ไมโครซอฟท์กับโลกโอเพนซอร์ส เมื่อไมโครซอฟท์ในตอนนี้ไม่ใช่บริษัทเดิมที่เรารู้จัก

by advertorial
30 December 2014 - 07:40

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์จัดงาน Microsoft + Open Source Day งานสัมมนาที่พูดถึงความเข้ากันได้ระหว่างบริการของไมโครซอฟท์และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจำนวนมาก หรือแม้แต่ความเข้ากันได้กับระบบจากผู้ผลิตรายอื่นเช่น iOS และ OS X จากแอปเปิลเอง

ภาพของไมโครซอฟท์ที่ไม่เป็นมิตรกับโลกโอเพนซอร์สนัก ทั้งที่ตัวซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เป็นซอฟต์แวร์ปิดซอร์ส และการแข่งกันกับซอฟต์แวร์อีกหลายๆ ตัว แต่ท่าทีของไมโครซอฟท์ในช่วงหลังเปลี่ยนไปอย่างมาก และเป็นมิตรต่อโลกโอเพนซอร์สมากขึ้นจนกระทั่งมาถึงวันที่ไมโครซอฟท์จัดงาน Open Source Day ของตัวเอง

ภาพการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟท์และโลกโอเพนซอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของคลาวด์ ในงานครั้งนี้ไมโครซอฟท์ระบุว่ามีเซิร์ฟเวอร์ที่รันอยู่บน Azure แต่เป็นลินุกซ์ถึง 20% และหากนับเฉพาะลูกค้าจากประเทศไทย จำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่เป็นลินุกซ์จะสูงถึง 55% มากกว่าเซิร์ฟเวอร์ที่รันเป็นวินโดวส์เองเสียอีก แสดงให้การเปิดกว้างที่มากขึ้นของไมโครซอฟท์ เพื่อให้นักพัฒนาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการใช้งานคลาวด์ของไมโครซอฟท์

การทำให้ลินุกซ์สามารถทำงานบน Azure ซึ่งมีฐานเป็นวินโดวส์ได้ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาเองโดยไม่มีคนทำงาน โครงการ Openness ภายในไมโครซอฟท์ ทำงานร่วมกับกลุ่มมาตรฐานมากกว่า 150 กลุ่ม กลุ่มทำงานอีกกว่า 400 กลุ่ม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมสูงหลายๆ ตัว นับแต่ PHP, Python, MongoDB, NodeJS, Hadoop, Linux, หรือ Android จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์และบริการของไมโครซอฟท์ได้อย่างสมบูรณ์

Azure เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันกับโลกโอเพนซอร์ส ไมโครซอฟท์ซัพพอร์ตซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในทุกระดับ

  • ระบบปฎิบัติการลินุกซ์ และวินโดวส์
  • ระบบฐานข้อมูลอย่าง MongoDB และ Hadoop
  • อุปกรณ์ที่ซัพพอร์ตทุกสายตั้งแต่ Windows Phone, Android, และ iOS
  • ระบบจัดการเนื้อหา (CMS) รองรับระบบยอดนิยมอย่าง Drupal, WordPress, Joomla, ไปจนถึงระบบที่ใช้เทคโนโลยี .NET ของไมโครซอฟท์เองอย่าง Orchard และ DotNetNuke
  • ภาษาที่ใช้พัฒนาที่รองรับทั้ง .NET, PHP, Python, NodeJS, และ Java

แนวทางเช่นนี้ทำให้ Azure เป็นตัวเลือกที่เปิดกว้างทั้งผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์เอง ที่ช่วงหลังเริ่มเปิดให้ผู้อื่นเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ หรือจะเลือกใช้งานเทคโนโลยีจากโครงการที่เปิดซอร์สอื่นๆ มารันบนโครงสร้างของไมโครซอฟท์ก็ได้เช่นกัน

นอกจากการทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้นแล้ว ไมโครซอฟท์ยังเปิดให้คนเข้าถึงทั้งซอฟต์แวร์และบริการของตัวเองได้ง่ายขึ้นอย่างมากในช่วงหลัง ในงานนี้ไมโครซอฟท์แนะนำ 3 โครงการที่ไมโครซอฟท์เปิดให้คนเข้าถึงทั้งบริการและซอฟต์แวร์ได้ง่ายขึ้น

Azure4Research โครงการสนับสนุนโครงการวิจัยให้สามารถเข้าถึงพลังประมวลผลของ Azure ได้ง่ายขึ้น ปีที่แล้วมีโครงการเสนอเข้าไปขอสนับสนุนโครงการนี้กว่า 700 โครงการและได้รับการสนับสนุนถึง 360 โครงการ หรือประมาณครึ่งหนึ่ง โครงการนี้ยังรวมถึงการเข้าฝึกการใช้งาน Azure

Azure for Education โครงการสนับสนุนชั้นเรียนให้สามารถใช้ Azure เพื่อเรียนรู้การใช้งานคลาวด์จากของจริง โดยอาจารย์สามารถยื่นขอสนับสนุนชั้นเรียนที่ต้องการเรียนรู้การใช้งานคลาวด์ โดยอาจารย์จะได้รับเครดิต 250 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี และนักเรียนในชั้นจะได้รับเครดิต 100 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน

BizSpark โครงการสนับสนุนทั้งซอฟต์แวร์และคลาวด์สำหรับสตาร์ตอัพที่กำลังจะเริ่มให้บริการ ตอนนี้มีสตาร์ตอัพกว่าหนึ่งแสนรายทั่วโลกได้รับการสนับสนุนผ่าน BizSpark สำหรับธุรกิจที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะบริการ Azure ยังสามารถยื่นขอสนับสนุนเป็น BizSpark Plus ผ่านโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพที่ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ หากได้รับสนับสนุนเป็น BizSpark Plus จะได้รับเครดิต Azure สูงสุดถึง 60,000 ดอลลาร์

ความเปลี่ยนแปลงของไมโครซอฟท์ที่เปิดกว้างมากขึ้น การซัพพอร์ตที่กว้างกว่าเดิม การทำงานร่วมกับโครงการภายนอกที่เพิ่มมากขึ้นและเพื่อให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำให้ไมโครซอฟท์ในวันนี้ไม่เหมือนกับไมโครซอฟท์ที่เราเคยรู้จักเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกต่อไป

Blognone Jobs Premium