เมื่อคืนนี้ FCC หรือ กสทช. ของสหรัฐอเมริกา ลงมติสนับสนุนกฎเกณฑ์ net neutrality ห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) บล็อคหรือบีบความเร็วทราฟฟิกประเภทใดเป็นพิเศษ
ประเด็นเรื่อง net neutrality เป็นประเด็นถกเถียงในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว ที่มาของเรื่องนี้คือ ISP มักต้องการบีบทราฟฟิกของผู้ให้บริการออนไลน์บางประเภท (เช่น Netflix หรือ YouTube) ให้ส่งข้อมูลได้ช้าลง และขายสิทธิการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้น (fast lane) ในแพ็กเกจที่ต้องจ่ายเพิ่ม
บริษัทสายไอทีอย่าง Netflix, Google, Facebook สนับสนุนนโยบาย net neutrality หรือทราฟฟิกทุกอย่างต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนบรรดา ISP และผู้ให้บริการโทรศัพท์รายใหญ่ๆ อย่าง AT&T, Verizon ต่อต้านนโยบายนี้
FCC เคยออกกฎ net neutrality มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2010 แต่กฎเกณฑ์ไม่เข้มงวดมากนัก ทำให้ Verizon ยื่นฟ้องและชนะคดีจนกฎแทบไม่มีผลบังคับใช้ รอบนี้ FCC กลับไปทำการบ้านมาใหม่ให้กฎเข้มงวดขึ้น โดยปรับเงื่อนไขให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็น "สาธารณูปโภคพื้นฐาน" เทียบเท่าการโทรศัพท์คุยด้วยเสียง จึงถูกกำกับดูแลเข้มงวดกว่าตามกฎหมายโทรคมนาคมของสหรัฐ (Communications Act)
มุมมองเรื่อง net neutrality ภายใน FCC เองก็แยกเป็นสองฝ่ายชัดเจน โดยกรรมการเสียงข้างมากที่แต่งตั้งโดยพรรคเดโมแครตสนับสนุน net neutrality ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยฝ่ายรีพับลิกันคัดค้าน ผลการลงมติคือ 3-2 โดยฝ่ายเดโมแครต (รวมถึงประธาน FCC คือ Tom Wheeler) ลงมติ 3 คะแนนสนับสนุนกฎ net neutrality ฉบับใหม่
หลัง FCC ลงมติ 3-2 ทางบริษัทโทรคมนาคมทั้ง AT&T และ Verizon ก็ออกมาแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อมติครั้งนี้ โดยกรณีของ Verizon ไปไกลถึงขนาดแถลงการณ์เป็นรหัสมอร์ส มีเนื้อหาโจมตี FCC ว่ากำลังพาชาวอเมริกันย้อนยุคไปยังปี 1934 ปีเดียวกับที่กฎหมาย Communications Act ผ่านสภา (ใครอยากถอดโค้ดรหัสมอร์ส เข้าไปดูได้ที่ Verizon)
ที่มา - Ars Technica