รีวิว Dell XPS 13 (2015) เมื่อ Dell ทำลายข้อจำกัดของโน้ตบุ๊กพีซีแบบเดิมๆ

by mk
16 February 2015 - 08:09

หลังจากวงการโน้ตบุ๊กดูจะหยุดนิ่ง ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาได้สักพักใหญ่ ช่วงต้นปีนี้ Dell ที่เงียบไปนานก็สร้างความฮือฮาให้วงการอีกครั้งด้วย XPS 13 รุ่นใหม่ มาพร้อมกับจุดขายขอบจอสุดบาง Infinity Display จนทำให้ยัดจอ 13 นิ้วลงมาในบอดี้โน้ตบุ๊กเกือบ 11 นิ้วได้

Blognone เคยโพสต์บทความ ลองจับ Dell XPS 13 มาก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน Dell Thailand ก็ส่งเครื่องมาให้เรารีวิวแบบละเอียดครับ

Dell XPS 13 รุ่นปี 2015 ใช้รหัสรุ่นว่า 9343 โดยรุ่นที่ขายในสหรัฐอเมริกา ทุกตัวใช้ Intel Core 5th Gen (Broadwell) และ SSD 128GB โดยมีสเปกให้เลือกหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ Core i3-5010U, แรม 4GB, SSD 128GB ในราคา 799 ดอลลาร์

หน้าจอของ XPS 13 มีให้เลือก 2 แบบคือ Full HD 1920x1080 แบบไม่สัมผัส และจอสัมผัสความละเอียดสูง UltraSharp QHD+ 3200x1800 ความละเอียด 276 ppi ถ้านับจำนวนพิกเซลแล้วเยอะกว่า Full HD ถึง 5 เท่า

รุ่นที่ Dell ประเทศไทยส่งมาให้รีวิวเป็นตัวท็อปที่สุดคือ Core i7-5600U 2.6GHz, แรม 8GB, SSD 256GB จอสัมผัส 3200x1800 ครับ (สเปกละเอียดบนเว็บ Dell Thailand) ราคาอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 62,999 บาท

ดีไซน์

Dell XPS 13 ใช้ดีไซน์ภายนอกเป็นโลหะอะลูมิเนียมตามสมัยนิยม ฝาด้านหน้าไม่มีอะไรเลยนอกจากโลโก้ Dell

ตัวเครื่องออกแบบเป็นรูปลิ่ม (แนวเดียวกับ MacBook Air) ตามสเปกบอกว่าด้านที่หนาที่สุด หนา 15 มิลลิเมตร ส่วนด้านแหลมหนา 9 มิลลิเมตร

พอร์ตเชื่อมต่ออยู่ข้างซ้ายและขวาทั้งหมด โดยฝั่งซ้ายเป็นสายชาร์จ, Mini DisplayPort, USB, ช่องเสียบหูฟัง และปุ่มกดเพื่อแสดงสถานะแบตเตอรี่

พอร์ตเชื่อมต่อฝั่งขวามีช่องเสียบ SD ขนาดเต็ม, USB, Kensington Lock

ด้านหลังเครื่องไม่มีอะไรเลย เป็นบานพับจอล้วนๆ

ด้านใต้เครื่องมีช่องระบายอากาศ และช่องปิดสำหรับถอดเพื่อใส่แรม (ช่องระบายอากาศยังมีซ่อนอยู่ใต้บานพับจออีกจุดหนึ่ง) อ่านข่าวการแกะเครื่องของ iFixit ประกอบ

เมื่อเปิดฝาจอขึ้นมาจะพบว่า ด้านในเครื่องใช้วัสดุที่แตกต่างจากฝาด้านนอก Dell บอกว่ามันคือคาร์บอนไฟเบอร์ที่ออกแบบให้สัมผัสนุ่มเล็กน้อย (soft-touch) ข้อดีคือทนทานไม่แพ้อะลูมิเนียม แต่เบากว่า และเย็นกว่าอะลูมิเนียม

ตัวคาร์บอนไฟเบอร์ทำเป็นลายคล้ายตาข่ายเหมือนฝาหลัง Motorola ตระกูล RAZR แต่จริงๆ ผิวมันเรียบนะครับ แค่ทำเป็นลายให้ดูสวยๆ

โดยรวมถือว่างานประกอบดีเยี่ยม วัสดุเจ๋ง จับแล้วรู้สึกพรีเมียมมากครับ

คีย์บอร์ดและทัชแพด

หน้าตาของคีย์บอร์ดและทัชแพดแบบเต็มๆ รุ่นที่วางขายในไทยสกรีนปุ่มภาษาไทยมาให้เรียบร้อย การวางปุ่มเป็นแบบมาตรฐานไม่มีอะไรพิสดาร ติดแต่ว่าไม่มีปุ่ม Home/End แยก ต้องกด Fn ตลอดเวลา ก็อาจพิมพ์ยากอยู่บ้างสำหรับบางคน

ปุ่มคีย์บอร์ดเป็นแบบ chiclet ตามสมัยนิยมเช่นกัน คีย์บอร์ดเป็นขนาดเต็ม (full-size) พิมพ์ได้สบาย ความลึกของปุ่มอาจจะน้อยไปนิดเพราะข้อจำกัดเรื่องความบางของเครื่อง

นอกจากนี้คีย์บอร์ดของ XPS 13 มีไฟ backlight ปรับสว่างได้ 2 ระดับ

ค่าดีฟอลต์ปุ่ม F1-F12 เป็นพวกปรับความสว่างจอ-ปรับระดับเสียง แต่สามารถแก้กลับได้ใน BIOS

ทัชแพดของ XPS 13 เป็นแบบกดได้ทั้งแผ่น แต่ Dell แก้ปัญหาหลายๆ อย่างของทัชแพดโน้ตบุ๊กสายวินโดวส์ โดยรองรับสเปก Precision Touchpad ของไมโครซอฟท์ที่เพิ่งออกมาในเร็วๆ นี้ ผลคือมันแม่นยำขึ้นมากทั้งในแง่การสัมผัส คลิก เลื่อนหน้าจอ (โน้ตบุ๊กวินโดวส์ทุกตัวควรทำได้ระดับนี้)

หน้าจอ Infinity Display

จุดเด่นที่สุดของ XPS 13 คือการยัดหน้าจอขนาด 13.3" ลงมาในบอดี้โน้ตบุ๊กเกือบเท่ารุ่น 11 นิ้ว โดย Dell เรียกขอบจอสุดบางนี้ว่า Infinity Display (ความหนาขอบจอลดลงเหลือแค่ 5.2 มิลลิเมตร)

หลังจากทดลองใช้งานจริงแล้วพบว่ามันเจ๋งมากๆ ทั้งในแง่ขนาดและคุณภาพการแสดงผลครับ ข้อเสียเดียวที่เจอคือขอบจอมันบางมากจนเลี่ยงไม่ให้ "นิ้วโดนจอ" เวลาจับขอบได้ยาก ตรงนี้ต้องขยันเช็ดกันสักหน่อยนึง

Dell อธิบายเรื่องนี้ในบทสัมภาษณ์กับ Forbes ว่าใช้จอ IPS ของ Sharp มุมมอง 170 องศา โดยนำเทคโนโลยีขอบจอบางจากจอทีวีมาใช้กับโน้ตบุ๊กด้วย เทคโนโลยี IGZO ของ Sharp ทำให้ช่วยลดอัตราการใช้พลังงานลงได้มาก

นอกจากจอสัมผัสความละเอียดสูง 3200x1800 แล้ว Dell ยังใช้กระจกจอ Gorilla Glass ครอบไว้อีกชั้นเพื่อความทนทาน โดยรวมแล้วจอของ XPS 13 ดีเยี่ยม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกับการสะท้อนแสงพอสมควร วิธีแก้ที่ช่วยได้คือปรับความสว่างสู้ (จอนี้ทำได้ 400 nit) ซึ่งก็ต้องยอมลดชั่วโมงการใช้แบตเตอรี่ลงมา

การที่ขอบจอมีขนาดเล็กเกินไป ส่งผลกระทบตามมาอีกอย่างคือ "กล้องหน้า" ไม่มีที่อยู่ ต้องหลบมุมมาอยู่ตรงมุมซ้ายล่างที่ขอบจอใหญ่ขึ้นมาหน่อย การใช้งานจึงดูแปลกๆ เพราะมุมกล้องกลายเป็นมุมเงยแบบเฉียงๆ แทน ใครที่ทำ video call ผ่าน Skype หรือ Hangouts อาจรู้สึกว่ามันตลกๆ อยู่บ้าง

Dell XPS 13 ปะทะ MacBook Air 11

เมื่อ Dell XPS 13 ชูจุดขายเรื่องจอใหญ่ในบอดี้เล็ก (the smallest 13-inch on the planet) เราจึงขอนำมาเทียบกับคู่แข่งอย่าง MacBook Air สักหน่อย เราพบว่าคู่แข่งที่เหมาะสมของ XPS 13 คือ MacBook Air รุ่น 11" มากกว่ารุ่น 13"

เทียบขนาดกันแล้ว MacBook Air 11 เล็กกว่า XPS 13 อยู่นิดเดียว

เทียบความบาง พบว่า MacBook Air 11 ยังบางกว่า XPS 13 อยู่บ้าง

แต่เมื่อเทียบขนาดจอกัน ก็ชัดเจนว่า XPS 13 มีหน้าจอใหญ่กว่า MacBook Air 11 มาก ในขนาดเครื่องที่พอๆ กัน

ตรงนี้ต้องรอดูว่าแอปเปิลจะสามารถแก้เกมด้วย MacBook Air รุ่นใหม่ตามที่มีข่าวลือหรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ต้องบอกว่า Dell ชนะแบบใสๆ ครับ

สิ่งที่ XPS 13 ด้อยกว่า MacBook Air 11 คือน้ำหนัก ตามสเปกแล้ว XPS 13 รุ่นจอสัมผัสหนัก 1.26 กิโลกรัมครับ, รุ่นจอปกติหนัก 1.18 กิโลกรัม ส่วน MacBook Air 11 หนัก 1.08 กิโลกรัม, รุ่น 13 หนัก 1.35 กิโลกรัม

เทียบกันแล้ว XPS 13 เบากว่า Air 13 แต่ยังหนักกว่า Air 11 นอกจากนี้ผมรู้สึกว่า XPS 13 ยังเฉลี่ยน้ำหนักได้ไม่ดีเท่า ตอนถือเทียบกันแล้วให้ความรู้สึกว่าหนักกว่าพอตัว แม้ว่าเลขบนสเปกจะไม่หนีกันมาก

แต่ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปแล้ว XPS 13 ถือว่าเบากว่ามาตรฐานแล้ว เมื่อเทียบกับฟีเจอร์ที่อัดมาให้ทั้งหน้าจอ คีย์บอร์ด และสเปกภายใน

สายชาร์จของ Dell XPS 13 มีขนาดค่อนข้างเล็ก ตรงหัวมีไฟแสดงสถานะการชาร์จให้เป็นลูกเล่นด้วย

ซอฟต์แวร์

Dell XPS 13 ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 8.1 ที่มีแอพ bloatware ติดมาด้วยน้อยมาก หลักๆ แล้วมีแค่ซอฟต์แวร์ของ Dell เองไม่กี่ตัว และซอฟต์แวร์ของ Intel (เช่น Rapid Storage หรือ WiDi) เท่านั้น

ซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจคือ Dell Power Manager ที่ช่วยปรับแต่งการใช้พลังงานได้อย่างละเอียดมาก ถึงระดับกำหนดช่วงเวลาชาร์จไฟเพื่อรักษาอายุของแบตเตอรี่ และการควบคุมอุณหภูมิของเครื่อง เสียดายว่ามีเวลาทดสอบฟีเจอร์นี้กันน้อยไปหน่อยเลยไม่ได้ลองละเอียดครับ

แบตเตอรี่

Dell โฆษณาว่า XPS 13 มีแบตเตอรี่ที่อึดกว่าเดิมมาก เป็นเพราะเทคโนโลยีจอของ Sharp ร่วมกับ Core Broadwell ที่จัดการพลังงานดีขึ้น

ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ Dell คุยไว้คือสูงที่สุด 15 ชั่วโมงสำหรับรุ่นจอ Full HD และ 11 ชั่วโมงสำหรับจอ QHD+

อย่างไรก็ตาม การทดสอบของเราในรุ่น QHD+ พบว่าแบตเตอรี่ของ XPS 13 ไม่ได้อยู่นานขนาดนั้น โดยพบว่าอยู่ได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น ตรงนี้เท่าที่ผมเช็คจากรีวิวของเว็บต่างประเทศ พบว่าผลการรีวิวแตกต่างกันไปคนละทาง เช่น The Verge ทดสอบรุ่นจอสัมผัส QHD+ อยู่ได้ 6:40 ชั่วโมง, Engadget ได้ 7:36 ชั่วโมง ส่วน Ars Technica ทดสอบท่องเว็บได้นาน 9 ชั่วโมง

ผมลองรันโปรแกรม BatteryInfoView เพื่อดูสถิติ พบว่าเป็นแบตของ Sanyo ความจุ 52,000 mWh ถ้าเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุดแล้วรัน Chrome มีอัตราการปล่อยประจุ (discharge rate) ที่ประมาณ 10,000 mW แต่ถ้าลดความสว่างหน้าจอเหลือน้อยที่สุด ตัวเลขจะลดลงเป็น 3000-5000 mW เท่านั้น ในการใช้งานจริงถ้าอยากประหยัดแบต การลดความสว่างหน้าจอลงเลยช่วยได้มาก

ระยะการใช้แบตของ XPS 13 ที่อยู่ราว 6-7 ชั่วโมงทำให้การพกพาออกนอกบ้านต้องพกสายชาร์จไปด้วย (ยังไม่ถึงขั้นยกไปทำงานตอนเช้า แล้วทำงาน 8 ชั่วโมงแบบไม่ต้องเสียบแบต) อันนี้ยังถือเป็นจุดอ่อนของ XPS 13 ที่ยังทำไม่ได้แบบที่เคลมไว้

สรุป

Dell XPS 13 ถือเป็นโน้ตบุ๊กของปี 2015 ที่น่าประทับใจมากตัวหนึ่ง มันทำลายข้อจำกัดของโน้ตบุ๊กเดิมๆ ไปหลายเรื่อง ทั้งในแง่ขนาดและคุณภาพของหน้าจอ ถือเป็นการวางมาตรฐานใหม่ให้คู่แข่งร่วมวงการโน้ตบุ๊กพีซีต้องปรับตัวเองให้ดีขึ้น

ปัญหาที่สำคัญของ Dell XPS 13 คงเป็นเรื่องแบตเตอรี่ที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกหน่อย (ไม่รู้ว่ารุ่นจอ Full HD เป็นอย่างไรบ้าง) และสุดท้ายคือเรื่อง "ราคาในไทย" ที่พุ่งสูงเกิน 6 หมื่นบาทเพราะมีแต่รุ่นท็อปเข้ามารุ่นเดียว ในขณะที่ในสหรัฐมีรุ่นราคาถูกกว่าให้เลือกมากมาย และรุ่นถูกที่สุดราคาเพียง 799 ดอลลาร์หรือไม่ถึง 3 หมื่นบาทด้วยซ้ำ ใครที่อยากได้แต่งบน้อยคงต้องพึ่งเครื่องหิ้วอย่างเดียวครับ

ข้อดี

  • โน้ตบุ๊กหน้าจอ 13" ในบอดี้ขนาด 11" ตอนนี้ยังไร้คู่แข่งมาทาบรัศมี
  • หน้าจอ QHD+ คุณภาพสูง สวย ชัด ละเอียด สีสันสดใส ฯลฯ
  • ขอบจอบาง Infinity Display มันดีจริงๆ
  • วัสดุหรูหรา ทั้งอะลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ งานประกอบเนี้ยบ
  • คีย์บอร์ดขนาดเต็มพร้อม backlight
  • ทัชแพดแบบ Precision Touchpad ทำงานได้ดีกว่าทัชแพดพีซีเดิมๆ มาก

ข้อเสีย

  • คีย์บอร์ดตื้นไปนิด และไม่มีปุ่ม Home/End แยก (ปัญหาส่วนตัว)
  • แบตเตอรี่อยู่ไม่ทนตามที่โฆษณาไว้
  • ตำแหน่งของเว็บแคมอาจแปลกๆ ไปบ้างเวลาใช้งาน
  • Dell Thailand นำเข้ามาแค่รุ่นท็อป อยากได้ต้องยอมทุ่มทุน
Blognone Jobs Premium