เมื่อกลางปีที่แล้ว Xiaomi เปิดตัว Mi Band สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพในราคาเพียง 79 หยวนหรือประมาณ 400 บาทเท่านั้น โดยผมเพิ่งได้ลองสั่งมาใช้ และเห็นว่าคนไทยน่าจะยังสนใจกันพอสมควร บวกกับยังไม่ค่อยมีรีวิวอย่างละเอียดเป็นภาษาไทย เลยเขียนมาให้อ่านกันครับ
อัพเดต 27 พ.ค. 2558: ผมพบว่าการสั่งจากอีเบย์มีความเสี่ยงที่จะเจอของปลอมสูงมาก พี่ที่ผมรู้จักเป็นการส่วนตัวก็โดนมาแล้ว ฉะนั้นควรซื้อจากคนที่หิ้วมาเอง หรือสั่งจากเว็บไซต์ของ Xiaomi จะดีที่สุดครับ ตอนนี้ Xiaomi Singapore ก็มีขายแล้ว
Mi Band มาในกล่องกระดาษแข็งสีน้ำตาล เปิดออกมาจะเจอกระดาษแข็งหนีบมันอยู่ อุปกรณ์ที่ให้มาด้วยมีเพียงสายรัดข้อมือ, สายชาร์จและคู่มือภาษาจีน
ตัว Mi Band เป็นอะลูมิเนียมอโนไดซ์ และใช้วิธี Perforation คือใช้เลเซอร์เจาะรูเล็กมากๆ เพื่อให้แสง LED ลอดออกมาได้ ส่วนด้านหลังเป็นพลาสติกธรรมดาครับ
ด้านในของสายรัด มีข้อความว่า Designed by Xiaomi
ผู้ใช้ต้องทำการยัด Mi Band เข้าไปในสายเอง ตัวสายจะยืดได้นิดหน่อย ก็ค่อยๆ เลาะๆ เข้าไป แล้วจัดทรงนิดหน่อยเป็นอันเรียบร้อย และเนื่องจาก Xiaomi บอกว่าแบตเตอรี่ของ Mi Band สามารถอยู่ได้เป็นเดือน ทำให้เราไม่ต้องถอดออกมาชาร์จบ่อยๆ จึงไม่ต้องกังวลว่าสายจะย้วยเร็วครับ
การชาร์จไฟทำได้โดยการเสียบ Mi Band ด้านที่มีขั้วเข้าไปในสายชาร์จที่ให้มา ออกแรงนิดหน่อยก็เข้าล็อก ไฟ LED จะสว่างขึ้นมาแสดงสถานะการชาร์จ
ผู้ใช้สามารถเลือกสีของไฟ LED ได้ (น้ำเงิน, ส้ม, เขียว, แดง [ดูแล้วเป็นสีชมพูมากกว่า])
ในการใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดแอพชื่อ Mi Fit มาติดตั้ง ผู้เขียนใช้ HTC One M7 รัน Android 5.0.1 GPe สามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชัน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เปิดแอพมาครั้งแรกก็ต้องสมัคร Mi account ก่อนเลย และจะได้รับ verification code ทาง SMS ด้วย จากนั้นจะต้องใส่ข้อมูลเพศ, วันเกิด, ส่วนสูง, น้ำหนัก และกำหนดเป้าหมาย (goal) ในแต่ละวัน
เสร็จแล้วโทรศัพท์จะทำการค้นหา Mi Band ผ่านบลูทูธ
เมื่อเจอแล้ว ไฟสีน้ำเงินที่ตัว Mi Band จะกะพริบ ให้เราแตะที่ Mi Band หนึ่งทีเพื่อยืนยันว่าเป็นของเราจริงๆ (การแตะนี้จะไม่ได้ใช้งานอีกเลย ทำมาเพื่อการจับคู่อย่างเดียว)
จากนั้นแอพจะทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ Mi Band เป็นเวอร์ชันล่าสุดให้ทันที
อันนี้คือหน้าหลักของแอพ ถ้าเลื่อนไปทางซ้ายจะเป็นหน้าสำหรับดูข้อมูลการนอนของเรา
หน้าตั้งค่าเป็นแบบนี้ จะมีการแสดงระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ โดยแกะกล่องมามันก็แจ้งว่าเหลืออยู่ 54% และชาร์จมาเมื่อ 28 วันที่แล้ว (น่าจะเป็นวันผลิต)
เมนูที่มีให้เลือกในหน้าตั้งค่า (วันที่เริ่มใช้ได้รับอัพเดตเป็นเวอร์ชัน 1.0.6.0 แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้เป็น 1.0.8.2 แล้วครับ)
สำหรับฟังก์ชัน Incoming call เราสามารถเลือกระยะเวลาที่ Mi Band จะสั่นหลังจากสายเข้า เช่นมีคนโทรมา 5 วินาทีแล้วมันจะเริ่มสั่น พอรับสายก็จะหยุดสั่นในเวลาไม่กี่วินาที ผมพบว่าฟังก์ชันนี้มีประโยชน์มากเวลาต้องอยู่ในที่เงียบเช่นห้องสมุด เราสามารถปิดทั้งริงโทนและการสั่นของโทรศัพท์ไปได้เลย (เวลาโทรศัพท์สั่นจะมีเสียงดังหากวางอยู่บนโต๊ะ)
การตั้งปลุก ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ให้เลือกวันและเวลาที่อยากให้ปลุก โดย Mi Band จะสั่นเพื่อปลุกเราอย่างเดียว ไม่มีเสียงปลุกจากมือถือนะครับ จากการทดสอบในคืนแรกที่ใส่นอน พบว่ารู้สึกตัวตื่นทันทีครับ แต่หลังจากสี่ห้าวันผ่านไป ไม่ตื่นแล้ว (ฮา) และถ้าเปิดฟังก์ชัน Early bird alarm มันจะปลุกเราก่อนเวลาที่ตั้งไว้ โดยดูจากการนอน ถ้าใกล้ถึงเวลาปลุกแล้วเราอยู่ในช่วงหลับตื้น (light sleep) มันก็จะปลุกเราทันที ซึ่งการทำแบบนี้เราจะตื่นอย่างสดชื่น กล่าวคือถ้าเราอยู่ในช่วงหลับลึกแล้วโดนปลุก จะทำให้ไม่สดชื่นนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าถึงเวลาปลุกแล้วเรายังหลับลึกอยู่ มันก็จะปลุกอยู่ดีนะครับ
ทุกครั้งที่เปิดแอพ มันจะทำการ sync ทันที ใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาทีก็เสร็จ เราจะมาโผล่ที่ฟังก์ชันที่สำคัญที่สุด คือการนับก้าวและคำนวณแคลอรี่ โดยบอกข้อมูลเช่น วันนี้เดินไปเป็นระยะทางเท่าไหร่, เดินไปกี่ก้าว, เผาผลาญแคลอรี่ไปได้เท่าไหร่ และอื่นๆ ตามรูปครับ
หน้าหลัก บอกข้อมูลคร่าวๆ เอาไว้เช็ค progress ของวันนี้
ถ้ากดเข้าไปจะดูข้อมูลได้ละเอียดระดับเจาะจงเวลาเลย แตะที่แท่งกราฟจะดูได้ว่าเวลาไหนเราเดินไปเท่าไหร่
ส่วนหน้านี้เป็น history เอาไว้ดูย้อนหลัง โดยสามารถดูข้อมูลแบบต่อวัน, ต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือนก็ได้
ไฟ LED บนตัว Mi Band ยังสามารถแสดง progress คร่าวๆ ให้ผู้ใช้ทราบได้ด้วย โดยต้องทำท่ายกแขนขึ้นมาเหมือนดูนาฬิกา จากนั้นไฟจะติดขึ้นมาแล้วกะพริบ ซึ่งมีทั้งหมด 4 รูปแบบ ดังนี้
ท่ายกแขนต้องเป๊ะมากๆ เริ่มจากปล่อยแขนชี้ลงพื้น แล้วยกขึ้นมาเหมือนดูนาฬิกาตามปกติ แต่ผมทำแล้วติดบ้างไม่ติดบ้าง ไม่เวิร์คครับ ควรทำเป็นแบบแตะที่ตัวอุปกรณ์เหมือนพวก Misfit มากกว่า
สำหรับการวิเคราะห์การนอน Mi Band จะรู้ได้เองเมื่อเราเข้านอนและตื่นนอน แต่หลังจากตื่นนอนควรเดินไปเดินมาสักหน่อยเพื่อที่จะให้ Mi Band รู้ว่าเราตื่นแล้วจริงๆ ส่วนใหญ่ผมตื่นแล้วจะอาบน้ำทันทีเลยจะถอดวางไว้ มันเลยนึกว่าเรายังหลับอยู่ครับ (Mi Band สามารถใส่อาบน้ำได้นะครับ แต่ผมไม่อยากเสี่ยงสักเท่าไหร่) อย่างไรก็ตาม หากว่า Mi Band ตรววจับเวลาเข้านอนหรือตื่นนอนผิดไป เราสามารถแก้ได้ทันที และมันจะวิเคราะห์การนอนให้ใหม่ นอกจากนี้ ถ้าเราแตะตรงแท่งกราฟ เช่นแตะแท่งสีม่วงเข้มซึ่งแปลว่าช่วงนั้นหลับลึก แอพจะบอกได้ว่าในช่วงนั้นเราหลับลึกตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง
การตรวจจับการนอนจะไม่ทำงานเวลาเรานอนกลางวันนะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าช่วงเวลาที่มันจะเริ่มจับการนอนนั้นเป็นเวลากี่โมง นอกจากนี้ยังดูสถิติย้อนหลังได้แบบการนับก้าวด้านบนเลยครับ
Mi Band ยังสามารถใช้กับกีฬาอื่นนอกจากเดิน/วิ่งได้ด้วย นั่นก็คือการกระโดดเชือกและซิทอัพ ผมลองซิทอัพ พอกดปุ่มแล้วมันจะเริ่มจับเวลาทันที เราก็เริ่มได้เลย มันจะรู้เองและมีเสียงนับให้เราด้วย ลองไป 7 ที นับได้ตรงครับ เสร็จแล้วจะมีการเปรียบเทียบกับผู้ใช้ Mi Band คนอื่นๆ ให้ด้วย
นอกจากกีฬาที่รองรับข้างต้น แอพก็ยังเปิดให้ผู้ใช้โหวตกีฬาที่อยากจะให้ Mi Band รองรับในอนาคตด้วย
อีกฟังก์ชันที่สำคัญและช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก คือสามารถตั้งให้ Mi Band เป็น trusted device ได้ และจะไม่ต้องใส่รหัสหรือ pattern เพื่อปลดล็อกโทรศัพท์อีกต่อไป แต่ถ้าหลุดออกจากรัศมีบลูทูธก็จะกลับมาล็อกตามเดิม โดยโทรศัพท์ที่รองรับจะต้องเป็น Android 5.0 ขึ้นไป หรือโทรศัพท์ของ Xiaomi แม้ว่าจะไม่ได้เป็น Lollipop ก็จะใช้ได้อยู่แล้วครับ
สุดท้ายคือแบตเตอรี่ ทาง Xiaomi เคลมว่าสามารถใช้ได้หนึ่งเดือนต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งวันที่เขียนบทความนี้ผมใช้มาครบหนึ่งเดือนพอดี ผมกด sync อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ต้องบอกว่าเกินคาดครับ
Mi Band ทำผลงานได้น่าพอใจ ระหว่างใช้ไม่พบอาการเอ๋อหรือไม่ตรวจจับการเดินแต่อย่างใด อีกทั้งแอพทำออกมาได้ดีพอสมควร แสดงข้อมูลได้ละเอียดและใช้งานง่าย นอกจากนี้ผมและเพื่อนอีกสองคนซื้อมาใส่พร้อมกัน ไม่มีใครมีอาการแพ้นะครับ
ข้อดี
ข้อเสีย
บทความนี้ปรากฏครั้งแรกที่บล็อกของผู้เขียน