เมื่อวานนี้ทาง Raspberry Pi Foundation เปิดตัว Raspberry Pi 2 Model B มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงซีพียู และรองรับ Windows 10 ตอนนี้ข่าวเริ่มออกมาครบถ้วนก็มีข้อมูลออกมาเพิ่มเติม
หัวใจหลักของ RPi 2 คือ BCM2836 นั้นทาง Broadcom ทำมาให้เฉพาะ (จนตอนนี้ยังไม่มี datasheet ในเว็บ) มันคือชิป BCM2835 ตัวเดิมที่เปลี่ยนเฉพาะคอร์ซีพียูอย่างเดียว ทำให้ไม่มีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่ชิปรุ่นใหม่ๆ มักมีกันในตัว เช่น พอร์ตอีเธอร์เน็ตยังคงทำงานผ่าน USB, ส่วนวิดีโอยังคงเป็นตัวเดิม ที่เปลี่ยนไปคือชิปรุ่นใหม่ไม่มีแรมในตัวแล้ว แต่ต้องใช้ชิปแรม 8Gbit จาก Micron มาเสริมด้านล่าง ข้อดีของความเปลี่ยนแปลงน้อยๆ คืออุปกรณ์และซอฟต์แวร์เดิมน่าจะทำงานได้เหมือนเดิมแทบทั้งหมด
Raspbian แต่เดิมเป็นลินุกซ์ Debian ที่นำมาคอมไพล์ใหม่เองเพราะ ARM11 รุ่นที่ RPi ใช้งานรองรับคำสั่งเลขทศนิยม ทาง RPi จึงต้องมาคอมไพล์เองเพื่อรีดประสิทธิภาพสูงสุด พอชิปตัวใหม่เป็น ARMv7 เต็มตัวลินุกซ์รุ่นอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ทันที ส่วนของ Raspbian เองตอนนี้คอมไพล์เคอร์เนลใหม่สำหรับ ARMv7 แล้ว ที่น่าสนใจคือไฟล์อิมเมจรุ่นใหม่ยังคงนำกลับไปใช้งานกับ RPi รุ่นแรกได้ด้วย ทาง RPi ระบุว่ากำลังพิจารณาคอมไพล์ซอฟต์แวร์ใหม่นอกจากเคอร์เนล เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจจะคอมไพล์แค่ไลบรารีบางตัวเท่านั้น ส่วนอิมเมจ NOOBS ก็จะออกรุ่นใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
สำหรับ Windows 10 บน RPi 2 นั้นยืนยันว่าสามารถใช้งานได้ฟรี โดยทางไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับ Raspberry Pi Foundation มาหกเดือนแล้ว
สำหรับ RPi 2 Model A ยังไม่มีแผนการเปิดตัวก่อนปลายปี 2015 นี้ (สองรุ่นที่ผ่านมา รุ่น A มักเปิดตัวหลังรุ่น B ประมาณสี่เดือน) ถ้าใครต้องการอัพเกรดรุ่น A อาจจะต้องรอปีหน้าเลย ส่วน Compute Module เป็นแผนระยะกลาง (ไม่ชัดเจนว่าแปลว่าอะไร) ว่าจะออกโดยตอนนี้ทีมงานกำลังมุ่งสนใจกับ Model B ที่เพิ่งเปิดตัวก่อน สำหรับ RPi 1 Model B และ B+ จะผลิตและวางขายต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีความต้องการใช้งาน โดยราคาก็จะเท่าเดิมไปเรื่อยๆ เช่นกัน
ทางเว็บ Hackaday ได้รับบอร์ดไปทดสอบแล้ว พบว่าบอร์ดรุ่นใหม่กินไฟมากขึ้นเล็กน้อย RPi 1 กินไฟขณะบูต 290mA และเมื่อบูตเสร็จไม่ได้ทำงานจะกินไฟ 250mA แต่ RPi 2 กินไฟขณะบูต 340mA และบูตเสร็จ 270mA หากทำงานเต็มที่ RPi 2 จะกินไฟ 500mA ส่วนการบูต RPi 2 บูตเสร็จในเวลา 22 วินาที เทียบกับ RPi 1 ที่ใช้เวลา 41 วินาที ระยะเวลาบูตต่างกันเกือบสองเท่า
ที่มา - Raspberry Pi, Hackaday