รีวิว TIDAL บริการ Music Streaming คุณภาพระดับ Lossless

by at1987
6 May 2015 - 02:29

ปัจจุบันการซื้อหาและฟังเพลงผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะบริการ music streaming ที่ทำให้เราฟังเพลงที่ต้องการในราคาแบบเหมาจ่ายรายเดือนที่ไม่แพงมากนัก แต่ก็ต้องแลกกับคุณภาพเสียงที่สูญเสียไปจากการบีบอัดข้อมูลระหว่างการสตรีมมิ่ง

พอดีผมได้รับโอกาสจากทาง Blognone ในการรีวิว TIDAL ซึ่งเป็นบริการ music streaming ที่ชูจุดขายเรื่องการบีบอัดข้อมูลแบบ lossless เพื่อคงคุณภาพเสียงจากต้นฉบับเอาไว้ครับ

TIDAL เป็นบริการ music streaming ของบริษัท Aspiro ประเทศสวีเดน เปิดตัวในปี 2014 ก่อนที่จะถูกซื้อในช่วงต้นปี 2015 โดยบริษัท Project Panther Bidco ของ Jay Z ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งหลังจากการถูกซื้อ TIDAL ก็ได้กลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้ง พร้อมกับศิลปินพันธมิตรชื่อดังหลายคน ประกาศว่า TIDAL เป็นบริการ music streaming ที่ศิลปินเป็นเจ้าของโดยตรง รายได้จะไม่ผ่านผู้ให้บริการและเหล่าค่ายเพลงทั้งหลายเหมือนบริการอื่น ๆ

สำหรับผู้ใช้ทั่วไป จุดเด่นของ TIDAL นอกเหนือจากการสตรีมเพลงด้วยการบีบอัดแบบ Lossless แล้ว ยังมีมิวสิควิดีโอความละเอียดระดับ HD เพลง วิดีโอ ถ่ายทอดการแสดงสด บทความ playlist ที่สร้างโดยศิลปิน และเนื้อหาอื่น ๆ ซึ่งจะมีเฉพาะบน TIDAL เท่านั้น

รูปแบบสมาชิกของ TIDAL มีอยู่ 2 แบบ คือ TIDAL Premium ที่สตรีมเพลงที่บีบอัดแบบ lossy ราคาเดือนละ 179 บาท และ TIDAL HiFi ที่สตรีมเพลงที่บีบอัดในรูปแบบ lossless ราคาเดือนละ 358 บาท ซึ่งทาง Blognone ก็ได้รับสมาชิกแบบ TIDAL HiFi จาก TIDAL มาเพื่อทดลองการใช้งานครับ

บริการของ TIDAL รองรับการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย web player ผ่านเบราว์เซอร์ยอดนิยมทั้ง Firefox, Safari แต่ถ้าต้องการเล่นเพลงแบบ lossless ต้องใช้ Chrome เท่านั้น ส่วนอุปกรณ์พกพาจะมีแอพสำหรับระบบปฏิบัติการ iOS 7 ขึ้นไป และ Android 4.4.4 ขึ้นไปให้ นอกจากนี้ TIDAL ยังสามารถใช้งานกับ network player จากบริษัทเครื่องเสียงชั้นนำ ทั้ง SONOS, LINN, Meridian เป็นต้น

ในการใช้งาน TIDAL ผมได้ใช้ web player ผ่าน Chrome บนคอมพิวเตอร์ และลงแอพของ TIDAL บน Walkman ZX1 ซึ่งก็ทำผมแปลกใจว่าทำไมถึงลงได้ เพราะ Android ของมันแค่เวอร์ชัน 4.1 เท่านั้น

Web player บน Chrome

หน้าตาของ web player และแอพบนอุปกรณ์พกพานั้นอาจจะแตกต่างเพราะขนาดของหน้าจอกันไปบ้าง แต่การทำงานต่าง ๆ นั้นไม่แตกต่างกันเท่าไร การใช้งานจัดว่าง่าย ไม่ยุ่งยากเท่าไร

App บน Android

เพลงที่ทาง TIDAL ให้บริการ จะเป็นเพลงสากลจากค่าย Big Three คือ Sony Music, Universal Music และ Warner Music ซึ่งน่าจะครอบคลุมความต้องการของเหล่าคอเพลงสากล นอกจากนี้ยังมีเพลงภาษาอื่น ๆ อีก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ให้เลือกฟังกันอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเพลงจากศิลปินค่ายเล็ก ๆ และศิลปินอินดี้ให้เลือกฟังอีกมากมาย ซึ่งเพลงในกลุ่มหลัง ทาง TIDAL ก็มีเมนู TIDAL Rising และ TIDAL Discovery เพื่อแนะนำเพลงในกลุ่มนี้ให้ผู้ใช้ TIDAL ได้รู้จักด้วย

หน้ารายละเอียดศิลปินจะมีข้อมูลทั้งเพลงที่ได้รับความนิยม อัลบั้มและซิงเกิ้ลของศิลปิน วิดีโอ ประวัติและลิงก์ไปยังเว็บของศิลปิน นอกจากนี้ยังมี Artist Radio เพื่อให้ TIDAL สุ่มเพลงที่น่าสนใจที่มีแนวคล้าย ๆ กับศิลปินที่เลือกได้

บนแอพสำหรับอุปกรณ์พกพาจะมี Audio Search เพื่อค้นหาเพลงจากฐานข้อมูลของ Gracenote ด้วยเสียงเพลงที่เราฟัง คล้าย ๆ กับ TrackID หรือ Shazam

ส่วนระบบค้นหาทั่วไปของ TIDAL จากการที่ทดลองใช้งาน ยังติดปัญหาอยู่บ้าง คือมันยังไม่ฉลาดพอที่จะเดาสิ่งที่เราต้องการแต่พิมพ์ผิดได้ และบางครั้งถึงผลการค้นหาจะขึ้นมาว่าเจอศิลปินที่ต้องการ แต่เวลาเปิดจริง ๆ ก็ขึ้น not found แทน

เมื่อเราเจอศิลปิน เพลง อัลบั้ม หรือ playlist ที่น่าสนใจ เราสามารถกด favorite เก็บเอาไว้ใน profile ของเราได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะตามเราไปยังทุกที่ที่เราล็อกอิน Web player และแอพบนอุปกรณ์พกพาที่เราได้ sign in ไว้

ส่วนของการเล่นเพลงก็สามารถทำได้เหมือนโปรแกรมเล่นเพลงทั่ว ๆ ไป มีส่วนจัดคิวเพลงที่จะเล่น (Play queue) ซึ่งเมื่อเราเลือกเพลง เพลงที่เลือกก็จะมาต่ออยู่ในคิวนี้ ต่อกันไปเรื่อย ๆ หากเราชอบเพลงที่อยู่ในคิวก็กดบันทึกเป็น playlist เก็บเอาไว้ได้

 

สำหรับแอพของบน Android สามารถควบคุมการเล่นเพลงผ่านหน้าจอ Lock screen ได้ และหากอุปกรณ์ของเรามีปุ่มควบคุมการเล่นเพลง เช่น ปุ่มควบคุมบน Walkman ก็สามารถใช้ปุ่มเหล่านี้ควบคุมแอพได้ด้วย

 

ความพิเศษของการใช้งาน TIDAL บนอุปกรณ์พกพา คือความสามารถในการโหลดเพลงที่ต้องการเล่นเก็บไว้บนอุปกรณ์ แล้วเปิดฟังแบบ offline ได้ ซึ่งวิธีการทำก็แสนง่ายได้ เพียงเข้าไปดูอัลบั้มหรือ playlist ที่ต้องการ แล้วเลื่อนสวิตช์ offline เท่านั้น ตัวแอพจะทำการดาวน์โหลดเพลงลงมาในอุปกรณ์ตามคุณภาพที่เราตั้งค่าไว้ เมื่อโหลดเสร็จแล้ว เราก็สามารถเข้ามาในเมนู Offline content เพื่อเล่นเพลงที่โหลดมาได้

บัญชี TIDAL 1 บัญชี จะสามารถใช้งาน Offline content ได้บนอุปกรณ์สูงสุด 3 เครื่อง และใช้งานแบบ online ได้สูงสุด 1 เครื่องพร้อมกันครับ

ในส่วนของการตั้งค่า web player นอกจากเรื่องการจัดการบัญชีผู้ใช้ การเชื่อมต่อกับ Facebook และ Last.fm ยังมีการตั้งค่าคุณภาพของการสตรีมเพลง ซึ่งเราสามารถเลือกคุณภาพการบีบอัดได้ 3 ระดับ คือ

  • Normal เข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ AAC+ (ชื่อตามมาตรฐาน HE-AAC) ที่ bit rate 96 kbps
  • High เข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ AAC ที่ bit rate 320 kbps
  • HiFi เข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ FLAC ที่ bit rate 1411 kbps

ความละเอียดของสัญญาณเสียงของ TIDAL อยู่ที่ 16-bit 44.1 kHz ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐาน Audio CD

เมื่อเราเลือกคุณภาพการบีบอัดแบบ HiFi ในหน้าจอ player โลโก้ HiFi จะสว่างขึ้นมา อย่างไรก็ตามยังมีเพลงบางส่วนที่ไม่สามารถเลือกคุณภาพ HiFi ได้ เราก็จะฟังได้แค่คุณภาพระดับ High หรือต่ำกว่าครับ

ส่วนการตั้งค่าของแอพบนอุปกรณ์พกพา จะเพิ่มเติมในส่วนของการตั้งค่าการโหลดเพลงแบบ offline และสามารถตั้งค่าคุณภาพของการสตรีมเพลงและการโหลดเพลงแบบ offline แยกจากกันได้ นอกจากนี้ยังสามารถให้แอพกำหนดคุณภาพเองตามความเร็วของการเชื่อมต่อได้อีกด้วย

สำหรับข้อแตกต่างสำหรับ codec ทั้ง 3 ตัว คือ AAC+ และ AAC จะเป็นการเข้ารหัสเสียงแบบ lossy คือ ระหว่างการเข้ารหัสจะมีการตัดทอนข้อมูลบางส่วนที่ไม่สำคัญออกไป เช่น ช่วงความถี่เสียงที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยิน และเมื่อนำสัญญาณที่เข้ารหัสมาเล่นกลับ ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลที่โดนตัดทอนไปคืนมาได้

ผังอธิบายการเข้ารหัสด้วยเทคโนโลยี SBR ที่มา: Coding Technologies

AAC+ จะแตกต่างจาก AAC คือใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Spectral band replication (SBR) มาเพิ่มประสิทธิภาพการเข้ารหัส โดยการให้เข้ารหัสเฉพาะช่วงความถี่ต่ำและความถี่กลาง ส่วนช่วงความถี่สูงจะให้ตัวถอดรหัสสร้างขึ้นมาใหม่ โดยการยกระดับฮาร์โมนิคจากช่วงความถี่ต่ำและกลางร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ  ที่ใส่มาในสัญญาณ ทำให้คงคุณภาพเสียงที่ bit rate น้อย ๆ ได้

ส่วน FLAC นั้นจะเป็นการเข้ารหัสเสียงแบบ lossless คือระหว่างการเข้ารหัส จะไม่มีการตัดทอนข้อมูลใด ๆ ออกไป และสามารถนำข้อมูลต้นฉบับกลับมาเมื่อนำสัญญาณมาเล่นกลับได้

เมื่อเทียบความแตกต่างของเพลงที่คุณภาพทั้ง 3 ระดับแล้ว ตัว AAC+ นั้นให้เสียงที่อุดอู้ไม่ชัดเจน ความดังของเสียงค่อนข้างเบา คุณภาพเสียงโดยรวมทำได้พอ ๆ กับเสียงในวิดีโอของ Youtube ในขณะที่ AAC นั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า AAC+ แบบเห็นได้ชัด ส่วน FLAC นั้น ถ้าเทียบกับ AAC แล้ว ค่อนข้างแยกความแตกต่างได้ยาก เพราะตัว AAC ของ TIDAL เอง ก็เข้ารหัสที่ bit rate สูงกว่า AAC ที่ไว้เข้ารหัสเพลงที่ขายใน iTunes Store เสียอีก

นอกจากนี้การเลือกคุณภาพแบบ FLAC นั้นต้องการความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มากและเสถียรพอสมควร ถึงจะเล่นได้อย่างไม่กระตุก ซึ่งอย่างบ้านของผมใช้อินเตอร์เน็ตความเร็ว 20 Mbps ก็ยังมีกระตุกบ้างเป็นบางครั้ง และตอนเริ่มเล่นเพลงแรกทุกครั้ง ตัว player จะใช้เวลา buffer ข้อมูลนานพอสมควรถึงจะเริ่มเล่นได้ จากนั้นเพลงต่อมาในคิวก็จะถูกตัว player แอบโหลดมาเก็บไว้ล่วงหน้าก่อน แต่ถ้าเรามีการกดข้ามเพลงในคิว ก็ต้องรอ buffer ใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามถ้าอินเตอร์เน็ตที่ใช้งานมีความเร็วไม่มากนักหรือมีความเสถียรต่ำ เช่น ต้องแชร์ความเร็วร่วมกับคนอื่น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเล่นเพลงด้วยคุณภาพ FLAC โดยไม่กระตุกหรือใช้เวลา buffer ไม่นาน ทำให้ต้องลดคุณภาพลงมาเพียง AAC หรือ AAC+ เพื่อให้สามารถเล่นเพลงได้อย่างต่อเนื่องแทน

Conclusion

จากการใช้บริการ TIDAL มาสักพักใหญ่ สิ่งที่ผมประทับใจอย่างแรกคือการมีคลังเพลงขนาดใหญ่ ที่เราอยากจะฟังเพลงไหนก็กดค้นหาศิลปินที่ต้องการ แล้วเลือกเพลงมาฟังได้เลย ซึ่งถ้าใครเป็นคอเพลงสากลยอดนิยม ก็น่าจะหาเพลงยอดนิยมในระบบมาฟังไม่ยากนัก รวมทั้งการเล่นเพลงแบบ offline บนอุปกรณ์พกพา ที่ช่วยให้เราสามารถฟังเพลงบน TIDAL ในสถานที่ที่การเชื่อมต่อไม่อำนวย หรือต้องการประหยัดโควต้าการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้

ส่วนจุดขายของ TIDAL ในเรื่องของคุณภาพเสียง จริง ๆ แค่คุณภาพระดับ High ก็เพียงพอต่อการฟังแบบทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าใครมีชุดเครื่องเสียงที่มีประสิทธิภาพ ก็น่าจะได้ประโยชน์จากเพลงในคุณภาพแบบ HiFi ซึ่งนอกเหนือจากการใช้การเข้ารหัสที่เหนือกว่าผู้ให้บริการเจ้าอื่นแล้ว TIDAL เองน่าจะได้ต้นฉบับที่มีคุณภาพเพียงพอจากทางค่ายเพลง ในการนำมาเข้ารหัสในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บริการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม TIDAL เองก็ยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่อีกมาก ในกลุ่มผู้ฟังทั่วไป ก็มีบริการ Music streaming เจ้าอื่น ๆ ที่ตอนนี้ก็มีบางเจ้าเริ่มให้บริการเพลงแบบ lossless แล้ว เช่น Deezer Elite ในส่วนกลุ่มนักฟังเพลงจริงจัง ก็ต้องไปสู้กับร้านค้าที่ขายเพลงความละเอียดสูง ซึ่งถึงแม้ว่าราคาต่อเพลงจะค่อนข้างสูง แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังยินดีที่จะจ่ายเพื่อแลกกับคุณภาพอยู่ ถึงแม้ว่า TIDAL เองจะได้ตกลงกับ Meridian ในการนำการเข้ารหัสสำหรับเสียงความละเอียดสูงอย่าง MQA เพื่อเตรียมนำมาให้บริการสตรีมเพลงในรูปแบบความละเอียดสูงเหมือนกัน แต่นั้นก็เป็นเรื่องของอนาคต

ผมคิดว่าตัวบริการ TIDAL โดยเฉพาะสมาชิกแบบ HiFi เองน่าจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องซื้อซีดีเพลงสากลทุก ๆ เดือน ซึ่งถ้าเปลี่ยนจากการซื้อแผ่น มาเป็นการสมัครสมาชิก TIDAL HiFi ก็จะสามารถเข้าถึงเพลงคุณภาพระดับเดียวกับในแผ่นซีดีได้มากกว่า การซื้อแผ่นเพลงเสียอีก ถ้าใครมีลักษณะการฟังเพลงแบบนี้ TIDAL เองก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจครับ

ขอขอบคุณ TIDAL ที่ได้มอบสมาชิกเพื่อทดลองใช้ และทีมงาน Blognone ที่ให้โอกาสได้รีวิวด้วยครับ

Blognone Jobs Premium