ภาพรวมปี 2557 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไทย ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม

by arjin
4 March 2015 - 12:47

ผมได้รายงานข่าวผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยไปครบทั้ง 3 ค่ายเรียบร้อย (เอไอเอส, ดีแทค และทรู) สำหรับข่าวนี้จะเป็นการสรุปเปรียบเทียบในภาพรวม ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปี และแนวโน้มในปีปัจจุบันครับ

ส่วนแบ่งจำนวนผู้ใช้งาน

เริ่มด้วยส่วนแบ่งจำนวนผู้ใช้งานก่อน ภาพรวมนั้นยังมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น โดยของทุกค่ายล้วนเป็นบวกในทุกไตรมาส ยกเว้นดีแทคในไตรมาสที่สองและสาม ที่มีจำนวนเลขหมายลดลง ส่งผลให้ตลอดปีดีแทคมีลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 66,000 เลขหมายเท่านั้น

  • เอไอเอส 44.3 ล้านเลขหมาย (เป็นระบบสัมปทาน 900MHz อยู่ 3.5 ล้านเลขหมาย)
  • ดีแทค 28 ล้านเลขหมาย
  • ทรูมูฟเอช 23.6 ล้านเลขหมาย

ส่วนแบ่งผู้ใช้งานเอไอเอสจึงยังคงเป็นเบอร์หนึ่งต่อไป ส่วนทรูมูฟก็มีส่วนแบ่งไล่ดีแทคขึ้นมาแต่เพียงเล็กน้อย

รายได้เสียงที่ลดลง แต่อินเทอร์เน็ตเข้ามาชดเชย

เรื่องนี้คนแถวนี้คงรู้ว่ามันต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้วมาหลายปี แต่ปีนี้ภาพชัดเจนมากขึ้น เพราะรายได้จากการให้บริการเสียงทุกค่ายล้วนลดลง ขณะเดียวกันรายได้ที่เข้ามาชดเชยคือบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ภาพรวมรายได้จากการให้บริการมีการเติบโตอยู่เล็กน้อย

  • เอไอเอส บริการเสียง -14% อินเทอร์เน็ต +34% รวม +1.2%
  • ดีแทค บริการเสียง -16% อินเทอร์เน็ต +23% รวม -2.6%
  • ทรูมูฟเอช บริการเสียงเพิ่มเพียงเล็กน้อย อินเทอร์เน็ต +24% รวม +0.7%

มหกรรมขายมือถือไม่เอากำไร

การเร่งผลักดันลูกค้าให้ไปอยู่บนคลื่น 2.1GHz ซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถคิดต้นทุนในระบบใบอนุญาตที่ต่ำกว่าระบบสัมปทาน เป็นสิ่งที่ทั้งสามค่ายมือถือเร่งกระตุ้นตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเอไอเอสนั้นมีความกดดันเนื่องจากสัมปทานคลื่น 900 จะสิ้นสุดในปี 2558 นี้ด้วย (ดีแทคหมดปี 2561)

อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้าต้องย้ายคลื่นความถี่ มือถือที่ใช้ก็ต้องรองรับคลื่น 2.1GHz ด้วย จึงเป็นที่มาของมหกรรมขายมือถือในราคาต่ำแบบไม่เน้นกำไรของทั้งสามผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการขายสมาร์ทโฟนสั่งผลิตในแบรนด์ของตนเอง หรือเป็นการนำสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นมาขายลดราคาแลกกับการติดสัญญา

ในตารางด้านล่างนี้เป็น รายได้-ต้นทุน ของการขายโทรศัพท์มือถือทั้งสามค่ายมือถือ ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าการตลาด จึงเชื่อได้ว่าทุกค่ายล้วนขายขาดทุนทั้งสิ้น

การแข่งขันกันขายมือถือราคาถูกนี้น่าจะยังรุนแรงในปี 2558 เนื่องจากเอไอเอสเองก็เปิดเผยตัวเลขว่า แม้มีลูกค้าย้ายมาอยู่บนระบบ 2.1GHz แต่อุปกรณ์ลูกค้าที่ไม่รองรับนั้นยังมีอยู่มาก ต้องใช้วิธีโรมมิ่งสัญญาณกลับมา เท่ากับว่าผู้ให้บริการยังต้องขายมือถือจูงใจอีกมากพอสมควร

นอกจากการแข่งขันขายอุปกรณ์เพื่อให้รองรับคลื่นใหม่แล้ว แนวโน้มที่ทั้งสามค่ายมือถือออกมาคล้ายกัน คือการผลักดันบริการเสริมเพื่อต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์, แอพ หรือการให้บริการ WiFi บรอดแบนด์เสริมความหนาแน่นของคลื่น ซึ่งดูแล้วก็ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเราๆ ผู้บริโภคครับ

Blognone Jobs Premium