รู้จัก "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" มหาเทพชุดใหม่ของวงการไอทีไทย

by mk
17 January 2015 - 03:24

ความเดิมจากตอนที่แล้ว โครงสร้างหน่วยงานด้านไอซีทีและเศรษฐกิจดิจิทัล จากร่างกฎหมายดิจิทัลชุดใหม่ จะเห็นว่ากฎหมายชุดใหม่ตั้ง "คณะกรรมการแห่งชาติ" (สังเกตคำว่า "แห่งชาติ" นะครับ) ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดนโยบายด้านดิจิทัลในภาพรวม มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงไอซีที/กระทรวงดิจิทัลอย่างเดียว

คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วัดตามศักดิ์ศรีแล้วถือว่าอยู่บนจุดสูงสุดของการกำหนดนโยบายดิจิทัลของประเทศ ดังนั้นผมขอขนานนามให้ว่าเป็น "มหาเทพแห่งวงการไอซีทีไทย"

บทความนี้จะมาแนะนำข้อมูล บทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ครับ

อำนาจหน้าที่

หน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดนี้คือจัดทำ นโยบายยุทธศาสตร์ และ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ (จะกล่าวถึงนโยบายยุทธศาสตร์ในหัวข้อต่อไป)

ส่วนอำนาจอย่างอื่นของคณะกรรมการชุดนี้ได้แก่คือ

  • เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีถึงวิธีการดำเนินการตามนโยบายและแผนข้างต้น รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาในกรณีดำเนินงานตามแผนไม่ได้
  • ติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐตามแผนข้างต้น
  • เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล
  • กำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน ลดกฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาดิจิทัล
  • กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการด้านดิจิทัลที่ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน
  • เชิญหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น คำแนะนำ

อะไรคือขอบเขตของ "ดิจิทัล"

เมื่ออำนาจหน้าที่หลักของคณะกรรมการดิจิทัลฯ คือกำหนดแผนด้านดิจิทัลของประเทศ ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า "ดิจิทัล" คืออะไร

ร่างกฎหมายคณะกรรมการดิจิทัลฯ ได้นิยามคำว่า ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไว้ดังนี้

"ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" หมายความว่า ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีการติดต่อสื่อสาร การผลิต การอุปโภคบริโภค การใช้สอย การจำหน่ายจ่ายแจก การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การคมนาคมขนส่ง การโลจิสติกส์ การศึกษา การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การสาธารณสุข การเงินการลงทุน การภาษีอากร การบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหา หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นใดหรือการใดๆ ที่มีกระบวนการหรือการดำเนินงานทางดิจิทัลหรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม กิจการโทรคมนาคม กิจการสื่อสารดาวเทียม และการบริหารคลื่นความถี่ โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวม หรือเทคโนโลยีอื่นใดในทำนองคล้ายกัน

สรุปง่ายๆ คืออะไรที่มี "ดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/การสื่อสาร" มาเกี่ยวข้อง ย่อมถือเป็น "ดิจิทัล" หมดตามนิยามข้างต้น

ในกฎหมายยังกำหนดคำว่า การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทยว่าต้องทำตามแผนนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลฯ โดยต้องทำงานอย่างน้อย 6 เรื่องดังนี้

  1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (hard infrastructure) รวมโครงข่ายการสื่อสารทุกรูปแบบ การจัดสรรคลื่นความถี่ การแพร่ภาพกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียม
  2. สนับสนุนระบบการให้บริการ-แอพพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (service infrastructure) ที่อำนวยความสะดวก ยกระดับศักยภาพของประเทศ มีศูนย์ข้อมูลจัดเก็บและบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รองรับความต้องการของภาครัฐ/เอกชน/ประชาชน
  3. ส่งเสริมสถาปัตยกรรมด้านดิจิทัล-สารสนเทศ มาตรฐานกลาง มาตรฐานด้านความมั่นคงไซเบอร์ คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว มาตรการทางกฎหมาย รวมแล้วเรียกว่า soft infrastructure
  4. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเนื้อหาดิจิทัล การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน
  5. ส่งเสริมการพัฒนากำลังคน สร้างองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้ภาครัฐ/เอกชน/ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัล สร้างความตระหนักรู้เท่าทันสื่อ
  6. พัฒนาคลังข้อมูลและฐานข้อมูลดิจิทัล บริการจัดการความรู้ และส่งเสริมระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย

ใครอยู่ในคณะกรรมการดิจิทัลบ้าง?

กฎหมายกำหนดให้ตั้ง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการหลัก (บอร์ดใหญ่) วาระคราวละ 3 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ และมี "คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง" อีก 5 ชุด คอยวางแผนนโยบายเฉพาะเรื่องตามหน้าที่ 5 ข้อแรกจากแนวทางการพัฒนา 6 ข้อข้างต้น

คณะกรรมการชุดใหญ่ประกอบด้วยกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ มากมาย และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมแล้วคณะกรรมการชุดนี้จะมีสมาชิกมากถึง 37-40 คนเลยทีเดียวครับ

รายชื่อตำแหน่งกรรมการทั้งหมดมีดังนี้

  1. นายกรัฐมนตรี ประธาน
  2. รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รองประธาน
  3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  9. ปลัดกระทรวงกลาโหม
  10. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  11. ปลัดกระทรวงพลังงาน
  12. ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  13. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  14. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  15. ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  16. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  17. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์)
  18. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  19. ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  20. ประธานกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ
  21. ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
  22. ประธานกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล
  23. ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
  24. ประธานกรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  25. ประธานกรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  26. ประธานกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  27. ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งชาติ
  28. ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  29. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  30. ผู้แทนสภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  31. ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย
  32. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-8 คน แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี จากบุคคลที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจ ด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง
  33. ผู้อำนวยการสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ แต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกิน 2 คน

จากรายชื่อจะเห็นว่าคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาตินี้ดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับรัฐมนตรี ระดับกระทรวง ระดับหัวหน้าหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และมีตัวแทนจากภาคเอกชน-ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เข้าร่วม ส่วนเลขานุการของคณะกรรมการคือ "ผู้อำนวยการสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" หน่วยราชการใหม่สังกัดกระทรวงดิจิทัล ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง

หลายคนอาจรู้สึกว่าคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปด้วย "ผู้ยิ่งใหญ่" ทั่วหล้า ประชุมทีนั่งกันเต็มห้อง และกว่าจะนัดประชุมได้ครบก็คงยากมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการชุดใหญ่มีความสำคัญในแง่การอนุมัติแผนเป็นหลัก แต่ตัวแผนและนโยบายจริงๆ จะเป็นความรับผิดชอบของ "บอร์ดเล็ก" หรือ คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ที่ถูกกำหนดให้มีจำนวน 5 ชุด ตามนโยบาย 5 ข้อข้างต้น (แต่บอร์ดใหญ่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเพิ่มได้ถ้าความจำเป็น)

คณะกรรมการเฉพาะเรื่องทั้ง 5 ชุดมีดังนี้

  1. คณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ (hard infrastructure) ดูแลโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ จัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ
  2. คณะกรรมการเซอร์วิสอินฟราสตรัคเจอร์ (service infrastructure) ดูแล "การให้บริการ" ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐพัฒนาบริการด้วยดิจิทัล
  3. คณะกรรมการซอฟต์อินฟราสตรัคเจอร์ (soft infrastructure) ออกแบบสถาปัตยกรรมเทคโนโลยี มาตรฐาน กฎหมาย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกรรม
  4. คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (digital economy promotion) พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ นวัตกรรม การลงทุน การวิจัย
  5. คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ (digital society and knowledge) ดูแลด้านสังคม ความเท่าทันเทคโนโลยี ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงทรัพยากรความรู้

แหล่งที่มาของกรรมการทั้ง 5 ชุดมีความหลากหลายตามภาระงาน แต่คณะกรรมการทุกชุดจะมี "ผู้อำนวยการสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" เป็นกรรมการและเลขานุการ เหมือนกันทั้งหมด (เท่ากับว่า ผู้อำนวยการฯ จะต้องนั่งเป็นเลขาในบอร์ดทุกชุดทั้งบอร์ดเล็กและบอร์ดใหญ่)

นอกจากนี้ คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 4 ชุดแรก (ไม่รวมด้านสังคม) จะมีกรรมการผู้จัดการใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ 3 รายคือ TOT, CAT, Thailand Post ร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่ด้วย

โครงสร้างของคณะกรรมการทั้งหมดมีความซับซ้อนมาก สามารถดูได้จากเอกสารตาม embed นะครับ (ถ้าดูยาก ลองดูลิงก์เอกสารฉบับเต็มบน Google Docs)

ทั้งบอร์ดชุดใหญ่และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องยังสามารถตั้ง "คณะอนุกรรมการ" หรือ "ที่ปรึกษา" เพื่อช่วยงานได้ด้วย โดยสามารถตั้งที่ปรึกษาได้ไม่เกิน 6 คน แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการ

บทบาทของ สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

จะเห็นว่า สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีบทบาทสำคัญมากในโครงสร้างหน่วยงานดิจิทัลอันใหม่นี้ ในร่างกฎหมายกำหนดให้สำนักงานดิจิทัลฯ ทำหน้าที่เป็น "สำนักงานเลขานุการ" ของคณะกรรมการทั้ง 6 ชุด โดยรับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูล และกิจกรรมต่างๆ

ภาระหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้คือ

  1. จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติด้านการพัฒนาดิจิทัลให้คณะกรรมการชุดใหญ่อนุมัติ
  2. จัดทำร่างนโยบายและแผนเฉพาะด้าน ให้คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง
  3. เป็นศูนย์กลางประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนระดับชาติ รวมถึงแผนเฉพาะด้าน
  4. วิเคราะห์และเสนอมาตรฐานผลักดันการนำนโยบายและแผนระดับชาติไปปฏิบัติ
  5. ศึกษา วิเคราะห์ กลั่นกรองแผนเฉพาะด้านที่เสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง
  6. ให้คำแนะนำในการทำแผนปฏิบัติการและแผนงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
  7. สำรวจ เก็บข้อมูล ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มด้านการพัฒนาดิจิทัล
  8. รายงานผลการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนระดับชาติ
  9. ร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ-เอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัล

นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เขียนมาตั้งยาวเรื่องอำนาจหน้าที่และที่มาของคณะกรรมการดิจิทัล คราวนี้เรามาดูกันว่าคณะกรรมการชุดนี้ต้อง "ทำอะไร" กันบ้าง คำคอบคือทำแผนที่มีชื่อยาวเหยียดว่า "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" นั่นเองครับ

แผนที่ว่านี้จะมี 5 หัวข้อย่อยตามนโยบายข้างต้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการต้องกำหนดขึ้นในที่ประชุมหรือคณะทำงาน

กระบวนการจัดทำแผนดิจิทัลของประเทศคือ "สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" จะร่างแผนให้คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง แล้วนำเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อร่างแผนฉบับเต็ม เมื่อคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบแผนฉบับเต็มแล้ว ก็จะต้องนำแผนนี้ไปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เผื่อจะมีความเห็นคัดค้านกับแผนที่นำเสนอ

เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้ว คณะกรรมการจะเสนอแผนนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติและมีผลบังคับใช้ จากนั้น "หน่วยงานของรัฐ" จะต้องดำเนินการภารกิจตามแผนฉบับนี้ในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามแผนนี้ คณะกรรมการดิจิทัลมีอำนาจแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการ (หรือหยุดดำเนินการ) ตามแผน ถ้ายังไม่เป็นผลอีก ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีความผิดทางวินัย และส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษต่อไป

บทสรุปและข้อสังเกต

ผมคิดว่าการตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติ" เพื่อกำหนดนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศ ถือเป็นความตั้งใจที่ดีในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล แต่มีข้อสังเกตดังนี้

  • คณะกรรมการชุดใหญ่มีจำนวนกรรมการมากเกินไปหรือไม่
  • จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีคณะกรรมการเฉพาะเรื่องถึง 5 ชุด ในเมื่อหน้าที่ของคณะกรรมการบางชุดอาจดูซ้ำซ้อนกันอยู่บ้าง และคงต้องเสียทรัพยากรอีกไม่น้อยสำหรับตอบโจทย์ของคณะกรรมการทั้ง 5 ชุด
  • ตัวแทนจากหน่วยงานบางแห่งนั่งอยู่ในกรรมการเกือบทุกชุด (เช่น กรรมการผู้จัดการรัฐวิสาหกิจนั่งอยู่ในคณะกรรมการเฉพาะเรื่องถึง 4 ชุด) จะสามารถเข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็นได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
  • ผู้อำนวยการสำนักงานดิจิทัลฯ นั่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการเกือบทุกชุด จะแบ่งเวลาไปบริหารสำนักงานได้มากน้อยแค่ไหน แค่เข้าประชุมอย่างเดียวก็น่าจะหมดเวลาแล้ว

ผมคิดว่าโครงสร้างที่น่าจะเหมาะสมกว่าคือ มีบอร์ดใหญ่ที่มาจากตัวแทนหน่วยราชการหลายๆ ส่วนทำหน้าที่อนุมัติแผน และมีบอร์ดเล็กเพียงชุดเดียวที่ทำหน้าที่ร่างแผนโดยตรง โดยบอร์ดเล็กควรมีขนาดเล็ก (อาจไม่เกิน 10 คน) เพื่อให้คล่องตัวในการทำงาน และสามารถตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องมาช่วยพิจารณาข้อมูลในบางประเด็นได้

ร่างกฎหมายสำหรับอ้างอิง

ผู้สนใจรายละเอียดสามารถอ่านจากร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้านล่าง หรือ ดาวน์โหลด PDF

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าร่างกฎหมายอาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกนะครับ

Blognone Jobs Premium