ปีนี้ประเด็นสำคัญของโลกออนไลน์ไทยคงเป็นประเด็นกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่ออกมารวดเดียวสิบฉบับ ขณะที่แรงสนับสนุนกฎหมายเหล่านี้มาจากฝั่งทหาร ที่ระบุว่า "ไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ" เมื่อปี 2555 คณะกรรมมาธิการทหาร วุฒิสภา ได้ทำรายงาน "สื่อสังคมออนไลน์กับภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ" (PDF จากเว็บวุฒิสภา) เนื้อหาของรายงานฉบับนี้น่าจะทำให้เราได้เข้าใจมุมมองของการผลักดันกฎหมายและนโยบายหลายอย่างในปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจึงยกประเด็นหลายประเด็นจากรายงานนี้มาสรุปไว้
กระทรวงไอซีทีพยายามปิดเนื้อหาจาก YouTube อย่างหนัก แต่ปรากฎว่าไม่สามารถปิดได้เนื่องจากมี URL หลากหลาย และไม่สามารถปิดกั้นบน iOS ได้ (เข้าใจว่าเพราะเข้ารหัส) กระทรวงไอซีทีพยายามเจรจากับกูเกิลและเฟซบุ๊ก แต่ได้รับความร่วมมือจำกัดเฉพาะเว็บลามกอนาจาร, ยาเสพติด, หรือการเรียกค่าไถ่ แต่เรื่องหมิ่นสถาบันรับไว้พิจารณา นอกจากนี้กระทรวงไอซีทีเสนอว่าปัญหาของการปิดกั้นเว็บไซต์อยู่ที่ดาวเทียมไม่ได้อยู่ในกำกับของรัฐบาล ถ้าดาวเทียมอยู่ในกำกับก็จะปิดกั้นได้เลย สอดคล้องกับกระทรวงไอซีทีพยายามเสนอให้สร้างดาวเทียมใช้เองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ทางอนุกรรมาธิการเสนอต่อกระทรวงไอซีทีให้ ISP เก็บล็อกการอัพโหลดวิดีโอ เพราะระหว่างอัพโหลดจะมีค่า ID ของวิดีโออยู่แล้ว ถ้ารู้ค่าเหล่านี้พร้อมค่าไอพีก็จะจับกุมได้
รายงานยังระบุถึงความจำเป็นของการลงทะเบียนซิม โดยอนุกรรมาธิการให้ความเห็นเพิ่มเติมหลายครั้งว่าการลงทะเบียนซิมเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถระบุเจ้าของได้ แต่ก็ยอมรับว่าหากบังคับลงทะเบียนก็จะเกิดปัญหาการใช้บัตรประชาชนคนอื่นมาลงทะเบียน ทางอนุกรรมาธิการเสนอว่าอนาคตอาจจะใช้ข้อมูลพันธุกรรมมาระบุตัวตนเจ้าของซิม
สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำเสนอแนวคิด Lawful Interception เพราะไม่สามารถหาตัวตนผู้โพสได้ โดยยกตัวอย่างการโพสเฟซบุ๊กที่ ISP เคยปฎิเสธว่าไม่มีอุปกรณ์ตรวจสอบและต้องใช้หมายศาลเพื่อขอข้อมูล ทางตำรวจจึงต้องไปขอหมายศาลก่อนจะเข้าตรวจสอบและจับกุมภายหลัง
ทางกระทรวงกลาโหมระบุว่ามีความพร้อมในหลายด้านโดยสามารป้องกันเครือข่ายของทหารเองได้ (Computer Network Defense - CND) และสามารถเจาะระบบอื่นๆ (Computer Network Exploitation - CNE) แต่ใช้เฉพาะความมั่นของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีข้อจำกัดห้ามใช้เครื่องมือของราชการ
ทางกองทัพบกได้แสดงตัวเลขการทำเดินงานเผยแพร่ข้อมูลตอบโต้กลุ่มต่อต้านสถาบัน และชี้แจงข้อเท็จจริงในการปฎิบัติภารกิจของกองทัพบก ในปี 2554 สามารถโพสได้เฉลี่ยวันละ 11,393 ข้อความ รวมทั้งปีมากกว่าสี่ล้านข้อความ
รายงานทัั้งหมด 156 หน้า รวบรวมความเห็นจากหน่วยงานจำนวนมากกว่าที่ผมยกขึ้นมา ผู้สนใจว่านโยบายไอทีปัจจุบันที่หลายครั้งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ การอ่านรายงานฉบับนี้ก็น่าจะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น