ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกหรือ GPS ทำงานโดยถอดรหัสสัญญาณที่รับมาจากชุดของดาวเทียม GPS ที่โคจรอยู่รอบโลก ด้วยการเทียบสัญญาณที่ถูกส่งจากดาวเทียมหลายๆ ดวงที่โคจรอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันออกไปเพื่อนำมาคำนวณหาพิกัดบนโลก
อย่างไรก็ตามการประมวลผลดังกล่าวใช้เวลาและกินพลังงานมาก (เป็นเหตุให้แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหมดเร็วเมื่อเราเปิดใช้แอพพลิเคชั่นที่ใช้การระบุตำแหน่งด้วย GPS) ไมโครซอฟท์จึงหาทางแก้ปัญหาข้างต้นด้วยแนวคิดใหม่ดังจะเห็นได้จากสิทธิบัตร Cloud-Offloaded GPS ที่นำเสนอวิธีการระบุตำแหน่งบนโลกโดยย้ายการคำนวณสัญญาณที่ได้รับจากดาวเทียมไปไว้บน cloud แทน
จากงานวิจัยของไมโครซอฟท์เมื่อปี 2012 โดยปกติการหาตำแหน่งตั้งต้นด้วยโทรศัพท์มือถือแบบเดิมใช้เวลาถึง 30 วินาทีในการเก็บข้อมูลที่จำเป็นจากดาวเทียม GPS เพื่อการระบุพิกัด ส่วนการประมวลสัญญาณเพื่อจะเชื่อมต่อและติดตามดาวเทียมที่กำลังเคลื่อนตัวก็เป็นงานที่หนักหนาเอาการ แต่ด้วยการย้ายงานประมวลผลดังกล่าวขึ้นไปไว้บน cloud ข้อมูลเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีก็เพียงพอสำหรับการหาตำแหน่งตั้งต้นแล้ว ระบบบน cloud เองยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะอย่างฐานข้อมูลวงโคจรของดาวเทียมและระดับความสูงต่ำของพื้นโลกเพื่อช่วยในการคำนวณได้อีกด้วย นอกจากนี้อัตราการใช้พลังงานก็ต่ำกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้พลังงานถึง 1 จูลในการหาตำแหน่งตั้งต้น ด้วยเทคนิคใหม่ทีมวิจัยสามารถตัดพลังงานที่ต้องใช้จนเหลือเพียง 0.4 มิลลิจูล ประหยัดพลังงานได้ 99.96 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ทีมวิจัยจากไมโครซอฟท์เชื่อว่าด้วยประสิทธิภาพและมีอัตราการใช้พลังงานที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากการระบุตำแหน่งได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างแผนที่ข้อมูลมลภาวะทางเสียงภายในเมือง หรือระบบที่แนะนำเส้นทางและให้ผลการค้นหาสถานที่ที่ปรับแต่งตามเส้นทางที่แต่ละคนใช้ประจำ และแน่นอนว่าเมื่อเทคนิคในสิทธิบัตรถูกนำมาใช้งานจริงเมื่อไหร่เราก็จะได้ใช้บริการที่ต้องพึ่งพา GPS อย่างไม่ต้องคอยพะวงว่าแบตเตอรี่มือถือจะหมดเร็วอย่างที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบันครับ
ที่มา - WMPoweruser, The Verge