ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราคงคุ้นชื่อแบรนด์ Xiaomi ในนามผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและฮาร์ดแวร์สเปกสูงราคาประหยัดจากจีน ด้วยอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน จึงจูงใจให้เราอยากนำเสนอเรื่องราวของสตาร์ตอัพรายนี้ครับ เผื่อจะจุดไฟแรงบันดาลใจผู้คนให้ลุกขึ้นมาสร้างสิ่งใหม่กัน
(disclaimer: ผมยังไม่กล้าเขียนชื่อแบรนด์-ชื่อผู้คนในงานเขียนนี้เป็นภาษาไทยนะครับ เพราะยังไม่ทราบว่าวิธีการอ่านที่ถูกต้องว่าเขาอ่านอย่างไร)
Xiaomi เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายนปี 2010 โดย Lei Jun อดีตซีอีโอของ Kingsoft (บริษัทซอฟต์แวร์รายหนึ่งของจีน ทำพวกแอพออฟฟิศ, แอนตี้ไวรัส ฯลฯ) และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พอร์ทัลไอทีและดาวน์โหลดโปรแกรมนามว่า Joyo.com และในปี 2004 ก็ถูก Amazon ซื้อไปเป็น Amazon China
ตอนเริ่มแรก Xiaomi ยังไม่ได้ทำฮาร์ดแวร์ของตัวเอง แต่เริ่มจากเป็นทีมทำรอมแบบ after market ให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในนาม MIUI (อ่านว่า "Me You I") ปัจจุบันรอมตัวนี้ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนของตัวเอง และใช้กับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นๆ แล้วกว่า 200 รุ่น จุดเด่นของรอม MIUI น่าจะอยู่ที่ความเรียบง่ายและสวยงามต่อเติมจากฟังก์ชั่นพื้นฐานของระบบแอนดรอยด์ทั่วไป (และอดไม่ได้ที่จะเทียบเคียง iOS ในบางมิติ)
ชายเสื้อแดงตรงกลางภาพคือ Lei Jun ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO และ Chairman ของ Xiaomi ล้อมรอบด้วยทีมงานและผู้ร่วมก่อตั้ง
ไม่ได้มีแค่แม่ทัพ แต่ทีมผู้ร่วมก่อตั้ง Xiaomi มีทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย (เรียงจากซ้ายไปขวา):
ในเวทีโลก Xiaomi ยังมี Hugo Barra อดีตรองประธานของ Android Product Management จาก Google มาช่วยดูแล Xiaomi ในส่วน Global Division ด้วย ช่วยขยายตลาดของบริษัทไปยังประเทศอื่นๆ นอกจีนได้มากขึ้น
เห็นได้ว่า Xiaomi ก่อตั้งขึ้นด้วยทีมงานผู้ทรงประสบการณ์ในแต่ละสาขารอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านคอนเทนต์ ที่ได้ Tong Chen อดีตรองประธานและบรรณาธิการบริหารของ Sina.com พอร์ทัลไซต์ใหญ่สุดของจีนมาช่วยดูแล โดยรวมแล้วเรียกว่าฟอร์มดีอย่างยิ่ง
เป็นเกร็ดนิดหนึ่ง: มีการพูดถึงสกิลภาษาอังกฤษอันไม่แข็งแรงในการเปิดตัว Mi 4i ที่อินเดียของ CEO Lei Jun ด้วย แต่ผลที่ได้รับคือ... (ไม่ clickbait) มีการวิพากษ์ในวงกว้างแต่ก็ไม่ได้ส่งผลลบร้ายแรงถึงแบรนด์ขนาดนั้น
ตัวรอม MIUI ปัจจุบันมาถึงเวอร์ชั่น 6 พร้อมทำงานร่วมกับเซอร์วิสต่างๆ ของ Xiaomi เอง ทั้งแอพสโตร์ของตัวเอง (MIUI Market, MIUI Games ไม่จำเป็นต้องใช้แอพจาก Play Store อย่างเดียว), MiCloud (บริการคลาวด์สตอเรจความจุ 5GB ซิงค์กับอุปกรณ์ต่างๆ), MiLife (บริการรวมกลุ่มกันซื้อหรือ group buying เพื่อได้สินค้าและบริการราคาถูก) ฯลฯ ต้องบอกก่อนว่าบริการ Xiaomi ส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาจีนล้วน และคงจะค่อยๆ ปรับตัวเพื่อขยายตลาดมายังต่างประเทศต่อไป
ที่น่าสนใจคือตอนนี้มีผู้ใช้ MIUI เกิน 100 ล้านรายเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมีคอมมูนิตี้ของผู้ใช้อย่างแข็งแกร่งในฟอรั่ม ที่ผู้คนเข้าไปสอบถาม แบ่งปันข้อมูลได้อย่างเสรี
ปี 2011 Xiaomi เริ่มขยายตัวเองจากการทำรอม มาเป็นการผลิตฮาร์ดแวร์ของตัวเอง จากการเปิดตัวมือถือ Mi One ที่สร้างความฮือฮา เพราะเป็นสมาร์ทโฟนสเปกสูงในราคาย่อมเยา จนกวาดยอดขายได้กว่า 7 ล้านเครื่อง เกินเป้าที่ตั้งไว้เพียงหลักแสนเครื่องเท่านั้น
ในปีต่อมา ก็ปล่อย Mi 2 ก็พบกับยอดขายล็อตแรก 50,000 เครื่องในจีนหมดใน 3 นาที จวบปัจจุบัน สมาร์ทโฟนของ Xiaomi มาถึง Mi 4 พร้อมปล่อยรุ่นย่อย และรุ่นแฟ็บเล็ต Mi Note โดยยังคงแนวโน้มยอดขายถล่มทลายแบบเดิมในหลายประเทศ
จุดเด่นของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต (และฮาร์ดแวร์อื่นๆ) ของทาง Xiaomi จะอยู่ที่สเปกของฮาร์ดแวร์เมื่อเทียบกับราคาแล้วคุ้มค่ามาก อย่างเช่นสมาร์ทโฟน Mi 4 ตัวเรือธงตอนนี้ คุณจะได้สมาร์ทโฟนชิป Snapdragon 801 2.5GHz, 3GB RAM, สตอเรจ 16/64GB, จอ 5" 1080p ในราคาหมื่นบาทต้นๆ เท่านั้น
หมายเหตุ: ถ้าไม่นับเครื่องหิ้ว ตอนนี้ (พ.ค. 2558) ผู้ใช้ในประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าของ Mi 4 ในราคา 10,990 บาท โดยผู้นำเข้าสองราย คือโดยทรู และ STREK ซึ่งให้เปิดจองในงาน Thailand Mobile Expo 7-10 พฤษภาคม 2558 นี้
ในด้านฮาร์ดแวร์ Xiaomi คิดไปไกลกว่าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาก บริษัททยอยเปิดตัวสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกหลายตัว เช่น
ไม่หยุดเพียงเท่านี้ Lei Jun เคยประกาศไว้ว่าจะสร้างอาณาจักรด้าน Internet of Things โดยพร้อมลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพไปแล้วกว่า 20 ราย และมีแผนจะลงทุนเพิ่มในอีกกว่า 100 บริษัท
Xiaomi พยายามวางตัวเองเป็นมวยรองในตลาดสมาร์ทโฟนโลก แต่ก็แอบแง้มว่าอยากเป็น global brand ด้วยกลยุทธ์ตั้งราคาให้ย่อมเยา (ถูกกว่าครึ่งของ iPhone) และลดราคาจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 10% จากการตัดมาร์จินหน้าร้านแบบเดิมๆ มาขายออนไลน์ล้วนในจีน, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, อินเดีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไต้หวัน (ไหนล่ะไทย? รอก่อน)
Hugo Barra เคยกล่าวไว้ในงาน MWC2015 ว่าวิธีรุกตลาดยุโรปจะใช้แผนเดียวกับในสหรัฐ คือค่อยๆ ขายอุปกรณ์เสริมและสินค้าไลฟ์สไตล์ผ่านทางหน้าเว็บ Mi.com ก่อน ทว่าเรื่องสมาร์ทโฟนในสหรัฐหรือยุโรป ก็ขอรุกเจาะตลาดอินเดียให้ได้ก่อนในระยะนี้
ด้านยอดขาย อ้างอิงตัวเลขจาก IDC เมื่อไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2014 Xiaomi มียอดขายสมาร์ทโฟนรวมกันทั้งโลกอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองแค่ Apple และ Samsung เท่านั้น และเมื่อโฟกัสมาที่ตลาดจีน ยอดขายสมาร์ทโฟนในจีนก็เอาชนะ Samsung ในบ้านเกิดของตนได้แล้ว (ไม่แน่ใจว่าทิศทางยอดขายในอีกครึ่งปีที่เหลือนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องลองติดตามดู)
แต่ความสำเร็จของ Xiaomi ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรคซะทีเดียว เพราะการผงาดขึ้นมาในระดับโลก ย่อมต้องเจอกับแรงเสียดทานจากรอบทิศ
การดีไซน์ Xiaomi เดินตามรอยของแอปเปิล และมักถูกเรียกว่าเป็น "Apple of China" อยู่เนืองๆ จนถึงขั้นที่ว่าท่านเซอร์ Jonathan Ive แห่ง Apple เคยเอ่ยถึงว่าแบรนด์จีนรายนี้เป็นโจร ก๊อปดีไซน์เขามา ทว่าจากเหตุการณ์นั้นทาง Xiaomi ก็เลือกโต้กลับด้วยการเสนอให้ท่านเซอร์ฯ มาลองใช้ของแบรนด์ตนดู พร้อมระบุว่า "design language" ของ iPhone 6 ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้นก็อย่ามาเคลมว่าดีไซน์ตัวเองคือต้นแบบเลย หรืออย่างที่มีคนกังขาว่าทำไมการเปิดตัวสินค้าของ Xiaomi ถึงคล้ายกับ Apple ซึ่ง Hugo Barra เคยกล่าวไว้ว่าบริษัททั่วโลกก็ใช้วิธีการนำเสนอแบบนี้
ในแผ่นดินกว้างใหญ่อย่างเมืองจีนเอง ก็ใช่ว่ามังกรจะมีตัวเดียว ล่าสุดบน Weibo (สื่อสังคมออนไลน์คล้ายทวิตเตอร์ในจีน) เพิ่งมีดราม่าระหว่าง Xiaomi และ LeTV แบรนด์สมาร์ทโฟนร่วมชาติ ที่ต่างคนก็เคลมว่าเครื่องของตนขอบจอบางสุด จากรายงานนี้พยายามจะชี้ว่า ยังมีคู่แข่งร่วมชาติที่ต้องแข่งขันกันแบบรู้กัน แต่เป้าหมายเดียวกันก็คือต่างคนก็ต่างจะงัดกับ Apple ให้ได้เช่นกัน
จากข้อมูลในเว็บไซต์ Whogotfunded ระบุว่าการระดมทุนขุนสตาร์ตอัพเนื้อหอมแดนมังกรรายนี้มีการเปิดเผยตัวเลขแค่ 2 ครั้งจาก 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ 27 เมษายน 2015 ก็ได้รับเงินลงทุนอีกก้อนแต่ไม่ระบุตัวเลข จาก Ratan Tata นักลงทุนชาวอินเดีย (เครือเดียวกับรถยนต์ TATA) ทำให้มูลค่าของ Xiaomi ตอนนี้อยู่ที่ 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่ Lei Jun ในวัย 45 ปีก็เพิ่งได้รับตำแหน่ง Businessman of the Year ประจำปี 2014 โดยนิตยสาร FORBES ASIA นับเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนลำดับที่ 8 ณ มูลค่าทรัพย์สินรวม 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ต้องมีสูตรลับ วิธีคิด ดวง กึ๋น อะไรบางอย่างนอกเหนือจากการได้บุคลากรที่ดี เม็ดเงินที่ได้รับและลงทุนต่อ ทำให้ Xiaomi รุ่งโรจน์ในดินแดนตะวันออกในระยะเวลาไม่กี่ปี (5 ปี ถ้าเลี้ยงลูกก็ยังไม่เข้าโรงเรียนเลย) ซึ่งประวัติศาสตร์อาจต่างไปจากตำนานร่วมชาติอย่าง Alibaba ของ Jack Ma ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งโครงสร้าง ผลิตภัณฑ์ และการทำงาน
จุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจของ Xiaomi คือการใช้โมเดลธุรกิจแบบไม่ได้ถือครองเทคโนโลยีหรือสิทธิบัตรใดๆ เป็นของตัวเอง แต่เป็นการอาศัยเรี่ยวแรงของพาร์ทเนอร์ได้ทำสิ่งที่แต่ละเจ้าถนัด เช่นใช้พาเนลจอของคนนั้น ชิปประมวลผลของแบรนด์นี้ ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีในราคาย่อมเยา และปรับตัวได้ไวกว่าหากเทรนด์เปลี่ยนไป และอีกอย่างคือความใกล้ชิดกับผู้ใช้ ทำให้รับฟีดแบ็กมาปรับปรุงในรุ่นต่อไปได้อย่างว่องไว แต่เมื่อฐานแฟนใหญ่ขึ้น ความทั่วถึงอาจไม่เหมือนก่อน ก็ต้องมาดูกัน
ที่มาและแหล่งอ้างอิง