เมื่อคืนนี้ Apple ได้เปิดตัว Research Kit โดยโฆษณาว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยนักวิจัยด้านการแพทย์ (Medical Research -- บางทีเราจะใช้คำว่า Clinical Research ในกรณีที่เก็บคนไข้ที่เป็นคนจริงๆ เพราะ Medical Research นี่รวมทดลองทางการแพทย์ที่ทำในห้องทดลองและสัตว์ทดลองด้วย) เพื่อนำไปในการเก็บข้อมูล และเพิ่มจำนวนคนไข้ที่สมัครใจเข้าร่วมงานวิจัย ผมในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับวงการวิจัยทางการแพทย์ ขอแสดงความเห็นส่วนตัวจากคนที่เคยทำงานวิจัยมาบ้างเล็กน้อยดังนี้ครับ
แอปเปิลโฆษณาว่างานวิจัยส่วนใหญ่มักมีปัญหากับการหาผู้เข้าร่วมงานวิจัยใหม่ๆ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า Research Kit จะทำให้เราค้นหาผู้เข้าร่วมงานใหม่ๆ ได้มากกว่าเดิม เพราะเพียงแค่ดาวน์โหลดแอพ คุณก็สามารถเข้าให้ข้อมูลในงานวิจัยได้แล้ว
แต่โดยปกติแล้วงานวิจัยที่เป็น Clinical Research นี้ผู้เข้าร่วมวิจัยมักจะเป็นคนที่ผู้วิจัยกำหนดไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องเป็นโรคไหน อาการเป็นมากน้อยอย่างไร รวมถึงสถานที่เก็บงานวิจัยคือที่ไหนบ้าง ภาษาทางงานวิจัยเราเรียกว่ามี Population และ Sample ที่ชัดเจน คือเข้าทั้งเกณฑ์คัดเข้า (Inclusion Criteria) และเกณฑ์คัดออก (Exclusion Criteria) ที่แน่นอน ซึ่งตรงจุดนี้ หากเราเปิดกว้าง ให้ "ใครก็ได้" มาให้ข้อมูลงานวิจัย เราจะกำหนดกรอบการวิจัยอย่างไร ถ้าหากผมทำการศึกษาเรื่องเบาหวาน โดยผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นใครก็ได้ กรอบงานวิจัยมันจะชัดเจนได้อย่างไรว่าจะเป็นคนไข้กลุ่มไหน คนไข้เบาหวานที่ใช้ไอโฟนเหรอ? นอกจากนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเข้าเกณฑ์วิจัย คือเป็นเบาหวานจริงๆ ซึ่งถ้าเก็บจากในโรงพยาบาล เรามีความมั่นใจมากกว่าแน่ๆ ว่าเขาจะเป็นเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
แน่นอนว่าตัวอย่างที่แอปเปิลโชว์ให้ดู คนไข้ในงานวิจัยส่วนใหญ่ยังพอมีแรงไหว แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้เข้าร่วมงานวิจัยหลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบนี้ได้ เช่น ถ้าจะศึกษาคนไข้ที่เป็นอัมพาต เขาจะยังมานั่งกดไอโฟนให้เราได้หรือ หรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตาหรือการเคลื่อนไหวนิ้ว จะทำการให้ข้อมูลได้อย่างไร
ภาพผู้ป่วยแบบนี้มานั่งกดไอโฟนยังเป็นไปได้ลำบาก
"Clinicians in Intensive Care Unit" by Calleamanecer - Own work. Licensed under CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons.
เนื่องจากในแอพต่างๆ ที่แอปเปิลเอามายกตัวอย่างนั้น ผู้เข้าร่วมวิจัยหรือ Subject สามารถที่จะใส่ข้อมูลของตัวเองลงไปได้เองเลย ทีนี้ก็กลายเป็นว่ากระบวนการวัดต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อถือไม่ได้ (Measurement Bias) ยิ่งเท่าที่ผมดูจากแอพที่ปล่อยออกมา ส่วนมากเป็นข้อมูลที่คนไข้กรอกเองด้วย เช่น ให้วัดอัตราการหายใจเอง แล้วใส่ลงในแอพ ปัญหาคือเราจะเชื่อถือได้มากแค่ไหนว่าข้อมูลส่วนนี้มันถูกต้อง เพราะการวัด (Measurement) นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (ผมว่าสำคัญที่สุดเลยครับ) ในงานวิจัย Clinical Research
นอกจากนี้แล้ว หากบอกว่าเป็น "แพลตฟอร์ม" ในการบันทึกผลการวิจัย เช่น อาจจะเอา Accelerometer มาวัดจำนวนก้าว หรือให้แท็ปหน้าจอสลับกันเพื่อดูว่ามือขยับได้ปกติหรือไม่นั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า iPhone ที่ผู้ใช้งานใช้อยู่นั้น มีการเทียบกับมาตรฐาน (Calibration) แล้ว ไม่ใช่เป็นไอโฟนที่ Accelerometer กำลังจะพัง หรือให้ข้อมูลที่เพี้ยน ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยอะไรที่จะมารองรับว่าการเก็บข้อมูลของเราจากไอโฟนนั้นมีมาตรฐานเพียงพอ และยิ่งถ้าบอกว่าเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นได้หลายชนิด ปัญหาของมาตรฐานนี้ก็จะยิ่งยากเข้าไปอีก
แน่นอน คนที่จะซื้อไอโฟนได้ก็ต้องมีเงินอยู่ประมาณหนึ่ง หมายความว่าการที่เราจะเอาไอโฟนไปเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยนั้น ผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่ยินยอมจะเข้าร่วมงานวิจัยเราจะต้องมีไอโฟน ซึ่งก็อาจจะหมายความว่าเขามีความเป็นอยู่ที่ดีประมาณหนึ่ง (ไม่งั้นคงไม่มีไอโฟนใช้ ใช้โทรศัพท์คนอื่น หรือโทรศัพท์เครื่องละไม่กี่ร้อยบาทแทน) ทำให้ตัวอย่างที่เข้าร่วมงานวิจัยเรา อาจถูกเลือก (select) มาแล้วซึ่งอาจส่งผลต่อตัวแปรต่างๆ ที่เก็บในงานวิจัย ทำให้คนเหล่านี้มีลักษณะไม่เหมือนคนไข้ทั่วๆ ไปได้
ข้อนี้เป็นปัญหาอย่างมากเลยครับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา คืองานวิจัยส่วนใหญ่ปัญหาคือหาเงินมาสนับสนุนค่อนข้างยาก (โดยเฉพาะถ้าไม่มีเส้นสาย) เอาง่ายๆ อย่างงานวิจัยที่ทำๆ กันอยู่ค่าใช้จ่ายสี่ห้าแสนยังแทบจะไม่มีทุนมาให้ทำ บางทีคนทำต้องควักเนื้อออกเอง จะนับประสาอะไรกับงานวิจัยที่จะต้องทั้งซื้อไอโฟนให้ผู้เข้าร่วมวิจัย และทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาให้ผู้เข้าร่วมวิจัยกรอก ไม่นับ "งานหลังบ้าน" ที่จะต้องตามเก็บข้อมูล ตามดูว่าผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีปัญหาในการใช้แอพไหมอีก (ซึ่งงานหลังบ้านนี่ก็ค่าใช้จ่ายสูงไม่แตกต่างกัน เพราะข้อมูลก็ต้องเก็บอย่างมีมาตรฐานอีก) ผมว่างานวิจัยส่วนใหญ่แม้จะมี sponsor ผมว่าแค่ค่าไอโฟนนี่ก็อ้วกแล้วครับ
ผมเองคิดว่ามันเป็นการที่ดีที่เราจะมีอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูลในงานวิจัยจริงๆ แต่ปัญหาหลายๆ อย่างของงานวิจัยที่ไม่สามารถแก้ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์เพียงอุปกรณ์เดียวขึ้นมาเก็บข้อมูลแบบนี้ เราคงจะต้องมีวิธีอะไรอย่างอื่นที่ทั้งเก็บข้อมูลแม่นยำ, สะดวก ที่สำคัญคือประหยัดและเอาไปใช้ในงานวิจัยจริงได้ดีกว่านี้ครับ ดังนั้น เราคงต้องดูต่อไปว่า Research Kit เป็นเครื่องมือเปลี่ยนไอโฟนเป็น Clinical Research Device ที่ใช้งานได้จริง หรือเป็นเพียงฟีเจอร์ขายของจากบริษัทเทคโนโลยีที่นักวิจัยส่วนใหญ่ไม่(มีเงิน)จะซื้อครับ...
ที่มา: ต้นฉบับผู้เขียนได้เขียนไว้บนบล็อกส่วนตัวครับ