รีวิว ThinkPad X250: ยอมถอยหนึ่งก้าว ปรับทัศนคติให้ตรงกัน

by neizod
22 February 2015 - 23:19

ช่วงหลังๆ มานี้แฟน ThinkPad หลายคนคงจะผิดหวังกับท่าทีของ Lenovo ที่ดูเหมือนจะเอาแต่ใจฝ่ายเดียว ไม่ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่จากผู้ใช้งานจริง ทั้งการเปลี่ยนไปใช้คีย์บอร์ดแบบ chiclet ยุบรวมปุ่มควบคุมเครื่องเข้ากับปุ่มฟังก์ชัน เอาไฟแสดงสถานะเครื่องออก เปลี่ยนไฟฉายจากด้านบนเป็นไฟ backlit ใต้คีย์บอร์ด เพิ่มความโค้งเว้าและลดความหนาลง เปลี่ยนไปใช้หัวชาร์จแบบเหลี่ยม จนกระทั่งตัดปุ่มกดที่ใช้คู่กับ TrackPoint อันเป็นเอกลักษณ์ทิ้งไป

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดแรงต้านอย่างมหาศาล แต่ก็ดูเหมือนว่า Lenovo ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวเท่าใดนัก กลับผลักดันดีไซน์แบบใหม่จนสุดซอย ประหนึ่งว่าจะแปลงร่าง ThinkPad ให้กลายเป็น MacBook สีดำยังไงยังงั้น

แต่โชคก็ยังกลับมาเข้าข้างแฟนพันธุ์แท้กล่องข้าวญี่ปุ่นอยู่บ้าง เพราะใน ThinkPad X250 รุ่นล่าสุดที่เพิ่งวางขายไม่นานนี้ Lenovo ก็ยอมถอยกลับมาติดปุ่มกดให้ TrackPoint เหมือนเช่นวันวานแล้วครับ

สำหรับแฟนๆ ThinkPad ที่ยังงอนกันอยู่ รีวิว X250 นี้ อาจช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า ตกลงแล้วจะยอมอดทนรับความเปลี่ยนแปลงแล้วศึกษากันต่อไป หรือแยกทางกันเดินดีกว่าเพราะคงไม่มีวันกลับมาเหมือนเก่าครับ

เครื่องที่นำมารีวิวนี้เป็นตัวถูกสุดที่วางขายในไทยนะครับ สเปคเต็มๆ คงหาอ่านกันได้ไม่ยาก ขอข้ามรายละเอียดแล้วไปดูตัวเครื่องกันเลยดีกว่า

รูปลักษณ์ภายนอก

ด้านซ้ายเริ่มจากพอร์ตชาร์จไฟ (ซึ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นหัวเหลี่ยมในรุ่นที่แล้ว) ถัดมาเป็นช่องระบายความร้อน ตามมาด้วยพอร์ต VGA พอร์ต USB 3.0 ตบท้ายด้วย Mini DisplayPort

ด้านขวามีช่องล็อก Kensington ไล่ลงมาเป็นพอร์ต LAN ช่องอ่านการ์ด SD ช่องใส่ซิมการ์ด (ไม่ได้ใช้ในรุ่นนี้) USB 3.0 (ด้านนี้สำหรับจ่ายไฟขณะปิดเครื่อง) จบด้วยช่องเสียบหูฟัง/ไมโครโฟน

หน้าหลังเรียบๆ ไร้พอร์ตต่อเชื่อมใดๆ เพิ่มเติมครับ

ด้านล่างของเครื่องมีแบตเตอรี่กับพอร์ต docking station ส่วนฝาหลังเป็นแบบแผ่นใหญ่แผ่นเดียวทั้งแผ่น

ผมไม่ได้แกะฝาหลังออกมาให้ดูเพราะขาดอุปกรณ์ครับ แต่เท่าที่เปิดสเปคผ่านตาคร่าวๆ พบว่ามีจุดสำคัญคือ

  • มีช่องใส่ RAM ให้แค่แถวเดียว
  • ช่องว่างสำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วงเป็น M.2
  • มีแบตเตอรี่อีกก้อนอยู่ด้านในเครื่อง (ความจุเท่ากันกับก้อนที่ถอดได้)

คีย์บอร์ดเป็นแบบ chiclet ที่ยังคงหน้าตาเดิมจาก X240 มาเลย แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับคีย์บอร์ดเล็กๆ แบบนี้ ก็จะมีจุดสังเกตที่น่าสนใจคือ

  • ปุ่ม Esc กับ Delete มีขนาดใหญ่กว่าปุ่มอื่นๆ ในแถวเดียวกัน ซึ่งก็ดีแล้วเพราะเป็นปุ่มสำคัญที่ไม่ควรกดพลาดง่าย
  • แต่ปุ่ม End กับ Insert กลับโดนยุบรวมเป็นปุ่มเดียวกันเพราะพื้นที่ไม่พอ
  • มีช่องว่างระหว่างปุ่มฟังก์ชันให้คลำบอกตำแหน่งปุ่มได้
  • ปุ่ม Alt, PrtSc และ Ctrl ด้านขวามือจะเล็กกว่าปุ่มอื่นๆ เพราะโดนเบียดจากปุ่มลูกศร
  • ไม่มี ThinkLight ไว้ให้ส่องคีย์บอร์ดแล้ว แต่การกด Fn+Spacebar จะเป็นการเปิดไฟ backlit จากใต้คีย์บอร์ดแทน
  • สำหรับคนที่ไม่ชินกับปุ่มควบคุมเครื่องที่อยู่แถวบนสุด (เพิ่ม/ลด/ตัดเสียงลำโพง คุมความสว่างหน้าจอ) สามารถกด Fn+Esc เพื่อล็อกให้ใช้ปุ่มฟังก์ชันเป็นค่ามาตรฐานแทนได้

ส่วนตุ่มแดงก็ยังไม่หายไปไหน และยังได้ปุ่มกดที่ใช้คู่กับ TrackPoint กลับคืนมาทั้ง 3 ปุ่มด้วย

จอเป็นแบบป้องกันการสะท้อนแสงนะครับ สีที่ได้จะดูสดน้อยกว่าจอแก้วทั่วไปอยู่ แต่ก็แลกมากับการทำงานในที่มีแสงจ้าได้ดีกว่าเช่นกัน

ซอฟต์แวร์ภายใน

เป็นเรื่องน่าแปลกใจเล็กน้อยที่ ThinkPad ในไทย ไม่ได้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows อย่างไรก็ตาม ผมได้ทดสอบกับทั้งสองระบบปฏิบัติการ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้งานทั้งคู่ครับ

Windows

หากติดตั้งแค่ตัวระบบปฏิบัติการ Windows 8 พร้อมไดร์เวอร์ที่ถูกเลือกให้อัตโนมัติเพียงอย่างเดียว เวลาใช้งานจะมีปัญหาเล็กน้อยตรงการกดปุ่มคู่กับ TrackPoint ทำงานได้ไม่ครบทุกฟังก์ชันครับ ซึ่งก็แก้ได้โดยการโหลดโปรแกรมตระกูล ThinkVantage จากหน้า support มาลงให้ครบ (อาจนับว่าเป็นจุดที่ควรติหากมองว่าโปรแกรมเหล่านี้เป็น bloatware)

ส่วนระบบอื่นๆ ดูเรียบร้อยดีครับ เช่น ตอนชาร์จไฟจะเห็นแบตเตอรี่ 2 ก้อนครบถ้วน (ก้อนที่อยู่ในเครื่องจะถูกชาร์จก่อนก้อนที่ถอดได้) ตรงนี้ผมไม่ได้ลองวัดเวลาจริงว่าถ้าเล่นเรื่อยๆ จนหมดจะได้เวลาไปเท่าไหร่ แต่เลขประมาณเวลา 6 ชั่วโมงของ Windows ก็ถือว่าเชื่อถือได้พอสมควรครับ

Linux

ผมลองทั้ง Ubuntu 14.10, 12.04 LTS และ Arch Linux ก็พบปัญหาที่ว่า ปุ่มคลิกซ้ายกับคลิกขวาที่ใช้คู่กับ TrackPoint มันทำงานไม่ได้เลยครับ (มีคนพบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน) ปัญหาที่กระทบ distro หลายรุ่นแบบนี้น่าจะต้องรอการแก้จากทาง kernel เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกมากเพราะใน ThinkPad รุ่นก่อนหน้าที่ Lenovo จะเอาปุ่มกดคู่ TrackPoint ออก ผมจำได้ว่าลงระบบปฏิบัติการเสร็จ ก็ใช้งานทุกอย่างได้อย่างปรกติสุขเลย

ปัญหายิบย่อยอื่นๆ ก็เช่น Ubuntu แสดงผลเวลาใช้งานที่เหลือของแบตเตอรี่เพียงก้อนเดียว ผมทดลองถอดแบตเตอรี่ขณะเปิดเครื่อง ตัวระบบปฏิบัติการก็สลับไปใช้แบตเตอรี่อีกก้อนได้โดยเครื่องไม่ดับครับ

สรุป

ถือว่าเป็นการกลับตัวกลับใจที่ดีครับ แต่ก็ยังไม่น่าให้อภัยซักเท่าไหร่ (โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้กับ Linux) แต่ถ้ายังไม่รีบ ไม่ตัดใจแล้วหันไปมองโน๊ตบุ๊คสวยๆ จากที่อื่น ก็ยังพอมีลุ้นว่ารุ่นหน้าจะปรับปรุงตัวจนกลับมาเข้าร่องเข้ารอยดังเดิมครับ

ข้อดี

  • ปุ่มกดคู่กับ TrackPoint กลับมาแล้ว
  • แบตเตอรี่ 2 ก้อน อยู่ได้ 6 ชั่วโมง

ข้อเสีย

  • ให้ช่องต่อ USB แค่ 2 พอร์ต
  • ให้ช่องใส่แรมมาแค่แถวเดียว
  • ช่องต่อ M.2 แทนที่จะเป็น mSATA
  • บั๊กปุ่มกด TrackPoint บน Linux
Blognone Jobs Premium