Parse ผู้ให้บริการ API สำหรับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนพัฒนาบริการขึ้นมาจาก Ruby on Rails เป็นหลัก แต่เมื่อจำนวนเครื่องลูกข่ายที่ต้องให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและโค้ดมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ Ruby on Rails กลับแสดงปัญหา
เพียงแค่ปี 2012 ทาง Parse ต้องดูแลเซิร์ฟเวอร์ถึง 200 เครื่องบน AWS เป็น unicorn worker 24 โปรเซสต่อเครื่องให้บริการ 3000 ครั้งต่อวินาทีให้กับแอพพลิเคชั่น 60,000 แอพ ระยะเวลาการขึ้นระบบแต่ละรอบใช้เวลา 20 นาที
ทาง Parse หาทางออกอื่นๆ ด้วยการหาโมเดลการให้บริการแบบ asynchronous ที่แต่ละโปรเซสสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้จำนวนมากๆ ทีมงานศึกษาศึกษาทางเลือกหลายทาง ได้แก่ EventMachine, JRuby, C++, C#, และ Go สุดท้ายทีมงานเลือก C# และ Go เป็นสองตัวเลือกสุดท้ายเพราะรองรับ asynchronous ในตัวภาษาเอง ส่วน C# ตกไปเพราะไม่สามารถทำงานกับลินุกซ์ได้ดีพอ
ทีมงานพบว่า Go ทำงานได้อย่างน่าประทับใจ แต่ละการเชื่อมต่อกินหน่วยความจำเพียง 4 กิโลไบต์ ระบบพุชข้อความรองรับการเชื่อมต่อได้ 1.5 ล้านการเชื่อมต่อ จากเดิมที่ได้เพียง 250,000 การเชื่อมต่อ
ความยากในการพอร์ต API จาก Ruby มายัง Go คือการรองรับความผิดพลาดแบบเดียวกับที่ Ruby รองรับ เช่นการ encode ตัวอักขระแบบ Unicode อย่างผิดพลาด, หรือเนื้อข้อความใน HTTP ที่ไม่ควรมีเนื้อ ทีมงานต้องพอร์ตพฤติกรรมเหล่านี้มายัง Go เพื่อให้ API ทำงานได้เหมือนเดิม
การอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ใช่เวลาลดลงจาก 30 นาทีเหลือ 3 นาที กระบวนการทดสอบ API ใช้เวลาจาก 25 นาทีเหลือ 2 นาที และ Go รองรับการรีสตาร์ตเซิร์ฟเวอร์โดยไม่ตัดการเชื่อมต่อผ่านแพ็กเกจ grace (พัฒนาโดยเฟซบุ๊กบริษัทแม่ของ Parse)
ทาง Parse จะไปร่วมงาน GopherCon ในปีนี้
ที่มา - Parse