ลัตเวียเสนอให้ EU ยอมให้มีอินเทอร์เน็ตสองมาตรฐาน แบบเร็วกับแบบช้าเพื่อบริการที่แตกต่างกัน

by toandthen
8 March 2015 - 10:10

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้โหวตเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ต้องให้บริการด้วยความเป็นกลาง (net neutrality) ล่าสุดสหภาพยุโรปกลับมีแผนที่จะทำตรงกันข้าม ด้วยการเสนอให้แบ่งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นแบบเร็วกับแบบช้า โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถเก็บเงินผู้ใช้หรือผู้ให้บริการทางด้านเนื้อหาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้เร็วกว่าปรกติหากการกระทำดังกล่าวไม่ส่งผลเสียแก่ผู้ใช้รายอื่นที่ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม

โดยประเด็นนี้ถูกเริ่มต้นโดยตัวแทนจากรัฐบาลประเทศลัตเวีย ซึ่งได้เสนอประเด็นนี้เข้าสู่สภายุโรป ที่ประเทศสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศจะต้องออกเสียงกันก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากประเด็นนี้ผ่าน ก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายนี้เองก็ยังจะต้องผ่านการออกเสียงของสภายุโรปและคณะกรรมการยุโรป (European Commission) อีกรอบ

หัวหน้าแผนกดิจิทัลของสหภาพยุโรป Gunther Oettinger ได้ออกมาพูดที่งาน Mobile World Congress (MWC) ที่กรุงบาร์เซโลน่าที่ผ่านมาว่าความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่คำถามที่สำคัญก็คือเราจะทำอย่างไรให้บริการที่สำคัญกว่าสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีปัญหา

เช่นกันตัวแทนจาก Deutsche Telekom และ Vodafone เองก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าพวกเขาเห็นด้วยว่าความจำเป็นที่จะต้องให้บริการที่สำคัญกว่าเช่นบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ การแพทย์ และรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ (self-driving cars) จะต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ถูกรบกวนจากบริการที่มีความสำคัญน้อยกว่า (ผู้เขียน: อย่างเช่นบริการสตรีมดนตรีหรือภาพยนตร์)

อย่างไรก็ตามสมาชิกพรรคการเมืองฝั่งเสรีนิยมในหลายประเทศยุโรป ก็ได้ออกมาคัดค้านข้อเสนอนี้ โดยกลุ่ม Alliance of Liberals and Democrats for Europe Group (ALDE) กล่าวว่า “ร่างข้อเสนอที่กำลังถูกส่งต่อไปถึงสมาชิกสภายุโรปในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภายุโรปต่างก็ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทโทรคมนาคม มากกว่าการสนับสนุนการแข่งขัน”

Marietje Schaake ตัวแทนฝ่าย ALDE กล่าวว่า “เราต้องเร่งสร้างคำจำกัดความของคำว่าความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ตในสหภาพยุโรปให้เร็วที่สุด ก่อนที่ตลาดดิจิทัลของยุโรปจะรวมเป็นหนึ่งเดียว (EU digital single market) มิเช่นนั้นจะมีการสร้างพฤติกรรมบรรทัดฐานที่ขัดกับผลประโยชน์ของประชาชน สตาร์ทอัพในอนาคต และการแข่งขันที่ยุติธรรม”

ที่มา - The Verge

Blognone Jobs Premium