เราอ่านความเห็นของนักวิชาการหลายรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจ-ความมั่นคงไซเบอร์ 10 ฉบับกันมาเยอะแล้ว คราวนี้มาดูความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือกรรมการ กสทช. 3 ท่าน ได้แก่
- นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
- นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์
- ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
ที่ร่วมกันแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ชุดนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของ กสทช. คือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่, ร่าง พ.ร.บ.กองทุนดิจิทัลฯ และความสัมพันธ์ระหว่าง กสทช. กับคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติฯ ครับ
ความเห็นของ กสทช. อ่านได้จากเอกสารฉบับเต็มท้ายข่าว ประเด็นโดยสรุปมีดังนี้
ปัญหาของกระบวนการออกกฎหมาย
- กระบวนการแก้ไขกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช. ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับทราบกระบวนการร่างกฎหมายเลย
- กสทช. เป็นหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง ดังนั้นยังไม่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ของ กสทช. อย่างไร
ปัญหาจากคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติฯ
- คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ ไม่มีกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน รวมถึงมีกรรมการจาก TOT, CAT, สภาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช.
- ความเป็นอิสระของ กสทช. ย่อมถูกแทรกแซงโดยคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติที่มีอำนาจลงโทษทางวินัยต่อหน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำตามนโยบาย รวมคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะคณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ ที่ทำเรื่องเดียวกับ กสทช.
- กสทช. มีแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่บังคับใช้ภาคเอกชนอยู่แล้ว ถ้าอนาคตแผนแม่บทถูกคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผลกระทบต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะ TOT/CAT ที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ อาจสั่งให้ไม่ต้องคืนคลื่นตามกำหนดได้
- กสทช. ถูกริบอำนาจเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ไม่ให้รบกวนกัน งานด้านนี้เป็นงานเทคนิคที่ กสทช. มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถ้ารัฐบาลรับไปทำก็อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ "ให้เพียงพอสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ" ขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ไม่บังคับต้องประมูลคลื่น เปลี่ยนมาใช้วิธีคัดเลือกโดยดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ให้แสวงหาผลประโยชน์
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ริบอำนาจของ กสทช. ด้านการจัดสรรความถี่สำหรับวิทยุคมนาคม แต่ไม่กำหนดอำนาจให้หน่วยงานอื่น จึงเป็นช่องว่างในการกำกับดูแล
ประเด็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ
- ร่างกฎหมายใหม่มีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันเอง เพราะยังคงมาตราที่ระบุให้ กสทช. ส่งเงินเข้ากองทุน USO เดิม แต่กลับยกเลิกมาตราที่เกี่ยวกับกองทุน USO ไปทั้งหมด
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. ต้องทำแผนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ซึ่งเมื่อยกเลิกกองทุน USO ไป กสทช. ไม่สามารถทำตามภารกิจนี้ได้
ประเด็นที่ควรแก้ไขกฎหมาย กสทช. ฉบับเดิม แต่กลับไม่ถูกแก้ไข
- กลไกตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ที่ของเดิมกำหนดให้มี "ซูเปอร์บอร์ด" (คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป.) ที่ทำงานได้ยากเพราะ กสทช. ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งข้อเสนอของโครงการ Thai Law Watch และ NBTC Policy Watch คือกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจเปิดเผยการตรวจสอบบัญชี กสทช. โดยตรง
- ปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีอำนาจตัดสินเอง ต้องยื่นเรื่องเสนอบอร์ด กสทช. ซึ่งทำให้กระบวนการล่าช้า ทางแก้ที่เสนอคือตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. โดยมีอำนาจดำเนินการมากขึ้น
- กสทช. ใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส สาเหตุเป็นเพราะ กสทช. มีอำนาจอนุมัติงบประมาณตัวเองโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ดังนั้นทางแก้คือปรับกฎหมายให้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายงบประมาณปกติ ที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. ต้องเผยข้อมูลการประชุม และข้อมูลการดำเนินการทั้งหมดภายใน 30 วัน แต่ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นควรกำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ และกำหนดบทลงโทษกรณีไม่เปิดเผยข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. รับฟังความเห็นสาธารณะก่อนออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมา กสทช. ทำไปเพื่อให้ครบกระบวนการตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานเท่าที่ควร ดังนั้นควรแก้กฎหมายให้ กสทช. ต้องศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแลมากขึ้น และต้องเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะด้วย
ประเด็นด้านการรวมบอร์ด กทค. และ กสท.
- การแยกบอร์ดอาจยังจำเป็น โดยเฉพาะฝั่งวิทยุโทรทัศน์ที่เพิ่งเริ่มกระบวนการกำกับดูแล ดังนั้นถ้าจะรวมบอร์ดจริงๆ ต้องการันตีว่างานเหล่านี้ต้องไม่สะดุด
- การรวมบอร์ดเป็นชุดเดียวแล้วคงจำนวนคณะกรรมการ 11 คน อาจมากเกินไป ควรปรับลดจำนวนกรรมการให้เหมาะสมตามไปด้วย
ที่มา - NBTC Rights