เมื่อ Google Fiber ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันด้านบรอดแบนด์ในสหรัฐ

by nismod
5 July 2015 - 11:26

กูเกิลได้เริ่มให้บริการโครงการ Google Fiber บริการอินเทอร์เน็ตผ่านใยแก้วนำแสง (fiber optic) เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการประมาณปลายปี 2012 ซึ่งการกระโดดเข้ามาเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ครั้งนี้ของกูเกิลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก

ก่อนหน้าการมาของ Google Fiber โครงข่ายของบรอดแบรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นสายเคเบิลและโทรศัพท์ ซึ่งความคิดในการอัพเกรดมาใช้ใยแก้วนำแสงในการให้บริการอินเทอร์เน็ตของ ISP นั้นแทบจะไม่มี สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ในการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสง บวกกับว่าในแต่ละเมือง จะมี ISP ผูกขาดอยู่แค่ไม่กี่เจ้า พอมีผู้ให้บริการน้อย การแข่งขันก็น้อยตาม และตราบเท่าที่แต่ละเจ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการ (status quo) ต่างฝ่ายต่างก็นอนกินกำไรได้ต่อไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว

ภาครัฐเองก็มีส่วน ที่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนอัพเกรดโครงข่ายอินเทอรเน็ตของผู้ให้บริการ ไม่ต้องพูดถึงการให้เงินอุดหนุน (subsidize) หรือลงทุนสร้างโครงข่ายเองของภาครัฐ เพียงแค่กฎหมายและระเบียบต่างๆ ทั้งระดับรัฐและท้องถิ่นก็สร้างความยากลำบากให้ผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่ต้องการจะลงทุนติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงแล้ว หรือแม้แต่หากแต่ละเมืองอยากจะลงทุนทำโครงข่ายเอง ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยข้อกฎหมาย

เมื่อกูเกิลให้บริการ Google Fiber ที่ความเร็วระดับ Gigabit ทำให้ผู้ให้บริการหลายเจ้าเริ่มขยับตัวและอัพเกรดโครงข่ายของตัวเองเป็นใยแก้วนำแสง รวมไปถึงขยายพื้นที่การให้บริการให้มากขึ้นเช่นกัน ขณะที่หลายๆ พื้นที่หากยังไม่สามารถติดตั้งใยแก้วนำแสงได้ ผู้ให้บริการก็จะเพิ่มความเร็วให้โดยไม่คิดค่าบริการ

เทศบาลและเมืองต่างๆ ในสหรัฐเริ่มมีการขยับเช่นเดียวกัน หลายๆ เมืองในรัฐคอนเนตทิคัตเริ่มร่วมมือกันและเจรจากับแบงค์ออสเตรเลีย เพื่อลงทุนร่วมในโครงข่ายใยแก้วนำแสงระหว่างตัวเมืองและเอกชน ที่ตัวเมืองจะเป็นเจ้าของโครงข่ายเองในท้ายที่สุด

ประเด็นคือกูเกิลได้ประโยชน์จากโครงการนี้เต็มๆ เพราะถึงแม้ธุรกิจ Google Fiber อาจจะทำกำไรให้กูเกิลไม่ได้มาก (ซึ่งแนวโน้มดูจะเป็นไปในทางนั้น) แต่กูเกิลก็ยังได้ประโยชน์ทางอ้อมจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่กว้างขวางมากขึ้นและเร็วขึ้นจากทรากฟิกบนโลกออนไลน์ต่างๆ อยู่ดี ขณะเดียวกันผู้บริโภคในสหรัฐเป็นผู้รับประโยชน์จากสภาพการณ์เช่นนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากกูเกิลไม่ได้มีกำลังมากพอจะกระโดดมาลงทุนโครงข่ายใยแก้วนำแสง ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการเครือข่ายบรอดแบรนด์ขนาดนี้ วงการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ของสหรัฐก็ยังคงจะอยู่ในยุคมืดต่อไป

ที่มา - MIT Technology Review

Blognone Jobs Premium