ย้อนกลับไปในช่วงปลายปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว Lumia Denim พร้อมโชว์ความสามารถใหม่ของ Lumia Camera รุ่นใหม่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ Rich Capture ที่ประกอบด้วย Auto HDR และ Dynamic Flash โดยชูจุดเด่นของการ ถ่ายก่อน ปรับทีหลัง เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ
เช่นเดียวกับฟีเจอร์ถ่ายภาพของ Lumia ตัวอื่นๆ อย่าง Cinemagraph และ Refocus การทำงานของ Rich Capture นั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมามากนัก แถมเจ้า Lumia Camera รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับ Rich Capture นี้ยังไม่มีคู่มือการใช้งานมาให้อีกต่างหาก (Nokia Camera มีคู่มือการใช้งานมาให้ในแอพ)
ด้วยเหตุดังกล่าว บทความนี้จะมาเจาะลึกฟีเจอร์ Rich Capture กัน เพื่อให้เราใช้งานได้อย่างเต็มที่และเพื่อคลายความสงสัยส่วนตัวผมเองด้วย :p
คำเตือน - ภาพเยอะครับ ระวังเน็ตไหล
Rich Capture นั้นใช้แนวทางถ่ายก่อนแล้วปรับการตั้งค่าทีหลัง หน้าจอถ่ายภาพจึงมีการตั้งค่าเพียงเปิด/ปิดแฟลชและเลือกจุดโฟกัสเท่านั้น (โฟกัสแบบจิ้มตำแหน่งที่ต้องการบนหน้าจอ ไม่ใช่เลือกระยะโฟกัสเองอย่างในโหมดโปร)
เบื้องหลังของ Rich Capture จะถ่ายครั้งละหลายภาพแล้วค่อยประมวลผลในภายหลังแบบเดียวกับภาพ HDR เราจะสามารถถ่ายภาพถัดไปได้ทันทีแม้ภาพก่อนหน้าจะยังประมวลผลไม่เสร็จ ซึ่ง Rich Capture จะเลือกการตั้งค่าที่เหมาะสมให้แต่ละภาพ โดยที่เราสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าให้ได้ภาพที่เราพอใจด้วยปุ่ม Edit Rich Capture
การทำงานของ Rich Capture แบ่งออกเป็น 3 โหมดที่จะเลือกให้เราตามสภาพแวดล้อมโดยไม่สามารถเปลี่ยนได้ดังนี้
หลายๆ คนคงรู้จักภาพแบบ HDR กันดีอยู่แล้ว ภาพ HDR นั้นจะอาศัยการถ่ายภาพที่ความสว่างต่างๆ เช่น ภาพปกติ ภาพมืดกว่าปกติ หรือภาพสว่างกว่าปกติ ก่อนจะนำส่วนต่างๆ ของแต่ละภาพมารวมกันเพื่อเก็บรายละเอียดให้มากขึ้นกว่าเดิม
ในโหมด Auto HDR นี้เมื่อสั่งแก้ไขจะมีตัวเลือกพร้อมใช้มาให้สามแบบ คือ natural ที่ปรับแต่งภาพ HDR แบบที่สีและแสงเป็นธรรมชาติ, artistic สำหรับการปรับภาพ HDR ให้เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี แต่สีและแสงจะผิดธรรมชาติไป และ no HDR สำหรับภาพต้นฉบับธรรมดา
หากไม่พอใจกับตัวเลือกที่ให้มา เรายังสามารถปรับแต่งเองได้โดยเลือกที่ customize เพื่อปรับแต่งภาพด้วยแถบเลื่อน แถบเลื่อนนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ในครึ่งล่างนั้นจากด้านล่างสุดของแถบเลื่อนจะให้ภาพแบบ no HDR เมื่อไล่ขึ้นมาภาพก็จะถูกผสมเข้ากับภาพแบบ natural HDR จนถึงตรงกลางจะเป็นภาพแบบ natural HDR และในครึ่งบนจากตรงกลางขึ้นไปถึงด้านบนสุดจะเป็นระดับการผสมภาพ natural HDR เข้ากับ artistic HDR
คลิปตัวอย่างการปรับ HDR
ภาพตัวอย่างที่ได้ ในภาพแรกนี้จะเห็นเงาที่เกิดจากใบพัดหมุนระหว่างการถ่ายด้วย ซึ่งการเกิดเงาแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการถ่าย HDR (แต่โปรแกรมระดับสูงมักจะช่วยจัดการให้ได้)
ภาพที่สองนี่ดูไม่ค่อยมีอะไรให้สมกับเป็นการถ่าย HDR ครับ แต่ถ่ายมาเพราะใช้มุมเดียวกันนี้ถ่ายโหมดอื่นๆ ด้วย
ภาพสุดท้าย เป็นภาพที่เห็นผลของ HDR ชัดๆ
ภาพมุมเดียวกับภาพที่แล้วครับ แต่เป็นภาพที่ได้จากแอพ HDR Photo Camera เพื่อเปรียบเทียบผลกัน ซึ่งออกมาใกล้เคียงกับภาพจาก Rich Capture (แต่แอพนี้ต้องรอประมวลผลให้เสร็จก่อนจึงถ่ายภาพถัดไปได้)
เทคนิคการถ่ายทีละหลายภาพของ Rich Capture นั้นมีผลให้แต่ละภาพถูกถ่ายที่เวลาห่างกันเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดความต่างกันของภาพจากการเคลื่อนไหวของวัตถุจนเกิดเป็นเงา (แบบเงาใบพัดในภาพแรก) โอกาสการเกิดเงานี้จะน้อยลงตามระยะห่างของเวลาที่ถ่ายแต่ละภาพ
ในส่วนนี้ผมลองจับเวลาของแต่ละภาพแบบง่ายๆ ด้วยการใช้ Rich Capture ถ่ายภาพนาฬิกาจับเวลา เมื่อเรามาเลือกตัวเลือกที่ต่างกันก็จะทำให้เห็นเวลาที่ถ่ายของแต่ละภาพ ภาพตัวอย่างของโหมด auto HDR ด้านล่างนี้แสดงให้เห็นเวลาบนภาพ no HDR ที่ 2.711 วินาที และเวลาบนภาพ HDR ทั้งสองแบบที่ 2.844 วินาที แสดงให้เห็นว่ามีการถ่ายภาพอย่างน้อย 2 ภาพที่เวลาห่างกัน 0.1 วินาที
ผมยังหาข้อมูลยืนยันไม่ได้ว่าการถ่ายแบบ auto HDR นี้ถ่ายทั้งหมดกี่ภาพ (ซึ่งอาจเป็น 2, 3, 5 ภาพ) แต่จากตัวเลข 0.1 วินาทีข้างต้นนั้นถือเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ (สามารถถ่ายเสร็จทั้งหมดได้ในเวลาครึ่งวินาทีแม้จะถ่ายมากถึง 5 ภาพ เมื่อเทียบกับแอพ HDR ตัวอื่นๆ เช่น HDR Photo Camera ที่ถ่าย 3 ภาพด้วยเวลามากกว่า 1 วินาที)
มาถึงโหมดที่มีความสามารถในการปรับระดับของไฟแฟลชในชื่อว่า Dynamic Flash โหมดนี้จะถูกเปิดขึ้นมาใช้งานเมื่อภาพนั้นเปิดไฟแฟลชในขณะถ่าย
ผมและคนรู้จักหลายคนมักถ่ายภาพบนโทรศัพท์โดยไม่เปิดแฟลช เนื่องจากภาพที่ได้จากการเปิดแฟลชที่ปรับระดับไม่ได้นั้นมักจะออกมาไม่ดีนัก โดยเฉพาะกรณีที่แฟลชสว่างเกินไปซึ่งจะทำให้แบบสว่าง แต่ฉากหลังมืดจนมองไม่เห็น
ในโหมดนี้เมื่อเราสั่งแก้ไขจะมีตัวเลือกพร้อมใช้มาให้สามแบบเช่นกัน แบ่งเป็น default สำหรับการปรับระดับแฟลชที่แอพคิดว่าเหมาะสมแล้ว, flash สำหรับภาพที่ถ่ายแบบเปิดแฟลชปกติ และ no flash สำหรับภาพที่ถ่ายแบบปิดแฟลชครับ และเช่นเดียวกับโหมดที่แล้ว หากทั้งสามตัวเลือกออกมาไม่ถูกใจเราก็ยังสามารถเลือกปรับความแรงของไฟแฟลชเองได้
มาดูคลิปตัวอย่างการปรับ Dynamic Flash กันบ้าง
ตัวอย่างภาพที่ได้ครับ ภาพแรกนี้ผมโอเคกับผลงานเลย ถ้าไม่เปิดแฟลชก็มืดมิด กังหันกับต้นไม้นี่มองแทบไม่เห็น ถ้าเปิดแฟลชเต็มที่ก็ทำให้ฉากหลังที่มืดอยู่แล้วก็จะมืดลงไปอีก ทั้งยังทำให้กังหันสว่างจนเด่นเกินไปด้วย
ในส่วนของภาพที่สอง หากไม่เปิดแฟลช ภาพจะมืดและมี noise มาก แต่พอเปิดแฟลชก็สว่างจนนกไม่มีเงา ทำให้ดูไม่มีมิติ การลดความแรงของแฟลชลงมาเล็กน้อยจะทำให้ภาพสว่างกำลังดี และยังคงเห็นเงาได้ชัดเจน
โหมด Dynamic Flash นี้จะถ่ายเพียง 2 ภาพเท่านั้น ผมใช้การจับเวลาแบบเดียวกับในโหมดที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพที่ถ่ายแบบไม่เปิดแฟลชได้ถ่ายที่เวลา 2.962 วินาที ตามด้วยการถ่ายแบบเปิดแฟลชที่เวลา 2.995 วินาที ภาพทั้งสองนี้ถ่ายในระยะเวลาต่างกันประมาณ 0.03 วินาทีเท่านั้น ด้วยระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่นี้น่าจะช่วยลดโอกาสในการเกิดเงาระหว่างสองภาพได้เป็นอย่างดีครับ
มาถึงโหมดสุดท้ายกันแล้วครับ โหมดนี้จะทำงานเมื่อสภาพแวดล้อมค่อนข้างมืดและไม่ได้เปิดไฟแฟลชขณะถ่าย ในสภาพแวดล้อมแบบนี้เราจำเป็นต้องเลือกระหว่างการใช้ค่า ISO ต่ำโดยเปิดหน้ากล้องนาน ซึ่งมีข้อดีที่ภาพจะมี noise น้อยแต่อาจทำให้ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหว กับการใช้ค่า ISO สูงและเปิดหน้ากล้องระยะสั้น ซึ่งก็มีข้อดีที่โอกาสเบลอของวัตถุจะต่ำแต่ภาพที่ได้ก็จะมี noise มาก
ตัวเลือกพร้อมใช้สำหรับโหมดนี้มีแค่สองตัวเลือก คือ long สำหรับการถ่ายแบบเปิดหน้ากล้องนานด้วยค่า ISO ต่ำ กับ short สำหรับการเปิดหน้ากล้องระยะสั้นด้วยค่า ISO สูง สองทั้งภาพจะถูกถ่ายด้วยระดับความสว่างใกล้เคียงกัน และยังมี customize มาให้เราเลือกปรับเลือกค่าระหว่างทั้งสองแบบได้เช่นเคย
ภาพตัวอย่างที่เลือกแบบ long มาครับ ขณะถ่ายภาพนี้กล้องนิ่ง วัตถุนิ่ง ไม่มีอะไรสั่นไหวอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องระยะสั้น
ตัวอย่างการปรับแต่งครับ จะเห็นได้ว่าเมื่อเลื่อนไปด้านบนภาพจะมี noise เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้ผมพลาดไปที่ไม่ได้เลือกตัวอย่างที่มีการเคลื่อนไหวของวัตถุด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นการเบลอของวัตถุได้ชัดเมื่อเลื่อนไปด้านล่างที่มี noise ต่ำ
โหมดนี้ผมจับเวลาระหว่างสองภาพมาเปรียบเทียบกันด้วยวิธีเดิมไม่ได้ครับ เนื่องจากภาพ long นั้นมีการเปิดหน้ากล้องนานจนทำให้ตัวเลขบนหน้าจอซ้อนกันหลายเลขจนไม่สามารถอ่านได้
มาดูในส่วนของการเก็บข้อมูลกันบ้างครับ การถ่ายด้วย Rich Capture นอกจากจะได้ไฟล์ภาพ .jpg ตามปกติแล้ว ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการปรับแต่งภาพด้วย โดยตัวแอพจะบันทึกไฟล์ .nar ขนาดประมาณ 2-3 เท่าของไฟล์ภาพ .jpg ตามปกติด้วย
ไฟล์ .nar นี้ใช้การบีบอัดข้อมูลแบบ zip ธรรมดาเท่านั้น เราสามารถดูข้อมูลภายในไฟล์ได้โดยการเปลี่ยนนามสกุลเป็น .zip แล้วเปิดดูโดยตรง ภายในจะพบไฟล์ต่างๆ สำหรับแต่ละโหมดดังนี้ครับ (คลิกที่ชื่อไฟล์เพื่อดาวน์โหลดได้)
หมายเหตุ - ไฟล์ .nar นี้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้เก็บข้อมูลภาพแบบพิเศษที่ถ่ายด้วยแอพอื่นๆ ในตระกูล Lumia เช่น Cinemagraph, Refocus และโหมด Smart เดิมด้วย
จากข้อมูลที่มีผมคาดเดาการทำงานของ Rich Camera ว่ามันจะนำภาพทั้งหมดมาซ้อนกัน การปรับภาพด้วยแถบเลื่อนนั้นจะเป็นการปรับค่าความใสของภาพแต่ละภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ซ้อนทับกัน
ตัวอย่างเช่นในกรณีของโหมด Dynamic Flash นั้น ระบบจะนำภาพปิดไฟแฟลชมาวางให้เห็นตามปกติ ภาพเปิดไฟแฟลชมาปรับให้ใส เวลาเราเลื่อนแถบเพิ่มระดับแสงแฟลช ภาพที่ถ่ายแบบเปิดไฟแฟลชก็จะถูกลดระดับความใสลง ภาพที่ได้ก็จะสว่างขึ้นเรื่อยๆ ตามภาพที่เปิดไฟแฟลช
จากคำโฆษณาและการใช้งานจริง Rich Capture ดูน่าใช้ และใช้งานได้ดีครับ เมื่อถ่ายภาพมาแล้วไม่ค่อยมีภาพเสียเพราะการตั้งค่าผิดพลาด แม้ภาพออกมาไม่ดีเราก็สามารถปรับตามต้องการได้ในระดับนึง อาการหลุดโฟกัสและสมดุลสีขาวเพี้ยนที่เป็นปัญหาใหญ่ก่อนหน้านี้ก็เกือบไม่พบแล้วใน Lumia Camera ตัวนี้ ตอนนี้ผมใช้ Rich Camera เพื่อถ่ายเกือบตลอดเวลาแล้ว ยกเว้นเวลาที่ต้องการตั้งค่าอื่นๆ เพิ่มเติมเท่านั้น
ข้อเสียของมันก็ยังคงมีอยู่บ้างครับ เนื่องจากมันอัตโนมัติเกินไป เราไม่สามารถปรับค่าความมืดหรือสว่างของภาพเองได้เลย รวมถึงเลือกไม่ได้ด้วยว่าเราต้องการใช้โหมด Auto HDR, Dynamic Flash หรือ Dynamic Exposure
ส่วนเรื่องของพื้นที่จัดเก็บภาพนั้น แม้ในแต่ละภาพจะต้องการพื้นที่บันทึกเป็น 3-4 เท่าของปกติก็ไม่ต้องกังวลครับ หลังจากที่เราปรับแต่งเสร็จแล้วเราสามารถเข้าไปลบไฟล์ .nar ทิ้งได้ทันที ภาพที่เราเลือกไว้ก็จะสามารถใช้งานได้เหมือนไฟล์ที่ถ่ายตามปกติโดยไม่ใช้ Rich Capture จุดนี้ผมมองว่าในแอพควรจะมีตัวเลือกให้ลบไฟล์ .nar ด้วย หวังแต่ว่าต่อไปคงมีการแก้ปัญหานี้หรือมีนักพัฒนาทำแอพออกมาจัดการตรงนี้ให้ครับ