วิพากษ์กฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ โดย อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง NBTC Policy Watch

by mk
1 February 2015 - 02:02

สรุปความจาก งานเสวนา NBTC Public Forum 1/2558 หัวข้อ "ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" ในส่วนของการวิจารณ์ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล (ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3)

วิทยากรคนที่สามคือ อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) อภิปรายในหัวข้อ "อนาคตของการจัดสรรและใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ กับบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ที่จะปรับเปลี่ยนไป"

การอภิปรายของ อ.วรพจน์ เน้นไปที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ เจาะเป็นรายมาตรา สรุปประเด็นได้ดังนี้

  • ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ดึงอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่จากองค์กรอิสระ (กสทช.) กลับไปยังหน่วยงานของรัฐ (คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ) ผ่านกลไกอย่างการทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ที่ต้องให้คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติอนุมัติ, ปรับอำนาจหน้าที่บางอย่างของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรร/กำกับดูแลความถี่ในกฎหมายฉบับใหม่
  • คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ มีประธานกรรมการของ TOT/CAT เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นั่นแปลว่า TOT/CAT อาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดแผนบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติของ กสทช.?
  • ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เปลี่ยนจากการประมูลคลื่นความถี่ เป็นการ "คัดเลือก" แทน โดยพยายามสร้างมายาคติว่าประเทศอื่นๆ ก็ใช้วิธี "คัดเลือก" ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป
  • ที่ผ่านมา แม้ว่า กสทช. ประมูลคลื่นไปสองครั้งแล้ว ถือเป็นการจัดสรรคลื่นที่โปร่งใสที่สุดแล้ว ยังโดนวิจารณ์มากมาย ถ้าเปลี่ยนมาใช้การคัดเลือกจะเป็นอย่างไร
  • ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดให้ กสทช. ต้อง "จัดสรรคลื่นโทรทัศน์ให้พอเพียง" กับบริการสาธารณะของรัฐ เพราะเหตุใดจึงต้องเอื้อประโยชน์ให้รัฐมากเป็นพิเศษ ทั้งที่กฎหมายฉบับเดิมๆ ไม่มีเรื่องนี้
  • ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ตัดอำนาจเกี่ยวกับการประสานงานคลื่นความถี่ระหว่างประเทศ อาจแปลว่าตั้งใจดึงอำนาจส่วนนี้กลับไปที่กระทรวงไอซีที ซึ่งมีประเด็นเรื่องอำนาจการจัดสรรวงโคจรดาวเทียม
  • การโยกกองทุน กสทช. ไปสังกัดกระทรวงดิจิทัล กลับโยกไปแต่กองทุน ในขณะที่ยังกำหนดอำนาจบางอย่างของ กสทช. ให้ผูกกับงบประมาณในกองทุนอยู่ เช่น กสทช. มีหน้าที่กำหนดการกระจายบริการโทรคมนาคมให้ทั่วถึง แต่เงินด้าน USO ไม่มีแล้วเพราะยุบกองทุนไป
  • เดิมที กสทช. มีอำนาจตรวจสอบการใช้เงินกองทุน เช่น กระทรวงไอซีทีขอเงินไปทำเรื่อง Free Wi-Fi แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องคืนเงิน แต่ถ้ากองทุนไปอยู่กับกระทรวงดิจิทัลในอนาคต แล้วเกิดปัญหาแบบเดียวกัน ใครจะเป็นคนตรวจสอบ

สุดท้าย อ.วรพจน์ ลองสมมติสถานการณ์ในอนาคตที่ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เราอาจได้เห็น

  • คลื่นความถี่หมดอายุแล้วกลับคืนไปยังหน่วยงานรัฐ (เช่น หน่วยงานความมั่นคงหรือรัฐวิสาหกิจ)
  • กระบวนการคืนคลื่นความถี่ของหน่วยงานรัฐมาให้ กสทช. จัดสรรใหม่ ตามแผนที่เคยกำหนดไว้ 5-10-15 ปี อาจถูกยืดออกไปอีก
  • กสทช. ในอนาคต เลือกจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การประมูล ผลคือจัดสรรคลื่นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และสูญเสียรายได้
  • คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ อาจเข้ามาแทกรแซงการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. เพราะมีอำนาจอนุมัติแผนแม่บทของ กสทช.
Blognone Jobs Premium