สำหรับคนที่ออกกำลังกายไม่หนักมาก คงสนใจ หรือซื้ออุปกรณ์ประเภทสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพมาเพื่อเก็บข้อมูลการออกกำลังกายกันบ้างแล้ว แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ประเภทนี้เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนอาจทำให้หลายคนลังเลก็เป็นได้ หลังจากผลลัพธ์ออกมาว่าสมาร์ทโฟนก็ทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน
ผลการศึกษาดังกล่าวจัดทำโดยมหาวิทยาลัยการแพทย์เพนซิลเวเนียที่ออกมาต่อเนื่องกับผลการศึกษาของนิตยสารการแพทย์ JAMA Network ที่ระบุว่าอุปกรณ์สวมใส่ประเภทสายรัดข้อมือ ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการออกกำลังกายได้ โดยครั้งนี้เน้นไปที่ประสิทธิภาพของการใช้งานสายรัดข้อมือกับการใช้งานแอพบนสมาร์ทโฟนเพียวๆ ว่ามีผลต่างกันมากน้อยเพียงใด
ในเคสการทดสอบนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 14 ราย เดินบนสายพานเป็นระยะ 500 ก้าว และ 1,500 ก้าว โดยสวมใส่เครื่องนับก้าวหนึ่งตัว และเครื่องวัดความเร่งสองตัวไว้ที่เอว ข้อมือสวมสายรัดเพื่อสุขภาพไว้สามตัว และในกระเป๋ามีสมาร์ทโฟนสองเครื่อง เครื่องหนึ่งรันสามแอพ และอีกเครื่องรันแอพเดียว
หลังจากการทดสอบหลายประเภท ผลการทดสอบเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ใช้งานจริงจัง พบว่าแอพสมาร์ทโฟนให้ผลที่ค่อนข้างเที่ยงตรงกว่า โดยคลาดเคลื่อนไปราว 6% เท่านั้น ในขณะที่สายรัดข้อมือกลับคลาดเคลื่อนมากกว่าตั้งแต่ 1.5% - 22.7% ด้วยกัน
แม้จากผลการทดสอบจะเห็นว่าแอพบนสมาร์ทโฟนให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างนิ่งกว่า แต่เมื่อแยกรุ่นของสายรัดข้อมือพบว่าสองในสามอย่าง Fitbit One และ Zip ให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำ แม้ว่าจะไม่ต่างจากแอพบนสมาร์ทโฟนมาก ในขณะที่ Nike Fuelband (ซึ่งเลิกทำไปแล้ว) บางครั้งให้ผลที่คลาดเคลื่อนไปมากเอาเรื่อง
แม้ว่ามองผ่านๆ คนอาจเห็นว่าอุปกรณ์ประเภทสายรัดข้อมือทำผลงานค่อนข้างแย่ แต่เมื่อดูจากรุ่นที่หยิบมาทดสอบนั้นค่อนข้างเก่ามาก ทำให้น้ำหนักอาจยังไม่ดีพอจะบอกลาสายรัดข้อมือเลยทีเดียว แต่ที่พอจะมั่นใจได้คือแอพบนสมาร์ทโฟนนั้นทำผลงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว สำหรับคนที่ไม่เคร่งออกกำลังกายเท่าไรครับ
ที่มา - EurekAlert!