งาน Google I/O 2015 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจดูจืดๆ ไปบ้างเมื่อเทียบกับ I/O 2014 เมื่อปีที่แล้ว ที่กูเกิลเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ชุดใหญ่ ทั้ง Android 5.0, Art Runtime, Material Design, Android One, Android Auto, Android TV, Android Wear, Polymer, Google Fit, Google Cardboard
สิ่งที่กูเกิลประกาศใน I/O 2015 ที่เป็นของใหม่จริงๆ มีแค่ Project Brillo ระบบปฏิบัติการสำหรับ IoT เท่านั้น ส่วน Google Photos ที่แม้จะเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย แต่มันก็คือการแยกบริการเดิมที่เคยอยู่กับ Google+, Android Pay เป็นการยกเครื่อง Google Wallet และ Android M กูเกิลก็พูดเองว่าเน้นคุณภาพไม่เน้นฟีเจอร์
แต่เอาจริงๆ แล้ว แม้ว่า I/O 2015 ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากมาย มันกลับสะท้อนทิศทางที่น่าสนใจของกูเกิลว่า ต่อจาก I/O 2014 ที่เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่มากมาย หลังจากเวลาผ่านมาหนึ่งปี กูเกิลกำลังเริ่ม "กระชับวงล้อม" แผนการทั้งหมดของตัวเองเข้าหากัน
ธีมหลักของ I/O 2015 ถูกสรุปโดย Sundar Pichai ผู้บริหารของกูเกิลในช่วงต้นๆ ของเวที keynote ว่าเขาต้องการพูดถึง 2 เรื่อง อย่างแรกคือแพลตฟอร์ม และอย่างที่สองคือภารกิจดั้งเดิมของกูเกิลในการจัดเรียงข้อมูลของโลกเข้าด้วยกัน
ตัวเลข 1 พันล้านชิ้น อาจเป็นเป้าหมายสำคัญที่บริษัทไอทีอยากฝันให้ไกลไปให้ถึง
ในขณะที่ไมโครซอฟท์เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะผลักดัน Windows 10 ให้ครอบคลุมจำนวนอุปกรณ์ 1 พันล้านชิ้นภายใน 3 ปี และแอปเปิลเพิ่งขาย iOS ได้เกิน 1 พันล้านเครื่องเมื่อต้นปีนี้ ฝั่งของ Sundar Pichai ก็มาแบบนิ่มๆ ด้วยสถิติของกูเกิลว่ามีแพลตฟอร์มระดับพันล้านเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์มเดียว แต่มีถึง 6 แพลตฟอร์มคือ Google Search, YouTube, Google Maps, Gmail (อันนี้ 900 ล้าน), Android, Chrome
ถึงแม้ผู้ใช้ของแพลตฟอร์มทั้ง 6 จะมีส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอยู่เยอะ แต่การที่กูเกิลมีแพลตฟอร์มพันล้านถึง 6 ตัวย่อมทำให้แผนการยึดครองโลกของกูเกิลไปไกลกว่าคนอื่นมาก และแน่นอนว่ากูเกิลไม่ได้พอใจเพียงแค่นี้ เป้าหมายของกูเกิลคือไปให้ไกลถึงอุปกรณ์ทุกประเภท
จากนั้น Sundar ก็ไล่อัพเดตสถานการณ์ของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่กูเกิลกำลังทำอยู่ เริ่มจาก Android Auto ที่มีบริษัทรถยนต์เข้าร่วม 35 แบรนด์ แถมรถยนต์ของ Hyundai รุ่นที่รองรับ Android Auto เริ่มวางขายจริงแล้ว
สายของทีวีมีทั้ง Android TV ที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ที่ไปไกลกว่ากันมากคือ Chromecast ที่ขายได้แล้ว 17 ล้านตัว มีแอพรองรับ 20,000 ตัวแล้ว
Android Wear ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น แม้ยังไปไม่ไกลมากนักแต่ก็เห็นวิวัฒนาการในรอบปีที่ผ่านมา
Cardboard เป็นแพลตฟอร์มที่ดูเหมือนทำเล่นๆ แต่กลับจริงจังเกินคาด ตอนนี้มีอุปกรณ์ Cardboard เกิน 1 ล้านตัวในตลาด และจำนวนแอพที่รองรับก็ทำให้ Oculus เริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน (แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนละกลุ่มกันก็ตาม)
ตลาดเกิดใหม่อย่าง IoT กูเกิลก็เดินหน้าลุยด้วย Project Brillo และ Weave ถึงแม้จะเพิ่งเริ่มต้น เพิ่งเปิดตัว ยังไม่มีของ แต่ก็ถือว่าเริ่มเขี่ยลูกเล่นเกมแล้ว (แถมมันยังเข้ากันได้กับ Android อีกด้วย)
นอกจากการขยายตัวในมิติเรื่องการรองรับอุปกรณ์แพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ครบไลน์ กูเกิลยังมองถึงการขยายฐานผู้ใช้ จากกลุ่มคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ใช้ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลอยู่แล้ว มาเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วย กูเกิลเรียกคนกลุ่มนี้ว่า The Next Billion (มีหลายบริษัทที่ใช้คำนี้มาก่อนกูเกิล) นั่นแปลว่าถ้ากูเกิลยึดครองตลาดนี้ได้ แพลตฟอร์มของกูเกิลก็จะเปลี่ยนจาก 1 พันล้านเป็น 2 พันล้านได้สำเร็จ
บริษัทที่มียุทธศาสตร์คล้ายๆ กันคือ Facebook ที่หันไปทำโครงการ Internet.org เพื่อสนับสนุนให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และมีโอกาสกลายเป็นลูกค้าของ Facebook มากขึ้นตามไปด้วย (ส่วนไมโครซอฟท์และแอปเปิลยังไม่มีผลงานด้านนี้เด่นชัดเท่าไรนัก)
ภาพด้านล่างนี้คือแผนที่ผู้ใช้ Android ทั่วโลกแยกตามระดับราคา เป้าหมายของกูเกิลที่อาจไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่พอคาดเดากันได้คือเปลี่ยนสีดำในแผนที่ ให้กลายเป็นจุดสีของกูเกิลนั่นเอง
โครงการของกูเกิลที่สอดรับกับยุทธศาสตร์นี้มีหลายอย่าง ที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ Android One ที่ต้องการส่งเสริมให้คนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงสมาร์ทโฟนในราคาถูก แต่ในงาน Google I/O รอบนี้กูเกิลไปไกลกว่านั้น โดยประกาศแผนการเพิ่มเติมอีก 4 อย่าง
ถ้าเทียบไอคอนในภาพด้านล่างกับภาพด้านบนของ Sundar Pichai จะเห็นว่าไอคอนซ้ำกันนะครับ ถ้าตัด Android ที่มี Android One อยู่แล้วออกไป กับ Gmail ที่ไม่ถูกพูดถึงเลย จะเห็นว่างานปีนี้ กูเกิลประกาศแผนผลักดัน 4 แพลตฟอร์มหลักพันล้านของตัวเอง ให้เข้าถึง The Next Billion ที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องการต่อเน็ต
แผนการของกูเกิลกับ 4 แพลตฟอร์มดังกล่าวคือ
ทั้งหมดคือความพยายามผลักดันให้บริการของกูเกิลเข้าถึงคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น นอกจากนี้โครงการอย่าง Project Loon ก็ถือเป็นการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับคนกลุ่มนี้เช่นกัน
โดยสรุปคือ "แพลตฟอร์ม" ของกูเกิลแข็งแกร่งมาก มีแพลตฟอร์มระดับพันล้าน 6 ตัว, กำลังขยายเป็นระดับสองพันล้าน และเริ่มลงทุนไปในอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ รอไว้แล้ว โลกไอทีในตอนนี้หาคนมาต่อสู้กับกูเกิลตรงๆ เรื่องตัวเลขได้ยากแล้ว
Sundar Pichai กลับขึ้นมาบนเวทีเพื่อพูดถึงประเด็นที่สองของเขา สิ่งที่น่าสนใจคือสไลด์ของ Pichai มาพร้อมกับสโลแกนตั้งต้นของบริษัท สมัยที่ยังมีแค่ search engine ที่ว่า "organize the world’s information and make it universally accessible and useful"
หลังจากที่กูเกิลหันไปทำอะไรต่างๆ มากมาย ในงาน I/O 2015 กูเกิลก็กลับสู่รากเหง้าเดิมของตัวเอง โดยประกาศฟีเจอร์และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "ข้อมูลสารสนเทศ" หลายตัว
ตัวที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ Google Now on Tap ที่ดูพื้นๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่เอาเข้าจริงแล้วมันรวบรวม "ความฉลาดทั้งมวล" ของกูเกิลมารวมกันไว้ที่แอพตัวเดียว
เนื่องจากตอนนี้อาจยังไม่มีใครได้ใช้ Google Now on Tap ดังนั้นใครที่พลาดไม่ได้ดู keynote ก็ดูคลิปที่ตัดส่วนเดโม Google Now on Tap เพื่อให้เห็นภาพครับ (จะว่าเจ๋งก็ใช่ แต่หลอนก็ใช่อีก)
ตัวแทนของกูเกิลนำเสนอเบื้องหลังการทำงานของ Google Now ว่าเกิดจากระบบ 3 ส่วนทำงานร่วมกัน นั่นคือ Context (บริบท), Answers (การรู้คำตอบ) และ Actions (การกระทำ)
ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เกิดจากโครงการที่กูเกิลทำสะสมมาหลายปี เช่น Knowledge Graph ฐานข้อมูลของสรรพสิ่งในโลก และ Google Deep Learning Project (ชื่อเดิมคือ Google Brain แต่เปลี่ยนชื่อเพราะกลัวโดนมองไม่ดี) ที่เทรนปัญญาประดิษฐ์ให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้จากบทความใน Medium)
วงการ Deep Learning มีหลายบริษัทแข่งกันทำ ทั้งไมโครซอฟท์, Facebook, Baidu แต่กูเกิลก็ถือเป็นบริษัทที่ก้าวหน้ามากที่สุดบริษัทหนึ่ง แถมยังน่าจะใกล้ชิดกับผู้ใช้มากที่สุด มีข้อมูล query ของผู้ใช้มากกว่าใครเพื่อน
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือฟีเจอร์ของ Google Photos ที่สามารถแยกแยะวัตถุต่างๆ ในภาพได้แล้ว ถึงแม้ฟีเจอร์นี้จะไม่ใช่ของใหม่ 100% และมีบางบริษัทเริ่มใช้มาก่อนแล้ว แต่สเกลการใช้งานของกูเกิลนั้นกว้างใหญ่กว่ามาก (ผมลองดาวน์โหลดแอพมาใช้แล้วก็พบว่าแม่นยำมากกว่าที่คาดไว้)
โครงการอื่นที่เกี่ยวข้องกันคือรถยนต์ไร้คนขับของกูเกิล ที่พัฒนาขึ้นจนฉลาดพอจนเริ่มลงถนนจริงได้แล้ว และสถิติที่ผ่านมา 6 ปีก็สามารถขับเองได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเองเลย
ในภาพรวมของงานฝั่งสารสนเทศ กูเกิลเริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่าที่ไปทำโน่นนี่นั่นเยอะแยะ ก็เพื่อรวบรวม "สารสนเทศ" แบบใหม่ๆ (นอกเหนือจากข้อมูลเว็บเพจ) กลับมาวิเคราะห์และสร้างอัลกอริทึม ใส่ความฉลาดลงไปเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม และมาถึงตอนนี้ปี 2015 มันเริ่มออกดอกออกผลให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว
Google I/O 2015 อาจไม่มีอะไรว้าวเหมือนปีก่อนๆ ไม่มีจังหวะที่ผู้เข้าชมงานยืนปรบมือกันอย่างล้นหลาม แต่ถ้าดูความเคลื่อนไหวของกูเกิลในรอบนี้ จะเริ่มเห็นหมากต่างๆ ที่กูเกิลเคยหว่านๆ เอาไว้ (บางอันดูเหมือนไม่ค่อยตั้งใจทำ) เริ่มเชื่อมต่อเข้าหากันแล้ว
และเท่าที่เห็นจากโครงร่างที่ยังไม่สมบูรณ์นี้ กูเกิลแข็งแกร่งมากทีเดียว