Nutanix ถือเป็นสตาร์ตอัพสาย enterprise ที่กำลังมาแรงมาก บริษัทเริ่มก่อตั้งในปี 2009 และเริ่มวางขายสินค้าครั้งแรกในปี 2011 เวลาผ่านมาได้เพียงไม่กี่ปี บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถระดมทุนได้แล้วกว่า 300 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าบริษัทเกิน 2 พันล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว หนึ่งในบริษัทที่มาลงทุนคือ SAP) และน่าจะขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้ (ท่ามกลางข่าวลือล่าสุดว่า Cisco สนใจเข้ามาสอยไปก่อน IPO)
ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Paul Serrano ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กับคุณทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Nutanix เพื่อทำความรู้จักกับสตาร์ตอัพรายนี้กันครับ
Nutanix เป็นบริษัทขายเซิร์ฟเวอร์ นับจนถึงปัจจุบัน สินค้าของบริษัทคือการขายฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว แต่เซิร์ฟเวอร์ของ Nutanix เป็นเซิร์ฟเวอร์แนวคิดใหม่ที่กลับวิธีคิดจากเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ
ปกติแล้ว เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในองค์กร เรามักแยกกันระหว่างเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผล (compute) เช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ เมลเซิร์ฟเวอร์ แอพพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ กับ สตอเรจ สำหรับเก็บข้อมูลพวก NAS/SAN
ข้อเสียของการใช้สถาปัตยกรรมแบบเดิมคือสตอเรจเป็นเทคโนโลยีเฉพาะ (proprietary) ของบริษัทแต่ละแห่ง มีราคาแพง บริหารจัดการได้ยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านสตอเรจโดยเฉพาะ อีกทั้งการขยายขนาด (scale) ทำได้ยากกว่า
บริษัทที่พยายามแก้ปัญหาข้างต้นคือกูเกิล ที่นำแนวคิดการควบคุมระบบไอทีผ่านซอฟต์แวร์แทน ถ้าใครเคยอ่านเรื่องระบบเซิร์ฟเวอร์ของกูเกิล น่าจะพบทราบดีว่ากูเกิลซื้อชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ในท้องตลาดมาทำเซิร์ฟเวอร์เอง แล้วเขียนโปรแกรมควบคุมระบบเอง กูเกิลไม่สนใจเรื่องเซิร์ฟเวอร์พังเป็นรายตัว เพราะข้อมูลทุกชุดเก็บ 3 สำเนาเสมอ ถ้าเครื่องพังก็เปลี่ยนออก นำเครื่องใหม่ใส่แทน ที่เหลือซอฟต์แวร์ของกูเกิลจะจัดการเรียกข้อมูลคืนให้อัตโนมัติ
แนวคิดแบบนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเวิร์คในยุคของคลาวด์ และส่งผลให้บริษัทไอทีรายอื่น (เช่น เฟซบุ๊ก, Azure, AWS) หันมาเดินรอยตามกูเกิลในเรื่องนี้
แต่เซิร์ฟเวอร์ล้ำยุคของกูเกิลมีใช้เฉพาะในบริษัทกูเกิลเองเท่านั้น กูเกิลไม่เปิดเผยซอฟต์แวร์เหล่านี้ต่อบุคคลภายนอก (มีเฉพาะเปเปอร์วิชาการอธิบายแนวทาง) ระยะหลังเราจึงเห็นโครงการโอเพนซอร์สหลายแห่งพยายามสร้างระบบลักษณะเดียวกับกูเกิลขึ้นมา เช่น Hadoop ที่ริเริ่มโดยยาฮู หรือโครงการ OpenCompute ของเฟซบุ๊ก
Nutanix เป็นบริษัทอีกแห่งที่ใช้แนวคิดแบบเดียวกัน นั่นคือสร้างเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิ้นส่วนที่หาได้ทั่วไป (commodity) แล้วหันไปเน้นการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการให้มากขึ้นแทน (จะเรียกว่าเป็นหนึ่งในบริษัทสาย software-defined data center ก็ได้)
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Nutanix จึงเป็นองค์กรที่อยากได้ระบบไอทีแบบกูเกิล แต่ไม่มีให้ซื้อที่ไหน (เพราะกูเกิลไม่ทำขาย) Nutanix จึงอาศัยช่องว่างทางการตลาดนี้เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้านี้
Nutanix เรียกเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองว่า hyper-converged ซึ่งหมายถึงการผนวกเอาเซิร์ฟเวอร์กับสตอเรจไว้ด้วยกันในกล่องเดียว (เป็นแร็คขนาด 2U มาตรฐาน) ที่เหลือควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ทั้งหมด การสเกลหรือขยายขนาดทำได้อัตโนมัติ เพียงแค่ซื้อเซิร์ฟเวอร์อีกตัวมาวางเพิ่มเท่านั้น
แนวคิดของ Nutanix คือเมื่อกระบวนการคอนฟิกและบริหารจัดการทั้งหมดไปอยู่ที่ซอฟต์แวร์ ทำให้งานแอดมินระบบลดความซับซ้อนลงไปมาก แถมการสเกลก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก ในภาพรวมจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรในด้าน IT infrastructure ลง
เมื่อนำเซิร์ฟเวอร์ของ Nutanix มาวางต่อๆ กัน ระบบจัดการสตอเรจจะมองสตอเรจทั้งหมดเป็นผืนเดียวกัน โดยเรียกว่า NDFS (Nutanix Distributed File System)
สถาปัตยกรรมของ Nutanix จะเป็นดังภาพครับ เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะรัน Controller VM หรือ CVM ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะของ Nutanix เอง เพื่อให้เซิร์ฟเวอร์คุยกันได้เอง ส่วนงานที่ไปรันบนเซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวก็รันผ่าน VM เหมือนอย่างเซิร์ฟเวอร์ทั่วไปอีกทีหนึ่ง (เลือก Hypervisor ได้ตามชอบ ซึ่ง Nutanix รองรับหมดทั้ง VMware ESXi, Microsoft Hyper-V และ KVM ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน ถ้ารันผ่าน VM อยู่แล้วก็ย้ายมารันบน Nutanix ได้หมด)
รายละเอียดทางเทคนิคของ Nutanix อ่านได้จาก Nutanix Bible เขียนไว้ละเอียดมากครับ
โดยรวมแล้ว Nutanix เป็นทางเลือกใหม่ของวงการ data center สำหรับองค์กรที่อยากได้เซิร์ฟเวอร์แนวคิดใหม่ที่บริหารจัดการง่ายขึ้น
คุณ Paul Serrano บอกกับผมว่าตอนนี้เมืองไทยมีลูกค้าที่ใช้ Nutanix แล้วหลายราย โดยลูกค้าเกือบทั้งหมดจะใช้ Nutanix สำหรับโครงการใหม่เป็นหลัก รันขนานไปกับระบบเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีบางองค์กรที่หันมาใช้ระบบเซิร์ฟเวอร์ Nutanix ล้วนแล้ว
ปัจจุบัน Nutanix มีลูกค้ามากกว่า 1,200 แห่งทั่วโลก พนักงานเกิน 1,000 คนแล้ว จุดที่น่าสนใจคือ Nutanix ทำตลาดเอเชียหนักมาก (ขายใน 13 ประเทศทั่วเอเชีย) ในขณะที่คู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในสหรัฐ กลับยังไม่ค่อยสนใจตลาดนี้เท่าไรนัก
คู่แข่งของ Nutanix แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคู่แข่งที่ทำโซลูชันแบบ hyper-converged โดยตรงคือ SimpliVity (ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน) ส่วนกลุ่มที่สองคือผู้ขายสตอเรจแบบดั้งเดิม ที่หันมาขายสตอเรจแบบ hyper-converged เพิ่มด้วย โดยกลุ่มหลังมักใช้ซอฟต์แวร์ EVO:RAIL ของค่าย VMware ช่วยในการเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน
แผนการของ Nutanix ดูได้จากสไลด์ด้านล่าง Nutanix เริ่มจากการขายฮาร์ดแวร์แบบเบ็ดเสร็จ (appliance) แต่ก็กำลังขยายตัวเองมาแยกขายซอฟต์แวร์ด้วย ตอนนี้บริษัทอยู่ในบันไดขั้นที่ 3 คือขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ให้กับผู้ขายฮาร์ดแวร์บางราย (ตอนนี้มีเพียงรายเดียวแต่เป็นรายใหญ่คือ Dell - ข่าวเก่า) ส่วนในอนาคตก็จะแยกซอฟต์แวร์ออกอีกที
Nutanix กำลังเตรียมการด้านการขายซอฟต์แวร์ โดยออกซอฟต์แวร์ Nutanix Community Edition ให้ดาวน์โหลดไปติดตั้งในเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองได้ด้วย (ข่าวเก่าใน Blognone)
ซอฟต์แวร์รุ่นชุมชนนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ "ลองใช้" เป็นหลัก เพราะแอดมินระบบจะได้ลองทำเซิร์ฟเวอร์ที่เป็น web-scale ก่อนตัดสินใจซื้อ ซอฟต์แวร์สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี แต่จำกัดความสามารถที่ 4 เซิร์ฟเวอร์ต่อการต่อคลัสเตอร์หนึ่งตัว, รองรับเฉพาะ KVM และตามไลเซนส์แล้วไม่สามารถใช้งานแบบ production ได้ (แต่ถ้าจะรันเซิร์ฟเวอร์ที่เป็น development ก็ไม่มีปัญหา)
ผมถามว่า Nutanix มีแผนจะโอเพนซอร์สเทคโนโลยีของตัวเองหรือไม่ คำตอบคือยังไม่สนใจโอเพนซอร์ส เพราะเทคโนโลยี CVM คือจุดขายของบริษัทในตอนนี้ และทำให้บริษัทยังได้เปรียบในการแข่งขันอยู่
ปิดท้ายด้วยวิดีโออธิบายสถาปัตยกรรมของ Nutanix ครับ