ความเสียหายที่เกิดจากการถูกแฮคระบบคอมพิวเตอร์ของ Sony Pictures นั้นไม่เพียงทำให้ตัวบริษัทเองตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น แต่ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากที่ถูกแฮคไปด้วยย่อมหมายถึงความเสียหายที่เกิดกับตัวบุคคลเหล่านั้นเองด้วยเช่นกัน และสำหรับอดีตพนักงานส่วนหนึ่งของ Sony Pictures เห็นว่าอดีตนายจ้างควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้เอาผิดกับสตูดิโอดังฐานหละหลวมเรื่องมาตรการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความรับผิดชอบ
กลุ่มอดีตพนักงานของ Sony Pictures ได้ส่งตัวแทนด้านกฎหมายเข้ายื่นคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงใน California เป็นเอกสารยาว 45 หน้า โดยยกเอาความเสียหายเกี่ยวกับการถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานและอดีตพนักงานกว่า 47,000 คน ทั้งหมายเลขประกันสังคม, ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน, หมายเลขโทรศัพท์, ไฟล์จากการสแกนหนังสือเดินทางและวีซ่า, ผลการประเมินการทำงาน รวมถึงข้อมูลบันทึกด้านสุขภาพ
อดีตพนักงานกล่าวว่า Sony (พูดรวมทั้งกลุ่ม) ควรจะมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เคยถูกแฮคเกอร์เจาะระบบของ PSN ครั้งใหญ่ในปี 2011 ยังไม่นับสัญญาณอันตรายที่แสดงให้เห็นว่าระบบมีจุดอ่อนอีกหลายครั้ง
สำหรับข้อเรียกร้องในการฟ้องครั้งนี้ คือต้องการให้ Sony รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี (ปีละประมาณ 700 ดอลลาร์) ตลอดจนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบัญชีธนาคารและการใช้บัตรเครดิต
การฟ้องร้องในครั้งนี้ยังมีความต้องการจะรวบรวมโจทก์ผู้เสียหายจากการที่ระบบของ Sony ถูกแฮค ทั้งในครั้งนี้และครั้งอื่นที่มีมาก่อนหน้า (ตัวอย่างเช่นที่ PSN ถูกเจาะ) เพื่อจะดำเนินคดีเป็นกลุ่มร่วมกันฟ้องด้วย