เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 โดยเพิ่มเติมเนื้อหา "ข้อมูลการบริหารสิทธิ" (Rights Management Information) เป็นข้อมูลบ่งชี้ในตัวผลงานอันมีลิขสิทธิ์ และ "มาตรการทางเทคโนโลยี" (Technological Measures) คือเทคโนโลยีให้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น การเข้ารหัสหรือถอดรหัส การตรวจสอบสิทธิใช้งาน) ให้มีผลคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ผลจากการแก้กฎหมายครั้งนี้ทำให้ผู้ใดทำการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ หลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี หรือให้บริการเพื่อก่อให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ (มาตรา 53/1 53/4) และถ้าใครนำงานที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วยเช่นกัน (มาตรา 53/2)
สำหรับกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ทั้งผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูล ถ้าผู้ให้บริการไม่ได้เป็นผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดําเนินการตามคําสั่งศาล (มาตรา 32/3)
ในวันเดียวกัน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาให้การบันทึกเสียงหรือภาพในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และ
ให้ทําซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อหาผลกำไร ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้
ทั้งนี้ ฉบับที่ 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนฉบับที่ 3 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา - พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558