จากเมื่อปลายปีที่แล้ว ทาง Instagram ได้ออกมาประกาศจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานที่ 300 ล้านคน ซึ่งแซงหน้า Twitter ที่ไตรมาสก่อนหน้าไปเล็กน้อย แต่เมื่อค้นพบภายหลังว่ามีบัญชีปลอมและสแปม และเดินหน้าไล่ลบบัญชีเหล่านั้น ก็คงมีคำถามกันไม่มากก็น้อยว่าแล้วบัญชีที่เหลืออยู่มีจำนวนเท่าไหร่? และยังคงแซงหน้า Twitter เหมือนที่เคยประกาศไว้หรือไม่?
GlobalWebIndex (GWI) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตลาดพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ได้ทำการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีตัวตนจริงกว่า 170,000 คนในแต่ละปี ในช่วงอายุ 16-64 ปี ผลสำรวจ (แบบไม่รวมประเทศจีน) พบว่า Facebook ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดทั้งจำนวนสมาชิกและผู้ใช้งาน โดย 81% มี account ของ Facebook, และ 42% บอกว่าตนเองเป็นผู้ใช้งาน ขณะที่อันดับที่ 2 ประกอบด้วย YouTube, Twitter และ Google+ ต่างก็มีจำนวนสมาชิกอยู่ในช่วง 50-60% และมีผู้ใช้งานอยู่ที่ 20-25% โดย Google+ ทำผลงานได้ดีในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนอันดับ 3 ตามมาด้วย Instagram ซึ่งจัดอยู่ในระดับเดียวกันกับ LinkedIn และ Pinterest
จากสัดส่วนที่ปรากฏ GWI พบว่า Twitter มีจำนวนสมาชิกและผู้ใช้งานที่มากกว่า Instagram อยู่เกือบ 2 เท่า เมื่อแปลงเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวออกมาเป็นตัวเลขจำนวนคน Twitter จะมีสมาชิกทั้งหมด 677 ล้านคน และผู้ใช้งาน 306 ล้านคน ขณะที่ Instagram มีจำนวนสมาชิก 357 ล้านคน และผู้ใช้งาน 167 ล้านคน
นอกจากนี้ยังพบว่า Twitter มีจำนวนสมาชิกที่มากกว่า Instagram ในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ โดยในเกาหลีใต้, อินเดีย, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้, สเปน และอาร์เจนตินา มีจำนวนสมาชิกที่มากกว่าอยู่กว่า 30% ทั้งนี้ เมื่อเทียบปริมาณของผู้ใช้งาน กลับพบว่าความแตกต่างของทั้ง 2 แพลตฟอร์มนั้นลดลงไปอย่างมาก และ Instagram พลิกกลับมาเอาชนะ Twitter ได้ในสวีเดนและฮ่องกง แต่ยังคงถูกทิ้งห่างเช่นเคยในญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, เม็กซิโก, แคนาดา และไอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ใช้งานต่อจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทาง Instagram ก็กลับมาเป็นฝ่ายที่มีภาษีดีกว่า โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งานต่อจำนวนสมาชิกในเดือนล่าสุดอยู่ที่ 47% ขณะที่ Twitter มีสัดส่วนอยู่ที่ 42%
ข่าวดีที่ยังพอจะเหลืออยู่บ้างของ Instagram อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีสัดส่วนของผู้ใช้ที่อายุน้อยโดยเฉลี่ยมากกว่า Twitter โดยเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้อายุน้อยโดยเฉลี่ยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจาก Tumblr ซึ่งกว่า 70% ของผู้ใช้ Instagram นั้นมีอายุน้อยกว่า 35 ปี ขณะที่ Twitter นั้นมีผู้ใช้ที่อายุมากกว่า 35 ปี กว่า 40% และ Instagram มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยต่อวันที่มากกว่า ที่ 2.83 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ Twitter อยู่ที่ 2.37 ชั่วโมงต่อวัน
นอกเหนือไปจากเรื่องของ Twitter และ Instagram นี้ ยังมีสถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ สถิติการเติบโตของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่ง Pinterest และ Tumblr คว้าแชมป์ไป ตามมาติดๆ ด้วย Instagram และ LinkedIn โดย Facebook เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ประสบปัญหามีจำนวนผู้ใช้งานลดลง ขณะที่เมื่อดูจำนวนของผู้มาเยือน YouTube ก็ครองอันดับ 1 ที่ 82% และ Facebook ตามมาติดๆ ที่ 73%
สำหรับค่าเฉลี่ยของจำนวน social network ที่คนใช้ มีค่าเฉลี่ยจำนวนสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 5.54 แพลตฟอร์มต่อคน และยังคงใช้งานอยู่ประมาณ 2.82 แพลตฟอร์มต่อคน ซึ่งแนวโน้มการมีสมาชิกในหลายแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นตัวอธิบายว่าเหตุใดจำนวนเวลาที่ใช้ไปกับ social network จึงเพิ่มขึ้นจาก 1.61 ชั่วโมงต่อวันในปี 2012 เป็น 1.72 ชั่วโมงต่อวันในปี 2014 ขณะที่แรงจูงใจที่ทำให้หันมาใช้งาน social network นั้น ปรากฏว่าช่วงอายุ 16-24 ปี มีแรงจูงใจมาจากความต้องการติดตามข่าวสารคนดังและความบันเทิง, 25-34 ปี ต้องการเผยแพร่เรื่องราวในกิจวัตรประจำวันและเผยแพร่ผลงาน, 35-44 ปี ต้องการเผยแพร่ผลงานและติดตามข่าวสาร, 45-54 ปี และ 55-64 ปี ต้องการจะดูว่าเพื่อนของตนกำลังทำอะไรอยู่และเพราะมีเพื่อนของตนจำนวนมากใช้งานแพลตฟอร์มนั้นๆ อยู่เท่านั้น
เห็นตัวเลขออกมาแบบนี้ คนใช้ Instagram ที่บอกว่า Google+ หรือ Twitter มีคนใช้น้อยกว่า ก็คงจะต้องคิดให้ดีๆ กันใหม่ สำหรับรายงานแบบเต็มสามารถอ่านได้จากที่มาครับ