สัมภาษณ์ วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ ZocialRipple กับประสบการณ์เปิดสตาร์ตอัพในสิงคโปร์

by mk
26 April 2015 - 14:30

Blognone พยายามสัมภาษณ์ผู้ประกอบการไอทีไทยเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อนร่วมวงการ ปกติแล้วประสบการณ์ที่แชร์มักเป็นแง่มุมด้านเทคนิคหรือด้านกลยุทธ์ธุรกิจ แต่รอบนี้พิเศษหน่อยเพราะผู้ให้สัมภาษณ์ของเราเป็นสตาร์ตอัพไทยที่ตัดสินใจไปอยู่กินที่สิงคโปร์ เพื่อซึมซับการทำงานในระดับที่ไปไกลกว่าเมืองไทย (เริ่มคิดในเชิงภูมิภาคมากขึ้น) เราจึงสัมภาษณ์เพื่อนำประสบการณ์การเปิดสตาร์ตอัพในสิงคโปร์มาฝากกัน เผื่อว่าจะมีคนรุ่นต่อๆ ไปเดินตามรอยเท้านี้มากขึ้น

ผู้ให้สัมภาษณ์รอบนี้คือคุณวรัทธน์ วงศ์มณีกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท ZocialRipple ครับ

แนะนำตัวสักนิด

สวัสดีครับ วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ หรือ "ตั้ง" นะครับ ในทวิตเตอร์ใช้ชื่อว่า @thangman22

3 ปีที่แล้วผมร่วมกับพี่ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เปิดบริษัท Zocial Inc. ซึ่งถือเป็นหนึ่งบริษัทในเครือ efrastructure มีผลงานคือ ZocialRank และ ZocialEye ซึ่งเป็นเครื่องมือเก็บสถิติต่างๆ ในโลกโซเชียล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์และเอเยนซี่โฆษณาในไทย

เริ่มต้นที่ ZocialRank/ZocialEye แล้วทำไมถึงไปทำ ZocialRipple ได้

ระหว่างที่เราทำ ZocialRank เราก็มีไอเดียเกี่ยวกับ ZocialRipple ในแง่เครื่องมือช่วยทำตลาดผ่านโซเชียล แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดสักที เพราะมัวแต่เอาเวลาไปทำ ZocialRank/ZocialEye ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท

พอ ZocialRank เริ่มอยู่ตัว เราก็เลยตัดสินใจแยกบริษัทมาเพื่อทำ ZocialRipple โดยคราวนี้ผมเป็นแกนหลักคนเดียวเลย ในแง่กฎหมายก็ถือเป็นคนละบริษัทเลย ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง

ZocialRipple เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนเล่นโซเชียล กับคนอยากทำการตลาดบนโซเชียลมาเจอกัน เช่น ถ้าบริษัท A อยากกระจายเนื้อหาบนโซเชียล ก็สามารถเข้ามาใช้บริการ ZocialRipple โดยระบุว่าต้องการโพสต์ลิงก์ใดบ้าง ให้มีข้อความอะไรบ้างเป็นคีย์เวิร์ด ส่วนคนเล่นโซเชียลที่อยากหารายได้พิเศษจากแบรนด์ ก็เข้ามาดูประกาศบน ZocialRipple แล้วโพสต์ข้อความตามที่ระบุในงานนั้นๆ เพื่อเก็บแต้มในระบบไปแลกของรางวัลหรือสินค้าได้

ตอนนี้ ZocialRipple มีแอพให้บริการแล้วทั้งบน Android/iOS ใครสนใจก็ไปลองทดสอบได้ ส่วนในแง่การทำตลาดก็กำลังไล่คุยกับเอเยนซี่ทั้งในไทยและสิงคโปร์ครับ เป้าหมายของเราคือจะขยายไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2016

แล้วทำไมถึงไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ได้?

เรามีไอเดียว่าจะไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์อยู่ก่อนแล้ว เพราะเห็นโอกาสต่างๆ ของการตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางธุรกิจในภูมิภาคนี้ แต่เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจไปจริงๆ คือรัฐบาลสิงคโปร์มีกองทุนชื่อ i.JAM ของสำนักงาน Interactive Digital Media (IDM) ที่ทำหน้าที่สนับสนุนสื่อดิจิทัลในประเทศ กองทุนนี้จะให้เงินทุนสนับสนุนประมาณ 250,000 สิงคโปร์ดอลลาร์กับบริษัทสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการ (ประมาณ 6 ล้านบาท)

แนวคิดของ i.JAM คือรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการสนับสนุนนักลงทุน (venture capital) ในประเทศให้ลงทุนในสตาร์ตอัพให้มากๆ เลยตั้งโครงการนี้ขึ้นมา ถ้านักลงทุนกล้าลงเงิน รัฐบาลก็ยินดีช่วยออกเงินสนับสนุนด้วย แต่รัฐบาลจะไม่เอาหุ้นเพราะถือเป็นเงินให้เปล่า

เงื่อนไขการรับทุนคือต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนสิงคโปร์ด้วย ส่วนเงื่อนไขการใช้เงินก็อาจมีจำกัดบ้างว่าต้องใช้จ่ายอยู่แต่ในสิงคโปร์ ห้ามขนเงินออกนอกประเทศ

ZocialRipple มีหุ้นส่วนธุรกิจเป็นคนสิงคโปร์ ทำให้เข้าข่ายการรับทุนของ i.JAM จึงได้รับโอกาสนี้ จริงๆ แล้วรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้บังคับว่าเราต้องไปอยู่ที่สิงคโปร์ตลอดเวลา แต่เราตั้งเป้าว่าจะไปผลักดันให้เกิด ไปรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในระดับภูมิภาค เลยย้ายไปอยู่สิงคโปร์แบบเต็มเวลา ตอนนี้บริษัทมีพนักงาน 3 คน เป็นคนไทยทั้งหมด

ไปอยู่สิงคโปร์แล้วเจออะไรมาบ้าง

อย่างแรกเลยคือเราไปสิงคโปร์เพื่อหวังจะไปเห็นตลาดระดับภูมิภาคที่ใหญ่กว่าเมืองไทย แต่สิ่งที่พบจริงๆ กลับกันคือตลาดในประเทศสิงคโปร์เองนั้นเล็กมากๆ มีประชากรแค่ประมาณ 6 ล้านคน เล็กกว่ากรุงเทพอีก พอคนแถวนั้นรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย ก็มีแต่คนบอกว่าอยู่เมืองไทยน่ะดีแล้ว ตลาดใหญ่กว่า มีศักยภาพกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม พอมาอยู่แล้วตระหนักเลยว่าสิงคโปร์เหมาะกับการเป็นฮับสำหรับทำธุรกิจจริงๆ มีโอกาสที่ดีกว่าเมืองไทยมาก ในสายของสตาร์ตอัพเองมีงานพบปะ (meetup) กันแทบทุกวัน แต่ต้องบอกก่อนว่าชุมชนสตาร์ตอัพสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง เพราะคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากเป็นเจ้าของกิจการเอง อยากเป็นพนักงานในบริษัทใหญ่มากกว่า

เปรียบเทียบบรรยากาศของสิงคโปร์กับไทย ในแง่การทำธุรกิจ

ระบบกฎหมายของสิงคโปร์ดีกว่า เอื้อให้ผู้ประกอบการมากกว่า ธนาคารสิงคโปร์มีโครงการเงินทุนสำหรับสตาร์ตอัพ ซึ่งมีเงื่อนไขน้อยกว่าการกู้เงินทั่วไป มีข้อยกเว้นให้อย่างการเป็นบริษัทเล็กอาจไม่ต้องตรวจบัญชีหรือเสียภาษี

การจดบริษัทที่สิงคโปร์ง่ายมาก กระบวนการต่างจากบ้านเราอยู่บ้างตรงที่ทุนจดทะเบียนต้องชำระทั้งหมด แต่ขั้นต่ำก็แค่ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ใช้เวลาจดไม่นาน การขอใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ก็ไม่ยาก

ถ้าอยากรับเงินลงทุนจากระดับภูมิภาค การจดบริษัทที่สิงคโปร์จะทำให้นักลงทุนมั่นใจกว่า (ว่าจะไม่หนีไปไหน) โอกาสหาเงินลงทุนจึงง่ายกว่า เพราะนักลงทุนจำนวนมากไม่เข้าใจภาษาไทย ไม่ได้อยู่ประเทศไทย ความเข้าใจต่อสภาพธุรกิจในบ้านเราย่อมน้อยกว่า

แล้วถ้าเปรียบเทียบคนไทยกับสิงคโปร์

คนสิงคโปร์หน้าตาเป็นจีน แต่วิธีคิดจะเป็นฝรั่งมากกว่าประเทศอื่นในเอเชีย มีวิธีคิดแบบอินเตอร์กว่า ในแง่ฝีมือคิดว่าไม่ต่างกันมาก ความทุ่มเทกับงานก็พอๆ กัน ถ้าเทียบความคิดความสร้างสรรค์ คิดว่าคนไทยเก่งกว่า แต่สภาพแวดล้อมก็ไม่เอื้อเท่าสิงคโปร์

ปัญหาของสิงคโปร์คือค่าแรงแพง แค่เงินเดือนเด็กจบใหม่ก็ประมาณ 60,000 บาทแล้ว ถือว่าแพงเกินไปถ้าหากสตาร์ตอัพไทยจะไปอยู่แล้วจ้างคนสิงคโปร์ทำงาน

แวดวงสตาร์ตอัพสิงคโปร์

สิงคโปร์จะมีดินแดนสตาร์ตอัพที่เรียกว่า Block 71 โดยรัฐบาลไปเช่าตึกไว้ทั้งบล็อค แล้วให้ชุมชนสตาร์ตอัพไปเช่าอยู่ในราคาถูก บรรดานักลงทุนทั้งหลายจะมีออฟฟิศอยู่ที่โซนนี้ ชาวสตาร์ตอัพที่อยากใกล้ชิดนักลงทุนจึงต้องมารวมตัวกันอยู่แถวนี้ มาสร้างสัมพันธ์กับนักลงทุน ถ้ามีไอเดีย มีทีมงาน ก็เดินมาหาแหล่งทุนได้เลย

การมาเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ ข้อดีที่พบคือเห็นโอกาสเยอะมากๆ เจอคนแปลกใหม่ เจอคนทำสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ง่ายกว่า พอเราได้เห็นวิธีการทำงาน วิธีคิดของคนเหล่านี้ ก็สามารถนำมาพัฒนาตัวเองได้

ถ้าอยากไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์บ้าง ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

ค่าที่พักตีเป็นเงินไทยแล้วอยู่ประมาณ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน ห้องอาจต้องแชร์กัน ส่วนค่ากินไม่ต่างจากเมืองไทยมาก ถ้ารู้แหล่งขายของจริงๆ จะพบว่าราคาของไม่แพงมากนัก รวมแล้วถ้าไปอยู่กันสองคน แชร์ห้องด้วยกัน รวมเงินเดือนแล้วจะอยู่ราว 6-7 พันสิงคโปร์ดอลลาร์ต่อเดือน ก็ประมาณ 150,000-200,000 บาท

อยากฝากอะไรถึงสตาร์ตอัพไทย

อยากแนะนำสตาร์ตอัพไทยว่าถ้ามีโอกาสก็ควรลองมาอยู่สิงคโปร์ดู จะช่วยเปิดโลกมากขึ้นกว่าเดิม

ผมเปิดเพจประสบการณ์ในสิงคโปร์ ส่วนใหญ่ยังมีแต่รูปถ่าย แต่มีคำถามอะไรก็มาฝากไว้ได้ครับ

Blognone Jobs Premium