุดเด่นอีกจุดของ Kindle Voyage คือใช้หน้าจอที่มีความละเอียดสูงขึ้นจาก 758x1024 มาเป็น 1072x1448 (จาก 212 dpi มาเป็น 300 dpi) ทำให้สามารถแสดงผลได้คมชัดขึ้น

เนื่องจากผมไม่มีอุปกรณ์เฉพาะ ผมจึงขออนุญาตถ่ายทอดถึงความละเอียดที่สูงขึ้นโดยการถ่ายภาพหน้าจอ Kindle Voyage กับ Paperwhite ที่วางคู่กันแล้วเปิดใช้ฟอนต์เดียวกันขนาดใหญ่สุด

ส่วนถัดไปเป็นภาพที่ crop 100% ภาพด้านบน

จะเห็นได้ชัดว่าตัวหนังสือบน Kindle Voyage แสดงได้คมชัดกว่า Paperwhite มาก

แต่จากการใช้งาน รู้สึกว่าหน้าจอความละเอียดสูงขึ้นอาจจะมีประโยชน์ในการดูรูปประกอบหรือแผนที่ในหนังสือเสียมากกว่า เพราะแม้ว่าความละเอียดจะสูงขึ้นแต่จำนวนตัวหนังสือต่อบรรทัดและต่อหน้าก็ยังเท่าเดิม เพียงแต่ตัวหนังสือจะละเอียดคมชัดขึ้น ถ้าเอามาเปิดอ่านอีบุ๊คเพียงอย่างเดียวและอาศัยดูความละเอียดอย่างเดียวก็ยากที่จะบอกความแตกต่าง คือสำหรับผม Paperwhite มันก็ละเอียดพอสำหรับอ่านอีบุ๊คแล้ว แต่ถ้าชอบอ่านข้อความมากๆ ในหน้าเดียวและยังมีสายตาที่ยังดี ก็สามารถใช้ฟอนต์ขนาดเล็กสุดบวกฟีเจอร์เปิดคำศัพท์ (WordWise) ตัวหนังสือทุกตัวก็ยังคมชัดอยู่ ส่วนภาพด้านล่างเป็นภาพของ Kindle Voyage และ Paperwhite ที่แสดงฟอนต์ขนาดเล็กสุด

โดยส่วนตัวคิดว่าปัญหาอยู่ตรงที่ขนาดหน้าจอเพียง 6 นิ้ว ต่อให้ตัวอักษรคมชัดขึ้น แต่สำหรับคนทั่วไปถ้าไม่ใช่คนช่างสังเกตหรือไม่เอามาวางคู่กันก็อาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง และตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกอยากได้หน้าจอที่ใหญ่ขึ้นมากกว่า

ฟีเจอร์ front light

ตัว Kindle Voyage เองก็มาพร้อมกับไฟในตัว (front light) ซึ่งในครั้งนี้ก็พัฒนาได้ดีขึ้น แต่เดิมที่เคยใช้ Paperwhite เวลาอ่านในห้องนอนบางครั้งรู้สึกว่าความสว่างแต่ละขีดแรกๆ มันยังหยาบไป หลายครั้งรู้สึกอยากให้แสงมันกำลังพอดีไม่แยงตาแต่ยังสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ ปกติผมเวลาอ่าน Paperwhite ในห้องนอนจะใช้ระดับ 3 แต่พอมาเทียบกับ Kindle Voyage จะอยู่ที่ระดับ 6 ถึง 7

ภาพด้านบนเป็นภาพที่เปิดแสงต่ำสุดทั้งคู่ที่ถ่ายในห้องมืด เพื่อแสดงให้เห็นว่า Kindle Voyage นั้นมืดกว่า Paperwhite มาก ส่วนที่เห็นในภาพถ่ายจะดูเหมือน Paperwhite จะสว่าง แต่สำหรับตาเปล่า ผมก็แค่เห็นตัวหนังสือเป็นก้อนๆ อ่านไม่ออกแล้วนะครับ ส่วน Kindle Voyage นี่แค่เห็นแสงจอลางๆ เลยครับ

ภาพด้านบนเป็นภาพที่เปิดแสงสูงสุดทั้งคู่ จะเห็นว่า Kindle Voyage แสงออกขาวอมน้ำเงินและสว่างจ้ากว่า Paperwhite มาก

ผมรู้สึกว่าคินเดิลได้ปรับปรุงความสว่างของ front light ได้กว้างขึ้นและละเอียดขึ้น ความสว่างต่ำสุดจะทำได้มืดกว่า แต่ถ้าให้สว่างสุดก็สว่างกว่ามาก รวมถึงรู้สึกว่าอุณหภูมิแสง front light ของ Kindle Voyage จะสูงกว่า Paperwhite อีกด้วย อีกทั้งปรับปรุงในแง่ความสม่ำเสมอของแสงให้สว่างทั่วจอภาพ ด้วยตาเปล่าไม่พบว่ามีเงามืดบริเวณสี่ห้าบรรทัดสุดท้ายด้านล่างจอภาพอย่างที่เคยเจอใน Paperwhite แล้ว

สำหรับ Kindle Voyage มาพร้อมกับเซนเซอร์วัดแสงซึ่งจะใช้ปรับความสว่าง front light ได้อัตโนมัติ (Auto Brightness) ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยชอบเท่าไรตรงที่ไม่ยืดหยุ่น เมื่อเลือก Auto Brightness แล้วก็ต้องปล่อยให้เครื่องปรับความสว่างให้อัตโนมัติตามอำเภอใจของมัน ไม่สามารถปรับแต่งตามความชอบใจของผู้ใช้งาน รวมทั้งเมื่อออกแดดก็เร่งแสง front light ให้สว่างสุด ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าเปล่าประโยชน์ คือรู้สึกว่าถ้ามีแสงสว่างเพียงพอแก่การอ่านแล้วก็อยากให้มันปิดแสงไปเลยมากกว่า แทนที่จะไปเร่งแสงสว่างสูงๆ ให้พื้นหลังขาวโอโม่ แต่สิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์

PagePress

จุดขายอย่างหนึ่งของ Kindle Voyage คือ PagePress ที่เป็นเซนเซอร์รับแรงกดที่อยู่สองด้านของหน้าจอ ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องยกมือไปปัดหน้าจอเพื่อเปลี่ยนหน้า ตัวเซนเซอร์ไม่ได้ไวต่อการสัมผัส เวลาอ่านสามารถพักนิ้วหัวแม่มือไว้ได้บนเซนเซอร์โดยไม่เปลี่ยนหน้าเอง ถ้าต้องการจะเปลี่ยนหน้าก็แค่ออกแรง ”กด” เพียงเล็กน้อยก็พอครับ ตัวคินเดิลจะมีระบบสั่นเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบว่าได้กดเพื่อเปลี่ยนหน้าแล้ว ซึ่งตรงนี้สามารถปรับแต่งได้ว่าจะให้ต้องกดแรงมากหรือน้อย (แต่ต่อให้อยู่ระดับสูงสุดก็อยู่ในเกณฑ์กดเบาๆ ครับ) และจะให้สั่นตอบแรงแค่ไหนหรือไม่สั่นเลย

โดยส่วนตัวก็ชอบครับเพราะถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับคนที่จะอ่านหนังสือแบบดื่มด่ำเพื่อไม่ต้องขยับมือที่ถือคินเดิลอยู่มาพลิกหน้า แต่ที่รู้สึกขัดใจคือ ตามสามัญสำนึกของคนปกติก็น่าจะคาดว่า การกดเซนเซอร์ด้านซ้ายจะพลิกย้อนและการกดด้านขวาจะพลิกไปหน้าต่อไป แต่ในความจริงเซนเซอร์แถบยาวทั้งสองด้านจะพลิกหน้าไปข้างหน้าทั้งคู่ แต่ถ้าต้องการจะพลิกย้อน จะต้องเอื้อมไปกดเซนเซอร์วงกลมขนาดเล็กที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งไม่ค่อยเวิร์กเท่าไรและหวังลึกๆ ว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ปรับได้ในอนาคต

การตอบสนอง (Response Time)

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนในเรื่องประสบการณ์การอ่าน คือการตอบสนองที่ดูทันใจขึ้นมาก คือแม้ว่าจะยังไม่ได้ถึงขั้น “ติดนิ้ว” เหมือนอย่างสมาร์ทโฟน แต่เพราะการอัพเกรดแรมและซีพียู ทำให้การพลิกหน้า การกดเมนู กดศัพท์ เรียกได้ว่าเร็วขึ้นมาก จากเดิมใน Paperwhite อาจจะต้องรอเกือบวินาทีกว่าที่หน้าจอคำอธิบายศัพท์จะแสดงผล

ผมมีวิดีโอถ่ายแบบสโลว์โมชันแบบบ้านๆ เปรียบเทียบให้เห็นการตอบสนองต่อการพลิกหน้าของ Kindle Voyage เปรียบเทียบกับ Paperwhite ในการอ่านหนังสืออีบุ๊คทั่วไป แม้ว่าอาจจะไม่เห็นเด่นชัดเท่ากับในโหมด PDF Viewer แต่อย่างน้อยน่าจะพอให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่ามันเร็วช้าต่างกันขนาดไหน

WordWise

เป็นฟีเจอร์แสนรู้สำหรับผู้ที่ไม่อยากเปิดหาความหมายคำศัพท์ โดยคินเดิลจะแสดงความหมายคำศัพท์แทรกในหนังสือเลย แต่ช้าก่อน ไม่ใช่ว่าคุณมี Kindle Voyage แล้วจะใช้งาน WordWise ได้ทันที หนังสือปกที่คุณกำลังอ่านอยู่ต้องสนับสนุนฟีเจอร์ด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเพียงหนังสือเกือบแสนปกที่รองรับฟีเจอร์นี้จากจำนวนที่เลือกได้ในไทยกว่าสามล้านปก

โดยเมื่อเปิดให้แสดง WordWise ระบบจะเพิ่มระยะระหว่างบรรทัดของหนังสือทั้งหน้าและแทรกคำอธิบายคำศัพท์สั้นๆ ไว้เหนือคำศัพท์ ทำให้สะดวกในการหาความหมาย ไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาความหมายคำศัพท์ด้วยมือทีละคำ ซึ่งจะเลือกได้ว่าจะแสดงมากหรือน้อยได้ถึง 5 ระดับ

ฟีเจอร์นี้อาจจะเหมาะกับคนที่กำลังฝึกการอ่านจะได้สามารถอ่านได้ต่อเนื่องไม่สะดุดและได้ความหมายที่แสดงน่าจะตรงเจตนาในบริบทหนังสือ

แต่โดยส่วนตัวพบว่ายังไม่ประทับใจเท่าไร มันมีจุดอ่อนเรื่องมาตรฐานในเลือกคำที่จะขึ้นความหมาย จะพบว่าระดับความความยากของศัพท์ที่แสดงความหมายก็ไม่แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับแต่หนังสือแต่ละปก บางครั้งคำที่ดูง่ายก็ยังอุตส่าห์โผล่มา สำหรับสำหรับคนที่มีฐานศัพท์พอสมควรแล้ว อาจจะรู้สึกเสียดายระยะห่างระหว่างบรรทัดที่เสียไปมากกว่า เลือกที่จะปิดแล้วติดคำไหนค่อยจิ้มเปิดความหมายเอาน่าจะสนุกกว่า รวมถึงอาจจะได้ความรู้เพิ่มเติมในการอ่านพจนานุกรมมากกว่า เช่น ความหมายในกรณีอื่น หรือ รากศัพท์ เป็นต้น

Household and Family Library

ฟีเจอร์นี้จะสามารถให้เราสามารถใช้หลายบัญชีบนเครื่องคินเดิลได้พร้อมๆ กันครับ สมมติว่าถ้าเราแต่งงาน เราสามารถเพิ่มบัญชีอเมซอนของแฟนในเครื่อง แล้วเราก็สามารถโหลดหนังสือที่แฟนของเราซื้อไว้ลงมาในเครื่องได้เลย

ด้วยความประมาทเลยไม่ได้ลองฟีเจอร์นี้ครับ ผมพยายามเพิ่มบัญชีที่อยู่คนละประเทศเข้าไปในเครื่อง ระบบกลับปฏิเสธโดยแจ้งว่าบัญชีที่จะเพิ่มเข้ามาจะต้องใช้บัญชีที่อยู่ประเทศเดียวกัน (Country of residence) และต้องอยู่ในตลาด (Preferred Marketplace) เดียวกันเท่านั้น เนื่องจากผมยืมมาด้วยเวลาจำกัดอีกทั้งมันก็ดึกมากแล้ว จึงไม่สามารถหาเหยื่อบัญชีที่จะมาทดสอบฟีเจอร์นี้ได้ครับ เลยขออนุญาตข้ามไปนะครับ

ภาษาไทย

เหมือนกับ Paperwhite ครับ คือแค่แสดงภาษาไทยได้ทำตัวเอียงได้ แต่ทำตัวหนาไม่ได้ ยังตัดคำไม่ได้ รวมถึงการจัดตำแหน่งสระยังไม่เป๊ะ รวมถึงแม้จะเปลี่ยนฟอนต์แล้วตัวอักษรไทยยังแสดงด้วยฟอนต์เดิม

PDF Viewer

สำหรับคนที่อยากจะเอาเครื่องนี้มาใช้อ่าน PDF ก็คงบอกได้ว่า ทำได้น่าประทับใจกว่าเดิมเยอะ สำหรับฟีเจอร์ที่มีเหมือนกับรุ่นก่อนๆ ก็ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรองรับสารบัญ (Table of Content) และลิงก์ภายในเอกสาร สามารถปรับความเข้ม (contrast) ให้ตัวหนังสือเข้มเพื่ออ่านได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งใน Kindle Voyage มีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การอ่าน PDF ทำได้ดีขึ้น ตั้งแต่สามารถซูมเนื้อหาให้พอดีกับหน้าจอมากขึ้นเหลือขอบน้อยลง อีกทั้งขณะเวลาซูม (pinch-zoom) จะมี thumbnail view ให้ดูที่มุมซ้ายบนหน้าจอ เพื่อให้ทราบว่ากำลังซูมอยู่ตรงไหนในเอกสารทั้งหน้า จะได้ไม่หลงทาง อีกทั้งเมื่อซูมเสร็จแล้วก็สามารถลากเพื่อแพนหน้าจอได้ แม้จะไม่ได้ถึงขนาดติดนิ้วแต่ก็สามารถทำได้โดยไม่หน่วงมากเหมือนใน Paperwhite

ที่สำคัญ ด้วยหน้าจอที่ละเอียดและคมชัดขึ้น ทำให้การอ่านเท็กซ์บุ๊คปกติ เรียกได้ว่า "เอาอยู่" ครับ

ในการทดสอบ ผมสามารถพลิกอ่านเท็กซ์บุ๊ค (Thinking in Java 4th Edition) หรือวารสาร (ฉลาดซื้อเล่ม 139) ก็สามารถพลิกหน้าต่อเนื่องได้เป็นร้อยหน้าไม่มีปัญหา อีกทั้งด้วยซีพียูที่เร็วกว่าเดิมและแรมที่มากขึ้นทำให้ Kindle Voyage ตอบสนองได้เร็วขึ้น สามารถแสดงผลหน้าที่มีรูปภาพหรือกราฟิกเยอะๆ อย่างในวารสารได้เร็วกว่า Paperwhite มาก

ผมมีวิดิโอถ่ายแบบสโลว์โมชันแบบบ้านๆ เปรียบเทียบให้เห็นการตอบสนองต่อการพลิกหน้าของ Kindle Voyage เปรียบเทียบกับ Paperwhite ทั้งการอ่าน PDF อาจจะต้องขออภัยล่วงหน้าในเรื่องคุณภาพและความไม่พร้อมกันในการกดเปลี่ยนหน้า แต่อย่างน้อยน่าจะพอให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่ามันเร็วช้าหรือหนืดต่างกันขนาดไหน

โดยความเห็นส่วนตัว แม้ว่า Kindle Voyage จะพัฒนาขึ้นในแง่การอ่าน PDF แต่ในความเป็นจริง ก็ขอให้มองว่าฟีเจอร์การอ่าน PDF บน Kindle Voyage ถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่หากต้องการจะอ่านเอกสาร PDF อย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็ยังยืนยันว่าแนะนำให้หาอุปกรณ์ Android tablet ขนาด 6-7 นิ้ว หรือ iPad Mini 2 ที่หน้าจอละเอียดอย่างน้อย 1440 จุดขึ้นไปจะให้ประสบการณ์การอ่าน PDF ที่ลื่นไหลกว่ามาก

รูปภาพและการ์ตูน

ก็ยังบอกได้ว่าเหมือนเดิมคือไม่เหมาะสม กล่าวคือไม่รองรับ CBZ (ไม่ลิสต์ขึ้นมา ใช้งานไม่ได้เลย) และแม้ Kindle Voyage รองรับการดูรูปภาพได้ แต่ฟีเจอร์การดูรูปภาพยังอยู่ในระดับอนุบาล ไม่มีการพัฒนาขึ้น (ดูรูปได้ภายใต้โฟลเดอร์ images เท่านั้น และสามารถวางโฟลเดอร์ได้ลึกอีกแค่ชั้นเดียว เป็นชื่อ album ภายในใส่รูป) และที่สำคัญคือยังไม่จำลำดับรูปที่เปิดในแต่ละ album

ถ้ามีความพยายามสักหน่อยก็สามารถไปต่อได้โดยต้องแปลง CBZ ให้เป็นไฟล์ Kindle Format 8 (AZW3) หรือ PDF ก่อนจึงจะใช้งานได้บนเครื่อง Kindle Voyage นี้

แต่หากต้องการจะอ่านอย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็ยังยืนยันว่าแนะนำให้หาอุปกรณ์ Android tablet ขนาด 6-7 นิ้ว หรือ iPad Mini 2 ที่หน้าจอละเอียดอย่างน้อย 1440 จุดขึ้นไปและโหลดแอพที่รองรับไฟล์เฉพาะจะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่ามาก

สิ่งละอันพันละน้อย

  • อเมซอนระงับการสนับสนุน Active Content บนเครื่องคินเดิลรุ่นใหม่ ทั้ง Kindle รุ่น 7 (ตัวถูกสุดที่ไม่มี front light) และ Kindle Voyage ดังนั้นใครที่เคยซื้อแอพหรือเกมไว้ จะไม่สามารถรันได้บน Kindle Voyage นะครับ

สรุป

โดยรวมแล้ว Kindle Voyage ก็ถือเป็นพัฒนาการต่อเนื่องในเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ตระกูลคินเดิล ซึ่งมีทั้ง รูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวทันสมัย หน้าจอที่ละเอียดคมชัด แสง front light ที่สว่าง การทำงานฉับไว นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการเสาะแสวงหา Rolls-Royce ของบรรดาเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งปวงมาไว้ในครอบครอง

อุปสรรคสำคัญคือเรื่องราคา ด้วยสนนราคาต่ำสุดอยู่ที่ 199 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,400 บาท) เมื่อเทียบกับ Paperwhite รุ่นสองที่ยังจำหน่ายในราคาเพียง 119 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,900 บาท) ทำให้การซื้อ Kindle Voyage อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าเท่าไรนักเมื่อเทียบกับฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมา

แต่ถ้าใครเป็นแฟนอุปกรณ์ตระกูลคินเดิล มีเครื่องรุ่นก่อน Paperwhite ลงไป และอยากจะอัพเกรดเครื่อง การเลือกซื้อ Kindle Voyage ก็น่าจะไม่ทำให้คุณผิดหวังด้วยประการทั้งปวง

Blognone Jobs Premium