Facebook เผยงานวิจัย อัลกอริทึมไม่ใช่สิ่งสำคัญในการเลือกโพสต์ขึ้นมาแสดง เท่ากับตัวผู้ใช้

by nrad6949
20 May 2015 - 15:22

หลายครั้งที่เราอาจจะคิดว่าอัลกอริทึมเบื้องหลังของ News Feed บน Facebook ทำให้เราเลือกที่จะรับข่าวสารภายในเครือข่ายสังคม (social network) ของตัวเองมากกว่าที่จะเป็นตัวเราเลือก แต่บทความวิชาการล่าสุดที่ตีพิมพ์โดยนักวิจัยของ Facebook ในวารสารวิชาการ Science กลับระบุว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวอัลกอริทึมแต่อย่างใด หากแต่เป็นที่ตัวผู้ใช้เองที่เลือกรับข้อมูล

นักวิจัยของ Facebook เริ่มต้นจากการอ้างถึงงานวิจัยก่อนหน้าว่าข้อมูลที่เรามักจะได้มา จะมาจากสายสัมพันธ์แบบอ่อน (weak ties เป็นคำอธิบายทฤษฎีทางสังคมของ Granovetter นักสังคมวิทยา ที่ระบุว่าคนที่เรารู้จักไม่มากหรือไม่สนิทมาก กลับมีอิทธิพลกับเรามากกว่าที่คิด) รวมถึงงานวิจัยที่ระบุว่าเรามักจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เราคิดต่างกันมากกว่า จากนั้นจึงเอาข้อมูลเชิงประจักษ์มาทำการวิจัย (ในที่นี้คือด้านการเมืองของสหรัฐฯ บน Facebook ช่วงกรกฎาคมปีที่แล้ว ถึงมกราคมปีนี้) ซึ่งก็พบว่าอันที่จริงแล้วเรามักจะเลือกรับข่าวสารจากเครือข่ายสังคม มากกว่าที่จะเป็นตัวอัลกอริทึมเลือกให้นั่นเอง

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าว ยังโต้ตอบกับทฤษฎีทางสังคมที่ระบุว่าคนที่คิดเหมือนกันมักจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มเดียวกัน (เช่น Aristotle, Max Weber) ที่เรียกว่า "homophily" โดยชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลในงานวิจัย ระบุชัดเจนว่าคนในเครือข่ายสังคมมักจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดต่างไปจากตัวเองด้วย ใครสนใจสามารถไปอ่านฉบับย่อได้จากที่มา หรือฉบับเต็มได้ที่นี่ครับ

ที่มา - Facebook Research

Blognone Jobs Premium