โปรแกรมเมอร์นี่ต้องเก่งขนาดไหน ถึงจะเขียนโปรแกรมให้มันรู้จักแก้บั๊กด้วยตนเองได้??

by ตะโร่งโต้ง
5 July 2015 - 16:31

หากจะตอบคำถามข้างต้นว่าต้องเป็นคนที่เก่งพอจะเข้าไปทำงานวิจัยที่ MIT ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะวันนี้โปรแกรมที่แก้บั๊กด้วยตนเองได้เกิดขึ้นจริงแล้วจากฝีมือนักวิจัยของสถาบันแห่งนี้

แนวทางที่เหล่าโปรแกรมเมอร์ที่ MIT ร่วมกันพัฒนา คือโปรแกรมที่พวกเขาเรียกว่า CodePhage มันคือซอฟต์แวร์ที่จะตรวจหาจุดผิดในโค้ดที่ถูกเขียนขึ้น แล้วไปหยิบยกเอาโค้ดบางส่วนของโปรแกรมอื่น (ซึ่งมีทั้งบรรดาโปรแกรมแบบ open source และโปรแกรมที่มีผู้บริจาคมาให้เพื่องานพัฒนานี้โดยเฉพาะ) มาทำการ "ซ่อมแซม" จุดผิดพลาดเหล่านั้น

Stelios Sidiroglou-Douskos หนึ่งในทีมวิจัยสร้าง CodePhage กล่าวว่าซอฟต์แวร์ของโครงการ open source ต่างๆ ที่มีโค้ดจำนวนมหาศาลนั้น มีโค้ดอยู่ไม่น้อยที่มีองค์ประกอบยิบย่อยบางส่วนที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกันอยู่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเขียนโค้ดใหม่ๆ และนำมาใช้แก้บั๊กได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทดสอบใช้งาน CodePhage กับซอฟต์แวร์ open source ที่มีบั๊ก และพบว่ามันสามารถค้นพบและเริ่มการแก้ไขบั๊กดังกล่าวได้ทันที โดยใช้เวลาอยู่ในช่วง 2-10 นาทีต่อการแก้ไขบั๊กแต่ละจุด

เป้าหมายถัดไปของทีมวิจัยจาก MIT ก็คือย่นเวลาที่ CodePhage ใช้ในการตรวจสอบงานให้สั้นลง และปลายทางในฝันของงานพัฒนานี้ ก็คือช่วยลดภาระของโปรแกรมเมอร์ ด้วยการให้ CodePhage ช่วยเอาโค้ดจากซอฟต์แวร์ที่เคยมีคนเขียนไว้ก่อนแล้วมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเหลืองานให้โปรแกรมเมอร์เพียงแค่การเขียนโค้ดใหม่ที่ยังไม่เคยมีคนเขียนเท่านั้น

ที่มา - SDTimes

Blognone Jobs Premium