นักวิจัยของ MIT พัฒนาภาษาใหม่สำหรับการสร้างเว็บ ให้ชื่อว่า Ur/Web โดยรวมเอาเทคโนโลยีสำคัญสำหรับการพัฒนาเว็บมาไว้ด้วยกัน
Ur/Web ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงเอาจุดแข็งของหลากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเว็บตามที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น HTML สำหรับการจัดรูปแบบขั้นพื้นฐานของหน้าเว็บ, CSS ที่ช่วยเพิ่มลูกเล่นทางเลือกในการปรับแต่งรูปลักษณ์ของเว็บ, XML ที่ใช้งานเพื่อเพิ่มกระบวนการพิเศษและการจัดหมวดหมู่, JavaScript เพื่อการเขียนโปรแกรมตอบโต้กับผู้เข้าชมเว็บ ตลอดไปจนถึง SQL เพื่อการจัดการฐานข้อมูลต่างๆ
ภาษา Ur/Web จะรวมเอาคุณสมบัติของเครื่องมือสำหรับการพัฒนาเว็บข้างต้นมารวมกันเป็นโค้ดผ่านการคอมไพล์พร้อมสรรพสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Adam Chlipala ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่ง MIT ได้กล่าวว่าการที่โค้ด Ur/Web ผ่านการคอมไพล์มาแล้ว ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถรันโค้ดได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่าภาษาเดิมๆ ที่ใช้ในการสร้างเว็บ
Ur/Web ยังถูกพัฒนาโดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย ตัวภาษาถูกออกแบบมาให้ป้องกันการทำงานกวนกันระหว่างองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของเว็บ ตัวอย่างเช่น โค้ดที่ฝังไว้สำหรับการแสดงโฆษณา จะไม่ไปรบกวนบดบังกับวิดเจ็ทปฏิทินที่ถูกฝังไว้บนหน้าเว็บ
นอกจากนี้ Ur/Web ยังจำกัดให้การกำหนดฟังก์ชั่นและตัวแปรต่างๆ เป็นไปตามประเภทข้อมูลที่ระบุไว้แต่ต้นเท่านั้น ทำให้ผู้ไม่หวังดีที่ต้องการเจาะช่องโหว่ของเว็บ ส่งโค้ดแปลกปลอมผิดประเภทมาทำอันตรายกับเว็บได้ยากขึ้น ทั้งนี้ Ur/Web ยังรองรับการกำหนดขอบเขตของตัวแปร ซึ่งจะจำกัดได้ว่าให้ส่วนไหนของโปรแกรมบนเว็บสามารถเรียกใช้ตัวแปรดังกล่าวได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม Chlipala ยอมรับว่า Ur/Web นั้นค่อนข้างใช้งานยุ่งยากไม่น้อย ทำให้นักพัฒนาอาจต้องใช้เวลามากเพื่อทำความคุ้นเคยกับมัน เนื่องจาก Ur/Web เป็นภาษาโปรแกรมแบบ functional (คือเป็นภาษาที่มองการโปรแกรมเปรียบเสมือนกระบวนการทำงานของฟังก์ชั่นจำนวนมากสืบเนื่องกัน)
Chlipala จะนำเสนอผลงานการพัฒนา Ur/Web ในงาน POPL 2015 อันเป็นงานสัมมนาว่าด้วยเรื่องของปรัชญาภาษาสำหรับโปรแกรม โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12 - 18 ของเดือนหน้าที่ประเทศอินเดีย
ยังมีผลงานการพัฒนาภาษาสำหรับโปรแกรมที่น่าสนใจ โดยบุคลากรอื่นของ MIT อีก อาทิ ภาษา Sketch ที่สามารถคาดเดาและเติมแต่งโค้ดที่นักเขียนโปรแกรมกำลังเขียนอยู่ได้โดยอัตโนมัติ และภาษา Stack ที่มีความสามารถช่วยชี้ตำแหน่งของโค้ดตรงจุดที่ตัวคอมไพล์อาจมองข้ามไป
ที่มา - Computer World