รีวิว Intel Edison บอร์ดพัฒนาขนาดเล็กที่เหมาะกับการพัฒนาคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้

by lew
15 June 2015 - 19:42

Intel Edison เปิดตัวมาช่วงต้นปีที่แล้ว และขายจริงช่วงปลายปี จนตอนนี้บ้านเราเองกลุ่มนักพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ก็น่าจะหาซื้อมาเล่นกันได้ไม่ยาก (ที่แน่ๆ คือสั่งผ่าน Seeed Studio ได้) ผมได้รับตัวอย่าง Edison มาจากทางอินเทลโดยตรง

ชุดที่ผมได้รับคือ Intel Edison Breakout Kit มันเป็นชุดเล็กที่สุดที่จะเข้าคอนฟิกพื้นฐานได้และยังแยกขา I/O ต่างๆ ออกมาเป็นขาขนาดให้เหมาะกับการบัดกรีสำหรับโครงการทั่วๆ ไปมากขึ้น

ความโหดร้ายอย่างหนึ่งของ Edison คือมันไม่มีพอร์ตใดๆ เลยนอกจากช่องต่อสายอากาศภายนอกแทนที่สายอากาศแบบเซรามิกบนตัวบอร์ด และพอร์ต I/O แบบ 40 ขา แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของ Edison ออกแบบมาเพื่อให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ (แถมมี Wi-Fi และ Bluetooth ในตัว) ดังนั้นผู้ที่ซื้อ Edison ชุดแรกควรซื้อชุด Kit ต่างๆ อย่างน้อยที่สุดคือชุด Breakout

บอร์ดเปล่าๆ ขนาดแค่ 1/4 ของ Raspberry Pi A+ เท่านั้น

ขนาดที่เล็กมากของ Edison นับเป็นข้อดีสำคัญ ที่ทำให้มันสามารถใช้พัฒนาต้นแบบคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ อย่างที่ Seeed Studio ประกาศชุดพัฒนา Xadow ออกมาก่อนหน้านี้ ทาง Seeed Studio ยังมีพิมพ์เขียวสำหรับชุด Xadow และ Edison เพื่อนำไปพิมพ์กรอบพลาสติกด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติให้ทดลองใช้งานกันได้อีกด้วย แต่สำหรับคนที่ใช้สมาร์ตวอชแบบใช้ในชีวิตประจำวันขนาดน่าจะเทอะทะเกินใช้งานจริง

ซอฟต์แวร์

ในสมัย Galileo ซอฟต์แวร์หลักในตอนนั้นคือ Arduino IDE รุ่นเฉพาะสำหรับ Galileo แต่ในตอนนี้ทางอินเทลเองเพิ่มตัวเลือกเป็น Intel XDK IoT Edition มาอีกหนึ่งตัว การพัฒนาผ่าน XDK จะใช้ภาษาจาวาสคริปต์แบบ NodeJS ผ่านทางไลบรารี mraa

เรื่องที่แปลกอย่างหนึ่งของ XDK คือนักพัฒนาจะต้องมีบัญชีกับเว็บอินเทลไว้ก่อนและต้องล็อกอินขณะใช้ XDK ตลอดเวลา แต่ที่เหลือก็ไม่มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ XDK สามารถทำงานร่วมกับ Edison ได้เป็นอย่างดี เพียงแค่เสียบสายและคอนฟิกพอร์ตให้ถูกต้องก็เริ่มพัฒนางานได้เลย ยิ่งกว่านั้นคือ XDK สามารถพัฒนาและดีบั๊กผ่านทาง Wi-Fi ได้ อย่างไรก็ดีการพัฒนาผ่าน Wi-Fi จะต้องเข้าไปคอนฟิกตัวบอร์ด Edison ผ่านทางพอร์ตคอนโซลในช่วงแรกบ้างเพื่อตั้งรหัส ไม่เช่นนั้นเซิร์ฟเวอร์ SSH จะไม่ยอมรันขึ้นมา

ผมเองไม่ได้รันเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงๆ โดยตรง เช่น โครงการเก่าๆ ที่ทำด้วย Raspberry Pi แต่รายงานการ benchmark ก็ยังให้ Edison มีประสิทธิภาพพอๆ กับ RPi2 ที่เพิ่งออกมาไม่นาน แถมมีหลายกรณีที่ Edison ประสิทธิภาพดีกว่า

บทสรุป

ขณะที่บอร์ดรุ่นพี่จากอินเทลอย่าง Galileo มีข้อดีค่อนข้างเฉพาะทาง Edison ที่เป็นบอร์ดรุ่นน้องกลับมีจุดขายที่ชัดเจนกว่าคือขนาดเล็ก ดังนั้นหากโครงการมีข้อจำกัดเรื่องของขนาดและต้องการการเชื่อมต่อ Wi-Fi/Bluetooth แล้ว Edison คงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ คนที่เหมาะกับ Edison อาจจะเป็นกลุ่มเมกเกอร์ที่อยากสร้างโครงการที่ใช้พื้นที่และพลังงานน้อยกว่าคนอื่นๆ จนสามารถทำคอมพิวเตอร์ที่ใช้แบตเตอรี่ได้ง่ายๆ บอร์ดเสริมของ Edison ในตอนนี้เมื่อรวมเอาทั้ง Spakfun และ Seeed Studio เข้าด้วยกันแล้วก็นับว่าครบถ้วนเพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงการได้หลากหลาย

พอร์ต 70 ขาของ Edison เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เพราะมันทำให้นักพัฒนาไม่สามารถต่อกับบอร์ด breakout ราคาถูกจากจีนที่มีหลากหลายได้ทันที แต่ต้องเชื่อมต่อผ่านบอร์ด GPIO อีกทีทำให้ราคารวมชุดพัฒนาแพงขึ้น แต่ข้อดีคือในระยะยาวหากเราต้องการออกแบบบอร์ดเสริมด้วยตัวเอง สร้างบอร์ด I/O ที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะทางตามที่เราต้องการ พอร์ต 70 ขาทำให้เราออกแบบบอร์ดเสริมได้เล็กกว่าโครงการอื่นๆ ทั้งหมด และยังสามารถไปใช้บอร์ดเสริมที่มีคนออกแบบไว้แล้ว เช่นบอร์ดแบตเตอรี่เชื่อมต่อเข้ามาได้

ทั้งหมดน่าจะทำให้ Edison เหมาะกับนักพัฒนาที่อยากพัฒนาคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ด้วยตนเองเพื่อทดลองไอเดียใหม่ๆ โดยยังมีพลังประมวลผลที่ดี หรือนักพัฒนาที่จริงจัง มีแนวโน้มจะต้องออกแบบบอร์ดวงจรเฉพาะทางของตัวเองอยู่แล้วและมีข้อจำกัดด้านขนาด

Blognone Jobs Premium