สรุปความจาก งานเสวนา NBTC Public Forum 1/2558 หัวข้อ "ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" หลังจากการนำเสนอสาระสำคัญของกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผู้อำนวยการ สพธอ. ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยวิทยากร 3 ท่าน
ท่านแรกคือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้อภิปรายร่างกฎหมายใน 2 ประเด็นคือเจาะไปที่ตัวร่างกฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ และพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวม
สำหรับประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ (เปิดร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ รวมบอร์ดชุดเดียว ไม่บังคับประมูลความถี่ โยกกองทุน) ดร.สมเกียรติ เสนอประเด็นว่ามีความคล้ายคลึงกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกาในอดีต ที่ปัจจุบันสหรัฐก้าวพ้นจากโมเดลเดิมแล้ว แต่ไทยกลับวิ่งเข้าหาแนวทางที่สหรัฐเคยทำแล้วมีปัญหา
ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่มีข้อแก้ไขสำคัญคือ
การแยกส่วนคลื่นตามประเภทที่ใช้งาน
รูปแบบการแยกส่วนคลื่นความมั่นคง-สังคม กับคลื่นเชิงพาณิชย์ จะคล้ายกับโครงสร้างของสหรัฐที่มีหน่วยงานกำกับดูแล 2 หน่วยคือ NTIA (คลื่นภาครัฐ) และ FCC (คลื่นเชิงพาณิชย์) ซึ่งผลลัพธ์ของสหรัฐอเมริกาคือฝั่ง FCC จัดการคลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่คลื่นฝั่ง NTIA ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเมืองไทยเลือกใช้แนวทางแบบเดียวกัน จะกลายเป็นว่าการจัดสรรคลื่นความมั่นคงจะไม่มีประสิทธิภาพแบบ NTIA และยัง "อาจ" ถูกภาคเอกชนมาสวมรอยนำคลื่นภาครัฐไปใช้หากินอีกต่อหนึ่งด้วย
เงื่อนไขการประมูล
ในอดีตสหรัฐอเมริกาใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติ (beauty contest) ซึ่งเปิดให้ใช้ดุลพินิจสูง และเคยมีกรณีประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ใช้อิทธิพลกดดันให้ภรรยาได้คลื่นวิทยุไปทำธุรกิจมาแล้ว ภายหลังสหรัฐจึงหันมาใช้วิธีการประมูลมากขึ้น ผลคือโปร่งใสและสร้างรายได้เข้ารัฐ ในขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันใช้การประมูล แต่กำลังจะแก้กฎหมายให้ไม่ต้องประมูลก็ได้ โดยไม่เคยมีใครอธิบายไว้ชัดเจนว่าแก้เพราะอะไร
ท่าทีของโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมไทย ส่วนใหญ่อยากให้ประมูล ยกเว้น True
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
คลิป ดร.สมเกียรติ ออกรายการใน Thai PBS พูดประเด็นเดียวกัน (จากเว็บไซต์ TDRI)
ส่วนประเด็นด้านกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งชุด ดร.สมเกียรติ มีข้อวิจารณ์หลักคือแนวคิดของกฎหมายชุดนี้เน้นเพิ่มอำนาจของกลไกรัฐ เน้นขยายหน่วยงานของรัฐบาล แต่กลับไม่เน้นกลไกตลาดที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยสรุปแล้วถ้ารัฐยังมีแนวคิดทำนองว่า "รัฐทำเอง-ควบคุมประชาชน" ก็ไม่มีทางทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้น "กลไกตลาด-ประชาชน" เกิดได้