เมื่อปีที่แล้ว Blognone เคยเสนอข่าวโครงการบ่มเพาะนักพัฒนาเกม MSeed Accelerator ของบริษัท MSeed Asia ซึ่งถือเป็นโครงการบ่มเพาะนักพัฒนาเกมรายแรกของไทย (ที่ผ่านมาเรามักเห็นโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพ แต่ไม่เจาะจงว่าเป็นเกม)
เราเห็นว่ากิจกรรมของ MSeed น่าสนใจมากเพราะเป็นการผลักดันธุรกิจการสร้างเกมโดยตรง อีกทั้ง MSeed ยังเป็นบริษัทในเครือ M Link ผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของบ้านเรา (ซึ่งดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย) เราจึงขอสัมภาษณ์คุณสกลกรย์ สระกวี กรรมการผู้จัดการของ MSeed เพื่อค้นหาคำตอบว่า MSeed กำลังทำอะไรอยู่ครับ
คุณสกลกรย์ ถือว่าไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการเกมในประเทศไทย เพราะเคยทำงาน Garena Thailand ผู้นำเข้าเกมออนไลน์ระดับเอเชียมาก่อน เคยมีผลงานผลักดันเกมดังๆ อย่าง League of Legends (LOL), Heroes of Newerth (HoN) และ FIFA Online จนประสบความสำเร็จอย่างสูงในบ้านเรา
คุณสกลกรย์เล่าที่มาที่ไปของ MSeed ว่าเกิดจาก ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ซีอีโอของบริษัท M Link ซึ่งมองหาโอกาสขยายสายธุรกิจของ M Link ไปยังธุรกิจด้านเทคโนโลยีแขนงอื่นๆ ซึ่งคุณสกลกรย์มองว่า "เกม" เป็นตลาดที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง เพราะเกมเมอร์ยอมจ่ายตังให้กับเกม มากกว่าจ่ายตังซื้อบริการออนไลน์ประเภทอื่น จึงเสนอแผนการทำ MSeed และกลายเป็นตัวตนขึ้นมาจนถึงวันนี้
โครงสร้างของ MSeed จะสวมบทบาทเป็นทั้งผู้บ่มเพาะนักพัฒนา (accelerator), ผู้จัดจำหน่าย (publisher) และพัฒนาเกมเองด้วย (developer)
ปี 2014 เป็นปีที่ MSeed เพิ่งเริ่มต้น กิจกรรมที่เห็นจึงมีเพียงแค่ 2 อย่างคือ
ส่วนปี 2015 นี้เราจะเห็นเกมจาก MSeed มากขึ้น ทั้งเกมในฐานะ publisher และเกมที่พัฒนาขึ้นเอง รูปแบบเกมมีหลากหลายทั้งเกมแคชวล, โซเชียล และ RPG โดยเกมแรกในคิวคือ Fashion City เกมแคชวลสำหรับสาวๆ ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ (เป็นเกมแต่งตัวจากเกาหลีใต้ ซึ่งเคยทำตลาดในบ้านเราบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก แต่รอบนี้เป็นเวอร์ชันมือถือ)
คุณสกลกรย์มองว่าตลาดเกมออนไลน์บ้านเราหาคนไปสู้กับ Garena ยาก เพราะ Garena มีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้เล่นจำนวนกว้างขวางมาก แต่เกมมือถือยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตลาดยังเปิดและมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก แม้ว่าบ้านเราคนจะนิยมเกมบนแพลตฟอร์มของ LINE แต่คนเล่นเกมลักษณะนี้มีพฤติกรรมเบื่อง่าย-เปลี่ยนเกมบ่อย หรือเล่นหลายเกมพร้อมกัน ดังนั้นถ้าตีโจทย์ธุรกิจแตกก็สามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ได้
ตลาดสมาร์ทโฟนไทยยังอยู่ในช่วงระยะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาคือคนเล่นเกมหน้าใหม่ๆ (ที่มาจาก non-gamer) มีเยอะมาก คนเหล่านี้อาจเริ่มต้นจากการเล่นเกมแคชวลบน LINE แต่ก็สามารถพัฒนาต่อไปเล่นเกมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยวัฏจักร (lifecycle) ของเกมในปัจจุบันตกรุ่นกันเร็วมาก บางเกมอยู่ได้เพียงแค่ 1-3 เดือนก็ต้องปิดเซิร์ฟเวอร์แล้ว ปัจจัยนี้อาจทำให้นักพัฒนาเกมไทยอยู่ยาก เพราะ publisher จะอยากใช้วิธีซื้อเกมจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดแทน เนื่องจากต้นทุนถูกกว่ามาก โดย publisher ในไทยนิยมเกมจากเกาหลีและเกมจากจีน ซึ่งเกมเกาหลีคุณภาพดีกว่าแต่ก็แพงกว่า ส่วนเกมจีนก็เข้ามาบุกตลาดบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ
เป้าหมายของ MSeed จึงเป็นการผสมผสานโมเดลการทำตลาดเกมหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ทั้งพัฒนาเองแบบ in-house, การจัดจำหน่ายเกมจากต่างประเทศ และการจัดจำหน่ายเกมจากนักพัฒนาไทยรายอื่นๆ ผ่านโครงการ MSeed Accelerator ซึ่งในส่วนหลังนี้คุณสกลกรย์มองว่า นักลงทุนสนใจสตาร์ตอัพเยอะ แต่ยังสนใจลงทุนในบริษัทพัฒนาเกมน้อย และยังมีโอกาสพัฒนาต่อได้อีกมาก
ส่วนความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทแม่ M Link นั้น คุณสกลกรย์บอกว่าช่วงนี้ยังไม่ได้คิด ขอปั้น MSeed ให้สำเร็จก่อน แต่ในระยะยาวในฐานะที่ M Link ขายโทรศัพท์มือถือ และ MSeed จัดจำหน่ายเกมบนมือถือเช่นกัน ก็อาจมีกลยุทธ์ธุรกิจที่สอดคล้องกันมากขึ้นได้