ตลาดอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในรอบปีที่ผ่านมา Jawbone เองก็เป็นรายหนึ่งที่เข้ามาร่วมวงกับตลาดนี้ตั้งแต่แรกด้วยซีรีส์ Jawbone UP ที่เพิ่งออกสองรุ่นใหม่ทั้ง UP3 รุ่นใหญ่และ UP MOVE รุ่นเล็กราคาเบาๆ ไปเมื่อปลายปีก่อน วันนี้เราจะมาเล่น UP MOVE กันครับ
Jawbone UP MOVE เป็นน้องใหม่ของซีรีส์ UP ที่ออกแบบมาให้ขนาดเล็กลง และราคาที่ย่อมเยายิ่งขึ้่น โดยเน้นไปที่การใช้งานสามแบบใหญ่ๆ คือการเก็บข้อมูลออกกำลังกาย การนอนหลับ และฟีเจอร์ครูฝึกส่วนตัว (Smart Coach)
ฮาร์ดแวร์
ตัวกล่องใส่ของ UP MOVE มาแบบเรียบๆ ด้านในมีตัวเครื่องใส่อยู่ในเคสสำหรับหนีบมาตั้งแต่แรก
ตัวเคสสำหรับหนีบที่มาด้วยกันเป็นยางแข็งพอสมควร ทนทานมาก! ตำแหน่งที่เหมาะสำหรับใช้งานเป็นได้ทั้งคอเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง
ส่วนตัว UP MOVE เปล่าๆ หน้าตาจะคล้ายกับเม็ดกระดุมขนาดใหญ่ ตรงกลางสามารถกดได้ มีลายตรงปุ่มกดต่างๆ กันไป และมีไฟสำหรับแสดงผลทั้งสิ้น 12 ตำแหน่งครับ
พลิกมาด้านหลังจะพบกับฝาปิดสำหรับแกะมาใส่ถ่าน (เป็นรุ่น CR2032 ความจุ 225 mAh) แกะได้ด้วยอุปกรณ์ที่แถมมาในกล่อง (หรือเหรียญ) ตามสเปคแล้วใช้งานได้ 6 เดือน ซึ่งคงไม่มีเวลาพอจะทดสอบความทนของแบตเตอรี่ให้ครับ D:
สำหรับรุ่นที่ขายในไทย นอกจากจะมีเคสหนีบแล้ว ยังมีเคสสายรัดข้อมือแถมมาให้ด้วย (ไม่แน่ใจว่า 1 หรือ 2 สายครับ) ตัววัสดุจะเป็นยางที่อ่อนนุ่มกว่าแบบหนีบอย่างมาก
วิธีการประกอบเข้ากับสายทำได้ด้วยการสวมร่างจากด้านหลังตามภาพครับ
การใส่ทำโดยการสอดปลายด้านที่เกี่ยวเข้าไปในด้านที่มีรู และเกี่ยวเข้ากับสายอีกที ตามภาพครับ
ใส่เสร็จแล้วจะได้หน้าตาดังนี้
เท่าที่ลองใส่ UP MOVE แบบสายรัดข้อมืออยู่พักใหญ่ พบว่าใส่ได้สบายมากๆ ไม่มีอาการแพ้แต่อย่างใด คิดว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ประเภทสายรัดข้อมือที่ใส่สบายที่สุดเท่าที่ลองมาก็ว่าได้ครับ
การตั้งค่าทำได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปที่ up.jawbone.com/setup ด้วยสมาร์ทโฟน และทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ว่ากันสั้นๆ คือเปิดบลูทูธ และกดตามขั้นตอนก็จะเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ (ต้องสมัครสมาชิก)
ฟีเจอร์พื้นฐาน
สำหรับฟีเจอร์ของ UP MOVE เนื่องด้วยขนาดที่เล็กมาก การใช้งานจึงจำกัดไปด้วย โดยการใช้งานหลักๆ ผ่านตัวเครื่องทำได้ด้วยการกดปุ่มตรงกลาง โดยแบ่งการทำงานดังนี้
กดหนึ่งครั้งคือการดูก้าวเดินประจำวัน ตัวหน้าจอจะแสดงผลเป็นรูปคนวิ่งสีแดง และไฟแจ้งเตือน (แสดงเป็น % ครบรอบแปลว่าเดินถึงเป้าแล้ว)
แบบที่สองคือเป็นนาฬิกา! ใช้งานด้วยกดสองครั้ง ตัวไฟจะวิ่งสองครั้ง รอบแรกเป็นไฟนิ่งบอกชั่วโมง รอบสองเป็นไฟกระพริบบอกนาที ตามภาพตัวอย่างนั่นคือ บ่ายสองโมงยี่สิบนาที
ถ้าหากกดสองครั้งโดยครั้งที่สองกดค้างจะเป็นการเข้าสู่โหมดนาฬิกาจับเวลาแทนครับ
การกดค้างจะนำไปสู่โหมดเก็บเวลาการนอนหลับ ซึ่งจะแสดงเป็นสัญลักษณ์พระจันทร์เสี้ยวสีน้ำเงิน กดค้างอีกครั้งจะกลับไปโหมดปกติ (รูปคนวิ่งสีแดง)
แอพคู่ตัว
การจะใช้งาน UP MOVE ได้นั้น จำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนสำหรับรันแอพคู่ตัวอย่าง Jawbone UP อยู่ด้วย โดยเมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้ว จะปรากฏเป็นหน้าหลัก ซึ่งแสดงผลระยะเวลาการนอนหลับ และการเดินรายวัน
เมื่อเลื่อนลงด้านล่างจะเป็นไทมไลน์แสดงข้อมูลการออกกำลังกายของเราในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเลื่อนขึ้นด้านบนจะเป็นไทม์ไลน์แบบย่อครับ
ตัวแอพจะมาช่วยขยายส่วนที่ขาดในอุปกรณ์ด้วยการแสดงผลข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งค่อนข้างละเอียดพอสมควร สามารถเลื่อนเพื่อดูว่าช่วงไหนเดินไปเท่าไหร่บ้างได้
ในหน้าแรกแถบสีม่วงมีไว้สำหรับแสดงผลการนอนหลับ เมื่อกดเข้าไปจะเป็นการยืนยันช่วงเวลาการนอนหลับ โดยสามารถแก้ไขเวลาได้ตามจริงครับ
สีที่เห็นในกราฟจะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ แบบแรกคือสีส้ม (ตื่น) สีฟ้า (กึ่งหลับกึ่งตื่น) และสีน้ำเงิน (หลับลึก) ครับ
ถ้ากดเข้าไปในแถบเมนูจะมีสองเมนูสำคัญอยู่ อันแรกคือการตั้งเป้าในแต่ละวัน และอีกอันจะเป็นการแสดงผลข้อมูลเป็นกราฟ ซึ่งสามารถเลือกเปลี่ยนได้
อีกฟีเจอร์เด่นของ UP MOVE คือครูฝึกส่วนตัว อย่างเมื่อเดินน้อยก็จะมีตัวเลือกขึ้นมาเตือนให้เดินมากขึ้นครับ
เท่าที่ใช้งานแอพของ Jawbone UP เรียกได้ว่าให้ข้อมูลมาล้นหลาม หน้าตาแอพค่อนข้างดูดี แต่เมนูหลบซ่อนเยอะไปหน่อย ต้องใช้เวลาเรียนรู้ซักพักถึงจะชินครับ
ประสบการณ์ใช้งานจริง
เท่าที่ลองใช้งานจริงมากว่าสามสัปดาห์ พบว่าในแง่ของการสวมใส่ทำได้ดีมาก ไม่ระคายเคือง หรือแพ้แต่อย่างใด วัสดุที่ใช้ทำสายใส่สบายมาก (ลืมไปเลยว่าใส่อยู่) ตัวเครื่องกันน้ำได้ดี กันละอองน้ำได้ (ใส่ตากฝนไม่มีปัญหาใดๆ)
สำหรับการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ 4.0 แบบกินไฟต่ำอาจมีปัญหากับบางรุ่นที่ไม่มี หรือไม่รองรับ แนะนำให้ตรวจสอบจาก jawbone.com/up/devices เสียก่อน เท่าที่ใช้งานไม่มีปัญหาบลูทูธหลุดครับ เครื่องทดสอบเป็น HTC One M8
ด้านการเก็บข้อมูล ตัวเครื่อง UP MOVE สามารถเก็บข้อมูลแบบไม่ซิงก์กับสมาร์ทโฟนได้สูงสุด 2 สัปดาห์ การซิงก์ทำทุกครั้งที่เปิดเข้าไปในแอพครับ
ส่วนความเที่ยงตรงของข้อมูล เท่าที่ทดสอบร่วมกับแอพอย่าง Google Fit และ Fitbit พบว่าตัวเลขออกมาใกล้เคียงกันมากๆ (จำนวนก้าวเดินห่างกันเพียงหลักสิบ) ถ้าไม่ใช่ผู้ใช้หนักๆ ก็เป็นตัวกระตุ้นการเดินที่ดีทีเดียว
สรุป
สำหรับ Jawbone UP MOVE น่าจะเหมาะกับผู้ใช้แนวที่กำลังมองหาตัวกระตุ้นให้ออกกำลังกายมากขึ้นในราคาไม่แพงนัก ซึ่งเจ้า UP MOVE ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีทั้งแง่ของการสวมใส่ น้ำหนักเบาหวิง ไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่บ่อยๆ และราคาเปิดที่ 2,590 บาทครับ