องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จี้ ครม.ทบทวน กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล

by tgst
28 January 2015 - 19:22

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จัดแถลงข่าววิเคราะห์ร่างชุดกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ขึ้นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเสนอให้มีมาตรการเยียวยาความเสียหาย

ทางด้านตัวแทนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนที่มาแถลงข่าว ประกอบด้วย จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ, ชลลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระฯ, รุจน์ โกมลบุตร กรรมการองค์การอิสระฯ และ บุญยืน ศิริธรรม กรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลว่า ขาดมิติในการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากเกินไปในการเข้าถึงข้อมูล และควรจะใส่ไว้ในกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องความผิดคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะนำมาใส่ไว้กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล, มีการอธิบายความผิดไว้แบบกว้างและไม่ชัดเจน, ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการมาลงทุน เพราะมีความกังวลในความปลอดภัยของข้อมูล, เป็นการดึงอำนาจไว้ที่รัฐมากกว่า นอกจากนี้ถ้าเกิดกรณีมีนักธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของรัฐ ก็อาจเกิดการล้วงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามได้

โดยทั้งนี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยระบุว่ากฎหมายดิจิทัลทั้งสิบฉบับเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ไม่แก้ปัญหาผู้บริโภคที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน และขาดมิติการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ระบุเหตุผล ดังนี้

  1. การนำข้อมูลของผู้บริโภคไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น ในกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

  2. ต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในฐานะผู้ที่ใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการดิจิทัล ซึ่งในกฎหมายหลายฉบับไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

  3. ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จึงขอเสนอให้มีการเพิ่มตัวแทนของผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการในร่างกฎหมายทุกฉบับ

  4. ในกฎหมายหลายฉบับมีการให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ใน มาตรา 35 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสาร โดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคในฐานะผู้เป็นเจ้าของข้อมูลอาจถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ถูกดักฟัง ถูกดึงข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่มีการคุ้มครองหลักประกันความปลอดภัยใดๆ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ

  5. ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีเพียงการกำกับดูแล “ผู้ควบคุมข้อมูล” มิให้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปใช้หรือเปิดเผย โดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และยังมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภคส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงบรรดาผู้ที่ส่งข้อความโฆษณารบกวน หรือ “SPAM” มาทาง SMS อีเมล หรือแม้กระทั่งสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งสร้างความรำคาญและเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ดังนั้น คณะกรรมการจึงเสนอว่าควรมีการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ครอบคลุม คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

    5.1 การส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสารใดๆ ที่ผู้บริโภคมิได้ร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นการส่ง โทรสาร, e-mail, SMS, MMS ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง
    5.2 กำหนดให้ผู้ส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์จะต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ ที่ติดต่อให้ชัดเจน และการแจ้งชื่อหรือที่อยู่ปลอมถือเป็นความผิด
    5.3 กำหนดให้ผู้ส่งข้อความต้องแจ้งให้ผู้รับทราบอย่างชัดเจนว่า ข้อความที่ได้รับนั้นเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์
    5.4 กำหนดให้ผู้ส่งข้อความต้องระบุวิธีการยกเลิก การบอกรับข้อความ ข้อมูล ข่าวสารเมื่อไม่ต้องการ ซึ่งต้องเป็นวิธีการที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่าย
    5.5 จำกัดจำนวนสูงสุดในการส่งข้อความ เช่น ไม่เกิน 2,500 ฉบับภายใน 24 ชั่วโมง
    5.6 กำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรง เช่น หากมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เช่นเดียวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องรับโทษตามมาตรา 44 วรรคสอง)

  6. ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีการแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เห็นว่า กสทช.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับกิจการควรคงความเป็นอิสระ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ กสทช.ไม่ควรเป็นการเอากลับเข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค กลไกการตรวจสอบ การประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ทุกชุด รวมไปทั้งการแก้ไขการถอดถอนให้ทำได้ง่ายมากขึ้นหากพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส

แถลงการณ์ฉบับเต็มสามารถอ่านได้จากที่มา

ที่มา - ประชาไท

Blognone Jobs Premium