ทหารออกความเห็นในงานเสวนา พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ "ไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ"

by tgst
1 February 2015 - 13:42

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (1 ก.พ.) จากงานเสวนา "สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ ร่างพรบ ความมั่นคงไซเบอร์" ที่หอสมุดสันติประชาธรรม เจริญนคร โดยมีนายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และนายณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมเสวนา พร้อมทั้งพันโทกิตติภพ เธียรสิริวงษ์ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 19 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาสังเกตการณ์

ทางด้านนายอาทิตย์ได้แสดงความเป็นห่วงต่อร่างพ.ร.บ. ที่ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่าง อาทิ การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบก่อนลงมือ, การออกคำสั่งเอกชนในการดำเนินการใดๆ หรือไม่ดำเนินการใดๆ ก็ได้, การแก้ไขเพิ่มเติมในพ.ร.บ. บางมาตราที่ผิดไปจากเจตนารมณ์เดิม, หลักการ "การขอความยินยอม" ที่หายไปจากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (อ่าน "19 ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนส่วนบุคคล (ฉบับความมั่นคงดิจิทัล)" ของทาง iLaw ประกอบ), และการระบุหน่วยงานที่ทำหน้าที่ "คุ้มครอง" กับ "ตรวจสอบ" กลับมารวมเป็นหน่วยเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามต่อความสมดุลของความถูกต้องรวมถึงการระบุตัวเลขสัดส่วนในคณะกรรมการของหน่วยงานที่เน้นไปที่ "ความมั่นคง" ขาดการเน้นความสำคัญด้าน "การคุ้มครองผู้ใช้"

ด้านพันโทกิตติภพ เธียรสิริวงษ์ ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยยังแสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์เป็นพื้นฐานหลักของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ถ้ามองลึกๆ ร่างพ.ร.บ.แต่ละครั้งที่ใช้ระยะเวลาเร่งด่วนไม่เกื้อกูลต่อผลประโยชน์ทุกส่วนอย่างครบด้าน แต่ต้องมีการพัฒนาและแก้ไข เน้นย้ำว่ารัฐบาลที่มาด้วยวาระพิเศษต้องการให้คนไทยมีความสุขมากกว่าเดิม และยังกล่าวต่อไปว่าข้อมูลที่มีการส่งต่อหรือพูดคุยกันระหว่างบุคคลผ่านทางระบบออนไลน์นั้น หากไม่ส่งปัญหาต่อภาพรวมหรือผู้อื่นก็ไม่ต้องเกรงกลัวต่อการตรวจสอบ

ก่อนหน้านี้ สฤณี อาชวานันทกุล (@Fringer) บล็อกเกอร์และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ตอบคำถามที่ถามกันบ่อยว่า "ทำไมควรค้านชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" โดยในส่วนของคำถามที่ว่า "ถ้าไม่ได้ทำผิด จะต้องกลัวอะไร?" ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามที่มีการถามกันบนอินเทอร์เน็ตอย่างมากหลังจากมีการผ่านชุดร่างพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล ทางสฤณี ได้ให้คำตอบว่า "งั้นพรุ่งนี้คุณส่งพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก โฟลเดอร์รูปภาพ อินสตาแกรม อีเมล อีแบงกิ้ง ฯลฯ ของคุณให้ตำรวจเลยดีไหม? ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด คุณก็ควรจะโอเคใช่ไหมถ้าตำรวจจะล้วงข้อมูลลับเหล่านี้ไป? ชุดกฎหมายนี้ให้อำนาจเขาทำอย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องบอกเรา ไม่มีอำนาจศาลมาถ่วงดุล และเราไม่มีสิทธิทักท้วงหรือร้องเรียนใดๆ เลย"

สำหรับข่าวแบบเต็มสามารถอ่านได้จากที่มา ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

ที่มา - มติชน, สฤณี อาชวานันทกุล (Facebook)

Blognone Jobs Premium