หลังจากที่ทีมนักวิจัยของ Facebook เผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่าอัลกอริทึมของ News Feed ไม่มีผลมากเท่ากับตัวของผู้ใช้เอง นักวิชาการด้านอินเทอร์เน็ตศึกษา (Internet Studies) อย่าง Zeynep Tufekci ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ School of Information and Library Science และสอนด้านสังคมวิทยาที่ University of North Carolina, Chapel Hill ออกมาระบุว่างานวิจัยดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยเธอชี้ให้เห็นว่าอัลกอริทึมของ News Feed มีผลต่อการรับรู้ข้อมูลของผู้ใช้ด้วย
Tufekci เริ่มต้นด้วยการระบุความผิดพลาดในเชิงวิธีวิทยาของการวิจัย โดยชี้ให้เห็นถึงการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพียง 4% ของกลุ่มตัวอย่างที่จะเป็นไปได้ทั้งหมด รวมไปถึงการเปรียบเทียบที่ผิดพลาดระหว่างตัวเลือกของผู้ใช้กับการมีบทบาทของอัลกอริทึมในการเลือกข้อมูล และการที่ข้อมูลบางชุดออกมาขัดกับข้อสรุปของนักวิจัยเอง (ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ระบุว่าตัวเองเป็นเสรีนิยม อัลกอริทึมจะมีผลในการจำกัดความหลากหลายของข้อมูลมากกว่ากลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยม)
นอกจากปัญหาในเชิงการวิจัยแล้ว Tufekci ยังระบุเพิ่มเติมว่าสิ่งที่งานวิจัยนี้ยังขาดคือการไม่ศึกษาปรากฏการณ์ที่อยู่นอก Facebook เพิ่มเติม โดยชี้ให้เห็นว่าอัลกอริทึมของ News Feed จริงๆ แล้วก็มีส่วนในการทำให้ข้อมูลบางอย่างปรากฏและไม่ปรากฏแก่ผู้ใช้ ซึ่งทำให้ตัว News Feed ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดข้อมูล (gatekeeper) ที่สามารถเลือกว่าจะแสดงหรือไม่แสดงข้อมูลใดก็ตาม อันเป็นการควบคุมในระดับหนึ่ง (a modest suppressor) นั่นเอง
ที่มา - The Message