[Tech Trend Thailand] Wearable Computing ใช้ได้จริงหรือแค่ฝัน โดย พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล

by mk
13 February 2015 - 16:53

ก่อนอื่นขออภัยเป็นอย่างสูงที่วิดีโองาน Tech Trend Thailand เมื่อปลายปีที่แล้วล่าช้าไปมาก วันนี้วิดีโอเสร็จเรียบร้อยแล้ว (อยู่ใน YouTube Tech Trend Thailand) เราจะทยอยโพสต์เนื้อหาจากแต่ละช่วงนะครับ

วิดีโอแรกที่มานำเสนอวันนี้คือการบรรยายหัวข้อ Wearable Computing: Fad or For Real เป็นการพยายามตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเวลาอ่านข่าวเกี่ยวกับ wearable computing ที่มาแรงมากๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ตกลงแล้วมันใช้งานได้จริงแค่ไหน

คนที่เราเชิญมาตอบคำถามนี้คือ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง จากโรงพยาบาลสมิติเวช นอกจากมีผลงานหนังสือตีพิมพ์หลายเล่มแล้ว คุณหมอผิงเป็นหมอที่ใกล้ชิดกับวงการเทคโนโลยีอย่างมาก มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนรายในทวิตเตอร์ @thidakarn

ตัวคุณหมอเองก็ใช้อุปกรณ์ wearable หลายอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว สามารถให้ความเห็นในฐานะแพทย์ได้ว่าแพทย์มองอุปกรณ์เหล่านี้อย่างไร และอยากเห็นอะไรจากนักพัฒนาแอพที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้

คุณหมอเริ่มจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ลงแข่งวิ่งระยะไกล แล้วเจอคนฟุบลงไปต่อหน้าเพราะเป็นโรคหัวใจ ทำให้ต้องปฐมพยาบาลและปั๊มหัวใจจนช่วยชีวิตได้สำเร็จ เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนหมอฟัง ก็ได้ความเห็นประมาณว่า "โชคดีนะที่เขาล้มลงตรงหน้าหมอ"

คุณหมอเลยตั้งคำถามว่าการที่คนเราจะมีชีวิตรอดได้นั้นเป็นเพราะแค่โชคอย่างเดียวหรือ ถ้าเรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยชีวิตคน โดยแจ้งเตือนอาการแบบฉับพลันลักษณะนี้ไปยังหน่วยกู้ชีพจะเป็นไปได้แค่ไหน

โรงพยาบาลสมิติเวชเองก็เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีนี้ เลยมีโครงการนำร่องทดสอบอุปกรณ์ wearable กับแพทย์ในสังกัดก่อน ใช้วิธีแบ่งทีมเพื่อเก็บคะแนนการนับก้าวเดิน และการบริโภคอาหาร ผลจากการทดสอบก็พบว่ามีคนกลุ่มที่เข้าใจและใช้งานได้ทันที กับกลุ่มที่ทดลองใช้อยู่ไม่กี่วันแล้ววางทิ้งไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ของผู้ผลิตอุปกรณ์ลักษณะนี้ที่จะต้องหาวิธีจูงใจให้คนใช้งานได้ต่อเนื่อง

ในแง่ของความแม่นยำในการวัดค่าสถิติของอุปกรณ์ fitness tracker งานวิจัยของต่างประเทศพบว่ายังไม่ค่อยแม่นยำนัก โดยมักจะวัดอัตราการเผาผลาญแคลอรีเกินจริง ซึ่งในมุมมองของแพทย์แล้วยังถือว่าไม่แม่นยำพอ

โดยสรุปแล้ว อุปกรณ์ wearable ยังถือว่าใหม่มากสำหรับวงการการแพทย์ ซึ่งก็คงต้องอาศัยเวลาทดสอบอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและน่าจับตา เช่น คอนแทคเลนส์วัดระดับน้ำตาลในเลือดของกูเกิล หรืออุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ (vital sign monitoring) เป็นต้น

สไลด์นำเสนอของหมอธิดากานต์

Blognone Jobs Premium