เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปลองจับ Dell Latitude 7350 และ Venue 11 Pro จากงานบล็อกเกอร์ของ Dell ประเทศไทยที่ร้าน Mejico ในโซน Groove ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ครับ
Dell Latitude 7350 และ Venue 11 Pro เป็นหนึ่งในซีรีส์ใหม่ของโน้ตบุ๊ก Dell ประจำปี 2015 (ซึ่งจริงๆ ออกมาแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว) ทาง Blognone ก็ได้มีทั้งรีวิวและลองจับกันแล้วทั้ง ลองจับ Dell Latitude 7250 และ รีวิว Dell XPS 13 (2015) ซึ่งเป็นไลน์การผลิตระดับธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพในการทำงาน และเน้นความสวยงาม โดยส่วนของ Latitude 7350 และ Venue 11 Pro นี้ก็จะเน้นเรื่องการพกพา และระยะเวลาในการใช้งานครับ แต่เนื่องจากระยะเวลาในการลองจับค่อนข้างจำกัด ทำให้ข้อมูลระยะเวลาที่ใช้งานได้จริงยังไม่แน่นอนนะครับ
Spec เต็มๆ สามารถอ่านได้ในข่าวเก่าของ Latitude 7350 และ Venue 11 Pro ครับ
คำเตือน: รูปค่อนข้างเยอะ ขนาดหน้าเว็บเกิน 1 MB โปรดหลีกเลี่ยงการเข้าชมผ่าน Mobile Data
ทั้งสองตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊กแบบ 2-in-1 คือสามารถถอดจอออกมาใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้ทันที ทำให้ Latitude 7350 กลายเป็นแท็บเล็ตที่มีขนาดจอถึง 13" ที่ความละเอียด Full HD และหน้าจอสัมผัสได้และทนขีดข่วนด้วย Gorilla Glass และ Venue 11 Pro ก็เป็นแท็บเล็ตขนาด 11" ที่พกพาสะดวกขึ้นครับ
เริ่มที่ตัวพี่อย่าง Latitude 7350 ก่อนนะครับ ทาง Dell แจ้งว่าบอดี้เป็นแมกนีเซียมอัลลอย ทำให้มีน้ำหนักมากกว่ารุ่นอื่นๆ พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามจากที่ลองจับยกไปยกมาพบว่าให้ความรู้สึกแข็งแรงดีมากครับ โดยที่น้ำหนักก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเกินที่จะทำให้ยกไปมาไม่สะดวก
ความหนาของจอและตัวเครื่องประมาณไม่ถึง 2 เซนติเมตร ไม่ถึงกับบางมากแต่ก็ไม่หนามากจนพกพาไม่สะดวกครับ
จอภาพความละเอียด Full HD บนขนาดจอ 13.3" ให้ความคมชัดดีมากครับ นอกจากนี้หลังจากแตะๆ เล่นอยู่พักใหญ่ๆ ก็ยังไม่ค่อยเห็นรอยนิ้วมือติดบนจอเท่าไหร่ด้วย และ Gorilla Glass ก็ช่วยแก้ปัญหารอยขีดข่วนได้พอควร มีการทดสอบ Drop Test ความสูงเกือบๆ ฟุตโดยด้านจอคว่ำลงบนโต๊ะให้ดูด้วยก็ไม่พบร่องรอยของรอยขีดข่วนครับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นจอแบบสะท้อนแสงจึงอาจทำให้ใช้งานในที่ที่แดดจัดๆ ได้ไม่สะดวกนัก
อย่างไรก็ตามเหมือนว่าความละเอียดที่ค่อนข้างสูงของจอจะส่งผลกระทบกับบางโปรแกรมพอสมควร ดูตัวอย่างรูปด้านล่างนี้ตรงส่วนของข้อความที่ปรากฎบนไอคอนซึ่งแสดงบน Desktop และข้อความที่อยู่ในหน้าจอ Device Manager ประกอบ จะสังเกตว่าข้อความใน Device Manager ค่อนข้างเบลออย่างเห็นได้ชัด (คลิกที่รูปเพื่อดูรูปขนาดใหญ่ได้ครับ)
พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ จะอยู่ทางด้านหลังของตัวฐานที่ทำหน้าที่เป็น Dock เกือบทั้งหมดครับ ฝั่งซ้ายจะมีพอร์ต USB 3.0 , DisplayPort และ Kensington Lock ส่วนฝั่งขวาจะเป็น USB 3.0 อีก 1 พอร์ตและช่องเสียบไฟชาร์จ (รูปมืดพอควร ขออภัยด้วยครับ)
ตัวฐาน Dock บางมาก และให้ความรู้สึกแข็งแรงดีครับ ยกโบกไปมาไม่มีเสียงกรอบแกรบ คีย์บอร์ดให้สัมผัสที่กำลังดี (จากความรู้สึกของผมเอง) แต่มีรายละเอียดบางอย่างที่ขอยกไปพูดถึงช่วงหลังครับ ส่วนจอกางออกได้ประมาณ 120 องศา
ล็อกระหว่างจอกับฐานเป็นแบบสไลด์ ปลดล็อกแล้วสามารถดึงออกมาจากฐานได้โดยใช้แรงพอประมาณ ล็อกค่อนข้างแน่น ไม่มีโยก ตัวล็อกเป็นเหล็กสองข้าง โดยรูตรงกลางเป็นช่องเชื่อมต่อระหว่างจอกับฐานครับ
ลำโพงจะอยู่ตรงส่วนจอด้านล่างทางฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งเมื่อเสียบลง Dock แล้วจะมีช่องว่างให้เสียงลอดสะท้อนออกมาภายนอกได้ ไม่เกิดเสียงอู้อี้ครับ ส่วนคุณภาพและระดับเสียง เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยจึงขออนุญาตไม่พูดถึงนะครับ
ตัวเครื่องที่นำมาให้ลองเล่นกันเป็น CPU Intel Core M 5Y10 ความเร็ว 0.8 GHz (Boost ถึง 2.0 GHz) ใส่ SSD แบบ M.2 ของซัมซุงมาให้ การ์ดจอออนบอร์ด Intel HD Graphic 5300 และให้การ์ดไวร์เลสของรับ Wireless-AC ใช้ได้ทั้งสองย่านความถี่มาให้เรียบร้อย
บนฝั่งจอเองมีแบตเตอรี่มาให้อยู่แล้ว 1 ก้อนขนาด 31 Wh จากโปรแกรม BatteryInfoView แจ้งว่าใช้งานเฉลี่ยที่ประมาณ 4500-5000 mWh พอเพียงสำหรับการใช้งานประมาณ 7-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามหากเร่งแสงสว่างของจอจนสุดอาจพบว่าเครื่องใช้งานได้เพียง 4-5 ชั่วโมงก็เป็นไปได้ครับ (ทดลองทำให้ใช้ไฟสูงสุดได้ที่ประมาณ 9000 mWh ได้เป็นระยะๆ) ตัว Dock เองก็มีแบตเตอรี่มาให้อีก 1 ก้อนขนาด 19 Wh ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องไปได้อีกถึงประมาณ 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
โดยเครื่องจะดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ Dock ก่อน แล้วจึงใช้แบตเตอรี่ที่ตัวจอตาม โดยการชาร์จก็จะประจุไฟให้ตัวจอจนเต็มก่อนครับ
ส่วนของคีย์บอร์ดมีไฟส่องสว่างสองระดับ สกรีนอักษรไทยมาให้เรียบร้อย มีตัดเพียงปุ่ม Home และ End เท่านั้นโดยไปรวมกับปุ่มลูกศรซ้ายขวาครับ ทั้งนี้มีประเด็นคีย์บอร์ดที่ตกค้างมาจากด้านบนนิดหน่อย เนื่องจากตอนทดลองเอามาพิมพ์ข้อความยาวๆ แล้วพบว่าตำแหน่งปุ่มมันไม่ตรงกับความรู้สึกในการใช้งานคีย์บอร์ดขนาดของ PC ปกติ ทำให้พิมพ์ผิดเยอะมากๆ สอบถามคนที่ทดลองใช้หลายๆ คนก็รู้สึกแบบเดียวกัน โดยจำเป็นต้องเลื่อนนิ้วต่างจากปกติเล็กน้อยเพื่อชดเชยระยะระหว่างปุ่ม ซึ่งรู้สึกเหมือนว่าปุ่มมันห่างกันมากขึ้นครับ (รูปล่าง เครื่องด้านขวาเป็นคีย์บอร์ดของเครื่อง Vostro V131 ครับ)
มาที่ Dell Venue 11 Pro กันบ้างครับ ตัวนี้จะเรียกว่าเป็นรุ่นเล็กที่เล็กพริกขี้หนูก็ว่าได้ ด้วยบอดี้แมกนีเซียมอัลลอยและความละเอียดจอ Full HD บนจอขนาด 10.8 นิ้ว ที่ให้ภาพคมชัดมากกว่าตัวพี่ (เนื่องด้วยขนาดจอที่เล็กลง) และการออกแบบตั้งต้นที่ให้ Venue 11 Pro ใช้งานแบบแท็บเล็ตตั้งแต่ต้นโดยไม่ต้องพึ่ง Dock เพื่อใช้งานพอร์ตเสริมแบบ Latitude 7350 จึงทำให้พกพาได้สะดวกมากขึ้นเยอะครับ
น้ำหนักประมาณ 750 กรัมถือว่าค่อนข้างหนักพอควรสำหรับการเป็นแท็บเล็ต แต่เมื่อเทียบกับขนาดเครื่องแล้วก็ไม่ได้เรียกว่าหนักอะไรครับ สามารถถือหิ้วไปหิ้วมาได้สะดวก
ตัวเครื่องด้านซ้ายมีพอร์ต USB 3.0 , micro USB , micro HDMI , ลำโพง ถัดมาเป็นช่องไมโครโฟน ปุ่มปรับเสียง และช่องเสียบหูฟัง
ด้านขวาจะเป็นช่อง Kensington lock , ลำโพง , ช่องใส่ซิมและ micro SD card , ปุ่มเปิดปิดเครื่อง และไฟสถานะครับ
มีกล้องอยู่ด้านหลังเครื่องช่วงบนตรงกลาง ส่วนด้านบนเครื่องโล่งๆ ไม่มีอะไร ด้านล่างเป็นช่องยึดจอกับฐานและช่องสำหรับเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริมครับ ความหนาตัวเครื่องประมาณ 1 เซนติเมตรนิดๆ จับหิ้วไปหิ้วมากำลังดี ไม่บางจนต้องกังวลว่าจะร่วงหล่นง่ายครับ
อุปกรณ์เสริมมีทั้งซอฟต์เคสแบบพับเป็นฐานตั้งจอได้ และฮาร์ดเคสที่มีแบตเตอรี่เสริมในตัวเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้งาน โดยตัวที่นำมาให้ทดลองเล่นยังไม่ได้สกรีนภาษาไทยลงไป แต่ทาง Dell แจ้งว่าตัวจริงจะสกรีนภาษาไทยมาให้ครับ
ซอฟต์เคสที่เป็นฝาพับความจริงมีสองแบบ แต่แบบนึงจะพับได้แค่แนวนอนอย่างเดียว ซึ่งทำให้ใช้เป็นขาตั้งจอลำบาก ส่วนตัวที่คาดว่าจะรวมมาในเซตที่ขายจริงทาง Dell แจ้งว่าน่าจะเป็นตัวพับเป็นขาตั้งจอได้ด้วยตัวนี้ครับ
เคสทุกรุ่นมีคีย์บอร์ดและทัชแพดมาให้แล้ว ทัชแพดขนาดค่อนข้างเล็กเนื่องจากพื้นที่จำกัด ส่วน keyboard ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่รู้สึกติดขัดแบบ Latitude 7350 แต่อย่างใดครับ
ซอฟต์เคสมีหูหิ้วสำหรับช่วยจับตอนเปิดจอขึ้นมาด้วย สะดวกขึ้นอีกพอสมควร
ฮาร์ดเคสเมื่อใส่แล้วตอนกางขึ้นจะลอยตัวจากพื้นพอประมาณตามรูปด้านล่างครับ อาจใช้งานไม่สะดวกเท่าไหร่ถ้าพื้นไม่เรียบหรือตั้งบนตัก
เครื่องรีวิวใช้ Intel Core M-5Y71 ความเร็ว 1.2 GHz การ์ดจอ Intel HD Graphic 5300 รองรับ Wireless AC และใส่การ์ด Wireless 5810e พร้อมเชื่อมต่อ LTE/HSPA+ มาให้เรียบร้อย
แบตเตอรี่ภายในตัวเครื่องขนาด 36 Wh ใช้งานเฉลี่ยทั่วไปที่ประมาณ 3500-4500 mWh ได้ประมาณ 9 ชั่วโมง ตอนทดสอบไม่ได้ต่อกับฮาร์ดเคสแต่ตามสเปคระบุว่าแบตเตอรี่เสริมบนฮาร์ดเคสมีความจุ 28 Wh ช่วยยืดอายุได้อีกประมาณ 7 ชั่วโมงครับ อย่างไรก็ตามในภาวะการใช้ไฟสูงสุดอาจขึ้นไปถึง 8000-9000 mWh ได้ (กรณีเปิดจอสว่างสุด และใช้งาน CPU สูงๆ) ซึ่งจะทำให้ใช้งานได้ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง และบวกแบตเตอรี่เสริมอีกประมาณ 3 ชั่วโมงครับ
Dell Latitude 7350 ราคาเริ่มต้น 4x,xxx บาท ส่วน Venue 11 Pro ราคาไม่รวมเคสอยู่ที่ 3x,xxx ซอฟต์เคสไม่เกินหมื่น ส่วนฮาร์ดเคสประมาณ 15,xxx บาทครับ
สรุป