สัมภาษณ์ผู้บริหาร Fujitsu Thailand แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของระบบไอทีองค์กร

by mk
8 June 2015 - 06:40

ถ้าพูดถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีรายใหญ่ของไทย หนึ่งในรายชื่อย่อมหนีไม่พ้น Fujitsu Systems Business Thailand ซึ่งมีลูกค้าเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่มากมาย (โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นในไทย)

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของ Fujitsu คือ Mr. Lee Mun Choong Alfee ตำแหน่ง Country Business Unit Head (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าคุณ Alfee) ในประเด็นว่าแนวโน้มของระบบไอทีองค์กรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในยุคที่เทคโนโลยี cloud/mobile เริ่มกลายเป็นกระแสหลักของวงการ รวมถึงภาพรวมของไอทีองค์กรในไทยที่คุณ Alfee เคยสัมผัสมา

คุณ Alfee บอกว่าถึงแม้ Fujitsu ไม่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเองชัดเจน แต่ธุรกิจหลักของ Fujitsu คือการช่วยสนับสนุนลูกค้าในการหาโซลูชันไอทีที่เหมาะสม เพราะโลกเทคโนโลยีในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของหลายบริษัทมาประกอบกันเป็นโซลูชัน กว่าจะได้ออกมาเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริงต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากมาย ทำให้ Fujitsu เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ให้ลูกค้า

แนวทางการทำงานของ Fujitsu ไม่มีโซลูชันตายตัว แต่จะขึ้นกับความต้องการของลูกค้าว่าอยากได้อะไร แล้ว Fujitsu ค่อยเสนอโซลูชันที่เหมาะสมตามกรอบงบประมาณที่มี คุณ Alfee บอกว่าทำงานมาหลายปีก็เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว เพราะเดิมทีเมื่อพูดถึงการลงทุนด้านไอที คนมักเอาเทคโนโลยีเป็นที่ตั้งก่อน ว่าอยากใช้เครื่องมืออะไร แต่ช่วงหลังแนวคิดของ Fujitsu หันมาเน้นที่ "คน" เป็นหลักก่อน แล้วค่อยเลือกเทคโนโลยีตามหลัง

Fujitsu เรียกแนวคิดแบบนี้ว่า Human-Centric Workplace โดยต้องการตอบคำถามว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยการทำงานของคนได้อย่างไร แทนที่จะอิงกับเทคโนโลยีเป็นตัวหลัก

แนวคิดสำคัญภายใต้ Human-Centric Workplace คือเรื่องของการทำงานร่วมกัน (collaboration) ว่าทำอย่างไรพนักงานที่มีบทบาทแตกต่างกันในองค์กร (เช่น เซลส์ หรือ ซัพพอร์ต ที่มีรูปแบบงานต่างกันคนละขั้ว) จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นที่สุด

คุณ Alfee บอกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีภายในองค์กรกันเยอะมาก เน้นการลงฮาร์ดแวร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ศูนย์ข้อมูล ฯลฯ ซึ่งในมิติของธุรกิจ ฝ่ายไอทีจะใช้แต่เงินก็คงไม่ได้ เงินที่ลงไปต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามันย้อนกลับมาสร้างรายได้หรือประโยชน์ให้องค์กรมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในช่วงจากนี้ไป เราน่าจะเห็นองค์กรต่างๆ หันมาโฟกัสที่มิติด้านธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ลงไป เช่น เราจะเริ่มเห็นการโฟกัสในซอฟต์แวร์ด้านกระบวนการ (process) หรือพวก business intelligence กันมากขึ้น

ปัญหาที่พบบ่อยของไอทีองค์กร คุณ Alfee บอกว่าองค์กรหลายแห่งยังไม่มีแม้แต่การวางแผนระยะ 2-3 ปีว่าเราอยากเห็นระบบไอทีของตัวเองเป็นอย่างไร บางองค์กรคิดแค่โครงการปัจจุบันเท่านั้น ไม่มองถึงโครงการถัดไปด้วยซ้ำ ซึ่งการขาดการวางแผนจะทำให้การลงทุนไม่มีประสิทธิภาพ และมองภาพต่อเนื่องในระยะยาวได้ยาก

ประเด็นด้านความปลอดภัยยังเป็นสิ่งที่องค์กรจะพูดถึงกันมากในช่วงนี้ คุณ Alfee บอกว่าที่ผ่านมา องค์กรไทยยังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้กันมากนัก เพราะยังไม่เคยมีกรณีตัวอย่าง data leak ครั้งใหญ่แบบในต่างประเทศ (ลักษณะเดียวกับ Target หรือ Sony Pictures) แต่ถ้ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น รับรองได้ว่าทุกคนจะหันมาสนใจเรื่องนี้กัน

คุณ Alfee บอกว่าในมิติด้านความปลอดภัยด้านไอที เราแยกองค์กรได้แค่ 2 ประเภท คือ องค์กรที่รู้ว่าตัวเองโดนแฮ็ก กับองค์กรที่ไม่รู้ว่าตัวเองโดนแฮ็ก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นองค์กรประเภทที่สอง

ส่วนแนวทางด้านความปลอดภัยองค์กรแบบกว้างๆ มี 2 ส่วน อย่างแรกคือ "คนนอกห้ามเข้า" ระบบไอทีของเราปลอดภัยจากการบุกรุกจากภายนอกหรือยัง ศูนย์ข้อมูลปลอดภัยแค่ไหน พนักงานเอามือถือส่วนตัวมาใช้งานจะกลายเป็นช่องโหว่สำหรับคนนอกหรือไม่ องค์กรต้องสร้างกำแพงป้องกันตัวเองให้พร้อมก่อน

เมื่อป้องกันการบุกรุกจากภายนอกได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ "คนในห้ามออก" ทำอย่างไรพนักงานของเราจะไม่สามารถนำข้อมูลภายในออกไปเผยแพร่ได้ เช่น ห้ามใช้ thumbdrive หรือมีระบบเข้ารหัสข้อมูลภายใน เป็นต้น

สุดท้าย ผมถามว่าคนที่จะมาทำงานด้าน IT Service ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร คำตอบที่ได้คือการทำงานสายนี้ต้องแก้ปัญหาให้คนอื่น ต่างจากวิธีคิดแบบวิศวกรที่เน้นการแก้ปัญหาที่ตัวเองสนใจ ดังนั้นเราต้องมีนิสัยชอบการบริการเป็นพื้นฐาน ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาให้คนอื่นได้สำเร็จแล้วมีความสุข นั่นแปลว่าเหมาะสมกับการทำงานสายนี้

Blognone Jobs Premium