ลองจับ Sony Alpha A7II: กล้องใจกว้าง กันสั่นให้ทุกเลนส์

by Hexsense
16 December 2014 - 07:52

ไม่นานมานี้ Sony ได้เปิดตัวกล้อง Sony Alpha A7II (ต่อไปจะเรียกย่อโดยตัดคำว่า Alpha ออก) ซึ่งเป็นกล้อง full-frame mirrorless รุ่นที่ 4 ของ Sony ถัดมาจาก Sony A7, A7R, A7S โดย 3 รุ่นก่อนหน้า เป็นกล้องที่เน้นจับตลาดเฉพาะกลุ่มแตกต่างกันไป ทั้ง A7 ราคาย่อมเยา, A7R ความละเอียดสูง, A7S ความไวแสงสูงและถ่ายวิดีโอ 4K โดย A7II มีจุดเด่นต่างจากรุ่นพี่ทั้ง 3 คือ มีระบบกันสั่น 5 แกนบนเซ็นเซอร์รับภาพ

ผมได้สั่งจอง A7II ล่วงหน้าไว้เพื่อนำมาใช้แทนกล้อง SLR ตัวเก่า จึงมีโอกาสนำมาเขียนพรีวิวสั้นๆ ก่อนที่กล้องตัวนี้จะเข้ามาวางจำหน่ายในเมืองไทยครับ

คุณสมบัติทางเทคนิก (ข่าวเก่า)

สัมผัส

หนักกว่า Sony NEX-5N ของเพื่อน(กล้องทางขวาในภาพ) แต่เบากว่า Canon EOS 5D Mark II ที่ผมใช้อยู่เป็นประจำอย่างชัดเจน บอดี้แน่นมาก ตัวกล้องหนากว่า A7 รุ่นก่อนหน้าทั้ง 3 รุ่นเล็กน้อย ตัวกริปรู้สึกกระชับมือดีแม้นิ้วก้อยจะเกือบล้นกริป เมาท์ใส่เลนส์ปรับปรุงมาแน่นหนาขึ้นเหมือนตั้งใจให้รองรับเลนส์หนักๆ โดยเฉพาะ

ช่องมองภาพ

ไม่ใหญ่เท่า Fuji X-T1 แต่ใหญ่เท่าๆ กับ 5DII ภาพเคลียร์ชัดดี สภาพแสงและสีที่เห็นในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ให้ภาพเกือบเหมือนกับภาพที่จะได้เมื่อกดถ่ายจริงๆ ทำให้ไม่ต้องเดาค่าแสงเหมือน SLR ทั่วไป เมื่อรวมกับฟีเจอร์ focus peaking แล้วทำให้หมุนโฟกัสด้วยมืออย่างแม่นยำได้สะดวกมาก

แบตเตอรี่

แม้กริปจะใหญ่ขึ้นแต่ยังใช้แบตเตอรี่รุ่นเดียวกับ Sony NEX และ Alpha ขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดเล็กและจุเพียง 1,000 mAh เทียบกับ 1,800 mAh ของ 5DII บวกกับความเป็น mirrorless ทำให้แบตเตอรี่ 1 ก้อนอยู่ได้ไม่นานนัก ผู้ใช้งานควรมีแบตเตอรี่สำรอง

ช่องใส่การ์ด

มีช่องเดียว สามารถใส่ Memory Stick Pro Duo หรือ SD card ก็ได้ (ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยเลือกใช้ SD card)

ปุ่มควบคุม

Sony A7II มีปุ่ม custom function ให้ใช้ทั้งหมด 4 ปุ่ม (C1 ถึง C4) โดยแทบทุกปุ่มบนกล้อง (ไม่ใช่เฉพาะปุ่ม custom function) สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับความถนัดและการใช้งานของแต่ละคนได้ ปุ่มชัตเตอร์เลื่อนไปอยู่บนกริป วงหมุนด้านหลังอยู่ลึกขึ้น โดยรวมแล้วการควบคุมพอใช้ได้ครับ

ระบบกันสั่น

ไฮไลต์ของกล้องตัวนี้ ที่ทำให้ผมอัพเกรดจาก 5DII มาใช้ นั่นคือ ระบบกันสั่น 5 แกนภายในตัวกล้อง ซึ่ง Sony พัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ใช้ของ Olympus โดยมีเว็บไซต์รายหนึ่งเผยข้อมูลวงในจากวิศวกรของ Sony ไว้ว่า กันสั่นของ Olympus มีการใช้กลไกขดลวดและสปริง ซึ่งมีเสียงดัง เสื่อมสภาพได้ง่าย และไม่มีแรงมากพอที่จะขยับเซ็นเซอร์และฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ได้ (อ่านเพิ่มเติม)

กันสั่นทั้ง 5 แกนของ Sony A7II ประกอบด้วย Pitch, Yaw, Roll, X, Y โดยที่

  • Roll สามารถทำงานได้เสมอ (กันสั่นในเลนส์ ชดเชยการสั่นในแนวนี้ไม่ได้)
  • Pitch และ Yaw ต้องการข้อมูลทางยาวโฟกัสของเลนส์ เป็น 2 แกนที่ปกติแล้วเลนส์ที่มีกันสั่นแก้ให้
  • X,Y ทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลทางยาวโฟกัสและระยะโฟกัสจากเลนส์ เท่าที่ทราบกันสั่นในเลนส์ที่แก้ระนาบนี้ได้มีเพียง Canon Hybrid IS ในเลนส์ Canon EF 100 F2.8L เท่านั้น

ถ้าเลนส์มีกันสั่น 2 แกนและส่งข้อมูลให้กล้องอย่างเพียงพอ กล้องจะเปิดกันสั่น 3 แกนที่เหลือ โดยใช้อีก 2 แกนจากในเลนส์ ซึ่งให้ผลดีกว่าเปิดทั้ง 5 แกนจากในกล้องอย่างเดียว

หากเลนส์และอแดปเตอร์ไม่ส่งข้อมูลทางยาวโฟกัสให้ เราสามารถป้อนเลขทางยาวโฟกัสให้ระบบกันสั่นแบบ manual ก็ได้ แต่สำหรับคนที่ใช้เลนส์ Canon EF อย่างผม เมนูนี้ไม่ได้ใช้ครับ เพราะเลนส์ Canon บนกล้อง Sony (ทดสอบกับ Canon 16-35 F2.8L II, 85 F1.8, 135 F2) ผ่านอแดปเตอร์จีนราคาประหยัดแต่ออโต้โฟกัสได้สามารถบอกทางยาวโฟกัสกับกล้องเองได้ทุกตัว จึงได้ใช้งานระบบกันสั่นโดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องตั้งค่า
หากเลนส์ที่นำมาใส่ เป็นเลนส์สำหรับเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่า full-frame Sony A7II ก็มีบริการครอปภาพให้

ทดสอบ SteadyShot

ลองความสามารถของระบบกันสั่น โดยใช้เลนส์เดียวกัน ทดสอบบน 5DII และ Sony A7II ด้วยค่าแสงเดียวกัน ถ่าย raw แล้ว export ผ่าน Adobe Photoshop Lightroom ทันที โดยไม่ได้ปรับแต่ง

ใช้สปีด 1 วินาที บนเลนส์มุมกว้าง แม้ไม่นิ่งสนิท แต่บน A7II ก็สั่นไหวน้อยกว่า 5DII มาก

ทดสอบบน 85mm เลนส์ prime ไวแสง เมื่อมีกันสั่นยิ่งทำให้สามารถถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีขึ้นไปอีก ภาพนี้ข้อสังเกตคือ แม้ว่าจะใช้ค่าแสงเท่ากัน แต่ A7II กลับให้ภาพที่สว่างกว่าอย่างเห็นได้ชัด

นอกจาก Sony A7II จะซัพพอร์ตเลนส์ E mount จากผู้ผลิตรายใดก็ตามแล้ว ด้วยความที่ E mount ซึ่งเป็นเมาท์ที่ตื้นมากจนสามารถใส่อแดปเตอร์แปลงเลนส์ SLR และ Rangefinder (รวมถึงยุคฟิล์ม) ทั้งหมดที่มีในตลาดมาใช้ได้ แถมกันสั่นให้ด้วย เชื่อว่านี่เป็นกล้อง Sony ที่ใจกว้างที่สุดตัวหนึ่งที่เคยมีมา ทำเหมือนไม่อยากขายเลนส์ตัวเอง ผมเคยฝันว่าสักวันกล้อง เลนส์และอุปกรณ์เสริม จะใช้ข้ามค่ายกันได้อย่างอิสระ วันนี้ค่ายที่เปิดกว้าง เริ่มทำไอเดียนี้ให้เป็นจริงเป็นค่ายแรก กลับเป็น Sony ผู้ซึ่งเคยมีชื่อเสียเรื่องชอบใช้มาตรฐานปิดของตัวเองจนใช้อะไรร่วมกับค่ายอื่นไม่ได้ แม้คนเราจะแก้กรรมเก่าไม่ได้ แต่ขอให้ Sony ยึดแนวทางนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าสักวันคนจะลืมภาพเก่าๆ ได้ครับ

ขอจบโพสนี้ไว้เพียงเท่านี้ โดยยังไม่มีรูปตัวอย่างสวยๆ เนื่องจากผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้ออกไปเที่ยวถ่ายรูป ขอบคุณที่รับชมครับ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก: briansmith.com, ILCE-7M2 instruction manuals , Sony Alpha Rumors

Blognone Jobs Premium