รีวิว MacBook Air โน้ตบุ๊คสุดบางที่ใครๆ ก็พูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ ไม่ต้องเกริ่นกันยาว เริ่มกันเลยดีกว่า
หมายเหตุ
รีวิวอันนี้ผมเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้ iBook G4 12" มาก่อน ดังนั้นการเปรียบเทียบในหลายจุดจะเป็นการเปรียบเทียบกับ iBook G4 และด้วยข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์บางประการ ผมไม่ได้ทดสอบและจะไม่เขียนถึงประเด็นต่อไปนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรีวิวของเว็บไซต์ต่างประเทศตามที่ใส่ลิงก์ไว้ให้ด้านล่างครับ
ส่วนนี้คงไม่กล่าวถึงละเอียดนักเพราะว่าเป็นข้อมูลทั่วไปที่หาได้บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ฮาร์ดแวร์ของ MacBook Air มีส่วนสำคัญคร่าวๆ ดังนี้
สิ่งที่ไม่มีใน MacBook Air
MacBook Air มาในกล่องสีดำขนาดเล็กกว่าโน้ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ของแอปเปิลพอสมควร ในภาพผมเอาโทรศัพท์มือถือมาเทียบจะได้กะขนาดกันถูก
กล่องของ MacBook Air เป็นแบบฝาครอบซึ่งต่างจากกล่องแบบฝาพับของโน้ตบุ๊ครุ่นอื่น เมื่อเปิดฝาขึ้นมาก็พบกับตัวเครื่องในซองพลาสติกทันที
ชั้นถัดมาเป็นอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่สายชาร์จ สมุดคู่มือพร้อมดีวีดีระบบปฏิบัติการอีก 2 แผ่น และตัวแปลงจากหัวต่อ Micro DVI เป็น VGA และ DVI อย่างละชุด
MacBook Air จัดเข้าประเภทโน้ตบุ๊ค 13 นิ้วเท่ากับ MacBook มีขนาดเป็นตัวเลขคือ 32.5x22.7 ซม. ถ้ากะไม่ถูกจะใหญ่กว่ากระดาษ A4 อยู่นิดหน่อย
ส่วนความหนาซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของ MacBook Air นั้นก็ต้องแยกกรณีเพราะตลอดทั้งเครื่องหนาไม่เท่ากัน ส่วนที่หนาที่สุดหนา 1.94 ซม. (ตามตัวเลขของแอปเปิล) ส่วนที่บางที่สุดก็ 0.4 ซม.
ผมถ่ายรูปโดยวางเทียบกับนิตยสาร (จริงๆ มันคือ Maxim) กับตัว Superdrive ของชุด MacBook Air
ส่วนการทดสอบความบาง ให้ภาพอธิบายแทนน่าจะดีกว่าครับ
น่าเสียดายว่าซองน้ำตาลที่ผมเตรียมไว้นั้นเล็กเกินไปหน่อย เลยต้องเปลี่ยนมาใช้แฟ้มกระดาษแทน
สุดท้ายค้นเจอซองของไปรษณีย์ไทย เพียงแต่เป็นซองใหญ่เอาไว้ใส่หนังสือ เลยไม่ค่อยเหมือนโฆษณาต้นแบบเท่าไรนัก
ด้านใต้เครื่องไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราไม่สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่เองได้ (อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แบตเสื่อมเราสามารถซื้อแบตก้อนใหม่และไขน็อตประกอบเองได้ไม่ยาก - รายละเอียด)
ใต้เครื่องด้านซ้ายมือเป็นช่องเสียบสายชาร์จแบบ MagSafe ส่วนด้านขวาเป็นบานพับเก็บพอร์ตต่ออุปกรณ์ภายนอก ซึ่งมี 3 พอร์ตเท่านั้น ตามรูปได้แก่ Micro DVI, USB และช่องเสียบหูฟัง
ปุ่มเปิดเครื่องอยู่มุมขวาบนของตัวเครื่อง
ดูรูปภาพหน้าตากันไปพอสมควรแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่หลายๆ คนสงสัยคือ
คำตอบของคำถามแรกต้องตอบว่าแข็งแรงกว่าที่ผมคิดไว้มาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัสดุทำด้วยอลูมิเนียม อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องอัดทุกอย่างให้ลงในเคสอันขนาดนี้ ทำให้ตัวเครื่องของ MacBook Air แน่นปึ๊กมั่นคงทีเดียว ไม่ต้องกลัวว่านั่งทับแล้วจะหักกลางแน่นอน
ข้อเสียมีเล็กน้อยคือเมื่อวัสดุเป็นโลหะและการดีไซน์แบบบางเฉียบ ทำให้ขอบมันค่อนข้างคม เวลาวางมือไว้แล้วโดนขอบ หรือวางไว้บนตัวบนตักก็อาจจะระคายเคืองเล็กน้อย (ไม่ถึงกับบาด) นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าเกิดคราบเหงื่อได้ง่าย รวมถึงตัวเครื่องจะเย็นมากเมื่อใช้ในสภาพอากาศหนาว
ส่วนคำถามที่สอง ต้องย้อนกลับก่อนว่า iBook G4 ตัวเก่าของผมนั้นหนัก 2.2 กิโลตามสเปก ส่วน MacBook Air หนัก 1.36 กิโล ในการใช้งานจริงเวลาขนไปนอกสถานที่ย่อมต้องพกสายชาร์จไปด้วย ซึ่งสายชาร์จของ iBook ใหญ่และหนักกว่า MacBook Air อยู่บ้าง เมื่อคำนวณส่วนต่างของน้ำหนักแล้ว การขน MacBook Air จะมีน้ำหนักน้อยกว่า iBook ประมาณ 1 กิโล
แต่ 1 กิโลนี้กลับเป็นช่องว่างที่สำคัญมาก ความรู้สึกแรกของผมตอนที่ทดลองใส่เป้สะพายครั้งแรกนั้นคิดว่า "เหมือนแบกกระเป๋าเปล่าๆ" (หรืออย่างดีก็ใส่สมุด 1 เล่ม อะไรประมาณนั้น) ถ้าเอาเฉพาะตัวเครื่องอย่างเดียวก็ต้องบอกว่า สามารถยกด้วยมือข้างเดียวได้โดยไม่รู้สึกล้าแต่อย่างใด
สรุปว่าจุดขายของ MacBook Air ในเรื่องความบาง+น้ำหนักนี่สอบผ่านครับ คะแนนเกือบเต็ม
ทีนี้มาดูแง่การใช้งานจริงกันบ้าง
ผมมีปัญหาในการสั่งซื้อเล็กน้อย คือสั่งคีย์บอร์ดแบบ US ไปแต่ดันได้คีย์บอร์ดแบบ UK มา บางปุ่มจึงสลับที่กันเล็กน้อยแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคมากนักในการใช้งาน
แอปเปิลนำคีย์บอร์ดแบบใหม่ของ Mac Pro มาใส่ใน MacBook Air เป็นตัวแรก ความรู้สึกที่พิมพ์มาประมาณ 3 วันผมคิดว่าคีย์มันตื้นไปหน่อย คือปุ่มเมื่อโดนกดน่าจะลงไปลึกกว่านี้ีอีกสักหน่อย อีกประเด็นคือผมคุ้นกับคีย์บอร์ดของ iBook เดิมซึ่งเป็นแบบคีย์ชิดกัน พอมาเจอคีย์บอร์ดที่เป็นแบบคีย์ห่าง มีช่องว่างระหว่างปุ่ม (เริ่มใน MacBook) เลยยังไม่ชินนัก
ข้อสังเกตอีกประการคือผมมีปัญหากับการวางมือเล็กน้อยโดยเฉพาะมือซ้าย ปกติแล้วผมจะวางมือโดยใช้ขอบของตัวเครื่องเป็นที่ตั้ง ซึ่งผลที่ได้คือปุ่มคีย์บอร์ดฝั่งซ้ายเลื่อนจากตำแหน่งที่คุ้นเคยไปทางขวาเล็กน้อย ตรงนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะตัวเครื่องเป็นแบบจอกว้างทำให้มีระยะขอบระหว่างคีย์บอร์ดกับขอบของตัวเครื่องมากขึ้น รวมถึงเป็นปัญหาความเคยชินของตัวผมเองด้วย
สิ่งที่หายไปในคีย์บอร์ดแบบใหม่นี้คือปุ่มตัวเลขแบบ Num Lock ปกติผมไม่ได้ใช้ความสามารถนี้อยู่แล้วเลยไม่มีปัญหา ส่วนปุ่ม F1-F12 ซึ่งเป็นปุ่มลัดสำหรับตั้งค่าหน้าจอหรือความดังก็มีการสลับตำแหน่งบ้าง โดยเลื่อนปุ่มปรับระดับเสียงไปอยู่ขวามือสุด (F10-F12) และย้ายปุ่ม Expose กับ Dashboard มาไว้ที่ F3-F4 แทน ถัดจากปุ่ม F12 ยังแยกปุ่ม Eject ซีดีมาให้ด้วย (ทั้งๆ ที่เครื่องไม่มีไดร์ฟ) ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าใช้กับ Superdrive
ปุ่มลูกศรขึ้นกับลงนั้นอยู่ติดกัน (เข้าใจว่าเพื่อความสะดวกในการ scroll) บนปุ่มลูกศรทั้ง 4 ปุ่มไม่มีข้อความอื่นๆ เหมือนที่เคย อย่างไรก็ตามเมื่อกดปุ่ม Fn ประกอบ ก็กลายเป็นปุ่ม Home, End, Pageup, Pagedown ได้เหมือนคีย์บอร์ดแอปเปิลรุ่นก่อนๆ
ผมมีปัญหาในโปรแกรม Vim ซึ่งปุ่มลูกศรไม่ถูกแมปเข้ากับการเลื่อนเคอร์เซอร์ ตรงนี้ต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป
ฟีเจอร์คีย์บอร์ดเรืองแสงในที่มืดก็ทำงานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร โดยปกติแล้วตัววัดแสงจะทำงานอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่ถูกใจก็สามารถเปิด/ปรับระดับความสว่างเองได้ที่ปุ่ม F5-F6 อย่างไรก็ตามผมคิดว่าฟีเจอร์นี้เป็นเหมือนของแถม มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เสียหาย
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจซึ่งแอปเปิลนำมาโฆษณาคือแทร็กแพดแบบมัลติทัช ซึ่งนำเทคโนโลยีของ iPhone/iPod touch มาใช้ การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือแทร็กแพดมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนปุ่มกดก็มีขนาดบางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ของแทร็กแพด
เราสามารถเลือกเปิด/ปิดฟีเจอร์ของแทร็กแพดแบบมัลติทัชได้ใน System Preferences > Keyboard & Mouse > Trackpad ซึ่งแอปเปิลได้เพิ่มวิดีโอแนะนำการใช้งานเข้ามาให้ด้วย ซึ่งช่วยให้นึกภาพออกตอนตั้งค่าได้มากขึ้น (ดูภาพประกอบ) ตรงนี้ถือว่าทำได้ดีครับ
ส่วนที่เพิ่มเข้ามาจากแทร็กแพดแบบปกติคือการใช้ 2 นิ้วและ 3 นิ้วสัมผัส ซึ่งแยกเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้
2 นิ้ว
3 นิ้ว
ส่วนของ Pinch Open & Close, Rotate และ Swipe to Navigate ไม่สามารถปิดได้ใน Preferences
ผมลองใช้มาสักพักพบว่า Rotate มีประโยชน์มากเวลาจัดการกับรูปใน iPhoto ส่วน Pinch Open & Close หรือถ่างนิ้วเพื่อขยายรูปนั้น เอาจริงแล้วผมใช้นิ้วชี้ซ้าย-ขวาลากออกจากกันแทนที่จะใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของมือข้างเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราไม่ได้จำเป็นต้องซูมรูปภาพแบบนี้บ่อยเท่าไรนัก
ส่วน Swipe หรือใช้สามนิ้วปัดเพื่อเลื่อนหน้าจอ ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมชาติเหมือนกับที่เราใช้ 2 นิ้ว (เพราะปกติเวลาใช้งานเรางอนิ้วนางอยู่แล้ว) สุดท้ายแล้วกลับไปใช้ปุ่มลูกศรเลื่อนซ้าย-ขวาดีกว่า
ข้อเสียอย่างแรงของแทร็กแพดแบบมัลติทัชคือแอปเปิลเองยังไม่เปิดเทคโนโลยีให้คนอื่นใช้ (โปรแกรมของตัวเองก็ยังทำได้แค่ไม่กี่โปรแกรม) ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอว่า เมื่อไรเราจะใช้ความสามารถเหล่านี้ได้? ซึ่งต่างกับการ scroll แบบ 2 นิ้วซึ่งใช้ได้กับทุกโปรแกรม จุดนี้ต้องรอดูต่อไปว่าแอปเปิลจะทำอย่างไรเมื่อนำแทร็กแพดแบบใหม่มาใช้กับสินค้าครบทุกตัวแล้วในอนาคต
หน้าจอถ้าตั้งความสว่างไว้สูงสุดจะสว่างมาก เป็นผลมาจากการใช้จอ Backlit แบบใหม่ ปกติแล้วผมตั้งความสว่างไว้ประมาณครึ่งเดียวเพื่อไม่ให้จ้าเกินไปและประหยัดแบตไปด้วยในตัว จอเป็นแบบ glossy เหมือน MacBook ไม่สามารถเลือกได้เหมือน MacBook Pro
ถ้าดูตามสเปก ลำโพงแบบโมโนเป็นอะไรที่น่าผิดหวัง ตัวลำโพงอยู่ใต้ปุ่มลูกศร เสียงดังกว่าลำโพงของ iBook อยู่พอสมควร ผมลองทดสอบทั้งดูหนังและฟังเพลงแล้วพบว่าไม่แย่ถึงขั้นที่จินตนาการไว้แต่แรก ทำงานทั่วไปได้ไม่มีปัญหาอะไร อาจรู้สึกว่าเสียงมันแหว่งๆ ไปหน่อยเพราะลำโพงไม่ได้อยู่ตรงกลาง ถ้าต้องการเสียงแบบสเตอริโอ มีทางเลือกเดียวคือต้องต่อหูฟัง
ส่วนของ MagSafe นั้นทำงานได้ดีไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน เพียงแต่ผมไม่มี MagSafe แบบตรงมาลองเสียบ (ซึ่งตามรีวิวที่อื่นๆ พบว่าเสียบได้แต่มันจะเอียงลงมาติดพื้นโต๊ะ ต้องวางเครื่องให้ล้นขอบ)
พอร์ต USB ที่อยู่ใต้บานพับนั้น ด้วยการออกแบบเครื่องที่เอียงเข้าไป ทำให้เรากะระยะของพอร์ต USB ได้ยากเพราะมองจากมุมข้างบนเครื่องไม่เห็น สุดท้ายแล้วเชื่อว่าทุกคนจะต้องใช้ท่าเอามือซ้ายยกตัวเครื่องเอียงขึ้นมาดู ส่วนมือขวาเสียบสาย USB เข้าไป นอกจากนี้การออกแบบเครื่องเอียงยังมีความเสี่ยงสูงที่อุปกรณ์ USB บางชนิด เช่น USB drive จะเสียบไม่ได้เพราะติดขอบเครื่อง อันนี้ขึ้นกับดีไซน์ของอุปกรณ์ของแต่ละคนแล้วล่ะครับ
เนื่องจาก MacBook Air ไม่มีไดร์ฟอ่านซีดี-ดีวีดีรอมในตัว ทางออกสำหรับคนต้องการใช้คือซื้อ External Superdrive ที่แอปเปิลขายแยก ซึ่งตามข่าวของเว็บฝรั่งบอกว่ามันเกิดมาเพื่อกันและกันเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับอุปกรณ์อื่นได้ เนื่องจากแอปเปิลได้ปรับให้ไฟเลี้ยง USB ของ MacBook Air สูงกว่ามาตรฐาน เพื่อจ่ายไฟให้ Superdrive ได้โดยไม่ต้องเสียบไฟเพิ่ม อันนี้ผมไม่มีอุปกรณ์อื่นทดลองก็ไม่ทราบว่าจริงแท้แค่ไหนนะครับ
จากการทดลองใช้พบว่าตัว Superdrive นั้น seek แผ่นช้ากว่าไดร์ฟปกติเล็กน้อย และสั่นมาก วางไว้บนโต๊ะจะรู้สึกได้ถึงการหมุนของแผ่นเลยทีเดียว การใช้งานไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องติ สิ่งที่น่าปรับปรุงคือควรมีไฟ LED บอกว่ามีแผ่นอยู่ข้างในเพิ่มอีกนิดนึง
สำหรับคำถามว่าควรซื้อ Superdrive หรือไม่ อันนี้ขึ้นกับสภาพแวดล้อมในการใช้งานครับ ถ้าซื้อ MacBook Air มาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สอง ก็ไม่มีเหตุอันจำเป็นใดๆ เพราะเราสามารถใช้เครื่องอื่นอ่าน/เขียนแผ่นได้ แต่ถ้า MacBook Air จะกลายมาเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่มี (เหมือนกรณีของผม) แบบนั้นควรมีไว้ใช้งาน
ผมไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นมาทดสอบการลงโปรแกรมข้ามเครื่อง Remote Disk แต่รีวิวเมืองนอกบอกไว้ว่ามันสามารถลงได้เฉพาะ Mac OS X และโปรแกรมของ Mac OS X เท่านั้น ไม่สามารถลงวินโดวส์ ลินุกซ์รวมถึงดูหนังฟังเพลงข้ามเครื่องได้
จุดอ่อนสำคัญด้านประสิทธิภาพของ MacBook Air คือฮาร์ดดิสก์ซึ่งเป็นแบบ 4200 รอบต่อวินาที (แบบเดียวกับของ iPod) ซึ่งจะเป็นคอขวดเวลาต้องทำงานที่อ่าน/เขียนไฟล์เยอะๆ เท่าที่ใช้มา ผมยังไม่เจอปัญหาที่ว่านี้ คงเป็นเพราะไม่ได้ใช้งานเครื่องที่โหลดมากๆ ด้วย
ส่วนของ CPU เรียกได้ว่าเหลือเฟือเพราะเป็น Core 2 Duo 1.6GHz มากเกินพอสำหรับงานเดสก์ท็อปทั่วไปอยู่แล้ว การ์ดจอเป็น Intel GMA X3100 ใช้งานทั่วไปได้โอเคเช่นกัน ผมไม่มีเกม 3 มิติมาลองประสิทธิภาพ แต่ลง Ubuntu แล้ว Compiz Fusion รันขึ้นนะ
ผมไม่ได้รันเบนช์มาร์คทดสอบเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ถ้าใครสนใจลองดูในรีวิวของ Ars หรือ Gizmodo
เรื่องความร้อนนั้น เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คแอปเปิลตัวอื่นๆ บอกได้เลยว่า MacBook Air ไม่ร้อน แค่อุ่นๆ สามารถวางบนตักได้ ตัวเครื่องมีพัดลมอยู่ใต้บานพับ เสียงไม่ดังรบกวนจนเกินไป (เทียบกับเสียงพัดลมของ iBook แล้ว ตัวนี้เบากว่าเยอะ)
สิ่งที่น่าผิดหวังคงเป็นแบตเตอรี่ แอปเปิลโฆษณาว่าอยู่ได้ 5 ชั่วโมง ผมดูตัวเลขในไอคอนแบตเตอรี่เวลาครบ 100% แล้วมากถึง 5 ชั่วโมง 45 นาที (ปิด Wi-Fi) อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ลดลงอย่างรวดเร็วตามปริมาณแบตเตอรี่ ผมไม่ได้ทดสอบใช้งานต่อเนื่องจนแบตหมดเพราะต้องย้ายที่ไปมา แต่ประมาณคร่าวๆ ได้ว่าอยู่ได้ 3 ชั่วโมงครึ่งนิดๆ ใกล้เคียงกับรีวิวอันอื่นๆ การชาร์จไฟจากเกือบหมดจนถึงเต็มใช้เวลา 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย
ผมจำเป็นต้องใช้ลินุกซ์เพื่อทดสอบ-รีวิวโปรแกรมในอนาคตอยู่แล้ว คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะลงผ่าน Virtual machine หรือลงแบบ native ด้วย Bootcamp ซึ่งสุดท้ายผมตัดสินใจลงแบบ native เพื่อทดสอบความเข้ากันได้ของ Ubuntu กับฮาร์ดแวร์ของ MacBook Air ด้วยเลย (เท่าที่ดูใน Ubuntuforums ยังไม่มีคนลอง)
ผมยึดคู่มือของ Ubuntu Wiki (1, 2) เป็นหลัก ขั้นตอนไม่ซับซ้อน แบ่งพาร์ทิชันด้วย Bootcamp ก่อน จากนั้นลง Ubuntu แบบ live cd ตามปกติใน Superdrive ผมใช้ Ubuntu 8.04 alpha 4 ซึ่งพึ่งออกเพราะจะเอาเคอร์เนลรุ่นใหม่ที่สุดที่เป็นไปได้ และเพื่อความสะดวกในการอัพเกรดเป็น 8.04 ตัวจริงในอนาคต
ผลลัพธ์คือติดตั้งราบรื่น และทำงานได้ปกติ ยกเว้น Compiz Fusion มีปัญหาแสดงผลเงา drop shadow เล็กน้อย ผมยังไม่ได้ลองแก้ปัญหาฮาร์ดแวร์ตามใน Wiki เพราะว่าไม่มีเน็ตเวิร์ค (Wi-Fi ไม่ทำงาน ต้องใช้ ndistwrapper เอาไดรเวอร์ของ Broadcom มาใช้ แต่ MacBook Air ไม่มี Ethernet ต้องรอ USB-to-Ethernet ที่เพิ่งสั่งซื้อไป) ปัญหาอีกประการคือคอนฟิกแทร็กแพด Synaptics ของ MacBook ไม่เวิร์คกับ MacBook Air ซึ่งคงเป็นเพราะการเปลี่ยนมาใช้แทร็กแพดแบบใหม่นั่นเอง
เรื่อง Ubuntu บน MacBook Air ไว้มีความคืบหน้าอะไรจะมาอัพเดตเพิ่มเติมครับ
ในแง่ของ Ultraportable แล้ว MacBook Air ทำได้น่าประทับใจมากในเรื่องขนาด-น้ำหนัก
จุดเด่นของ MacBook Air เหนือ Ultraportable ตัวอื่นๆ มีสองอย่าง อย่างแรกคือให้คีย์บอร์ดแบบ full-size ซึ่งพิมพ์ได้สะดวก ส่วนที่สองคือการใช้ซีพียูแบบเดียวกับโน้ตบุ๊คปกติ ไม่เป็น Ultra-Low Voltage ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพออกมาดีสำหรับงานด้านเดสก์ท็อปทั่วไป ไม่ต้องนั่งลุ้นตอนโหลดเหมือน Ultraportable สมัยก่อนๆ
จุดด้อยที่เห็นชัดๆ คือเรื่องระยะเวลาของแบตเตอรี่ ส่วนเรื่องพอร์ตที่ให้มาน้อยมาก อันนี้คงขึ้นกับการใช้งานของแต่ละคนซึ่งต่างกันไป บางคนอาจจำเป็นต้องใช้ FireWire บางคนจะเอาโมเด็ม แต่สำหรับผมแล้วคิดว่า USB พอร์ตเดียวนี่น้อยไป (คือไม่ถึงกับตาย แต่อึดอัดพอสมควรตอนที่ต้องสลับอุปกรณ์ USB ไปมา)
ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ อย่างคีย์บอร์ดเรืองแสง แทร็กแพดมัลติทัช หรือ Wi-Fi draft-N นั้น เหมือนที่ผมเขียนไปก่อนหน้านี้แล้วว่ามีก็ดี ไม่มีก็ไม่เสียหายอะไรร้ายแรง
ผมเก็บคำถามสำคัญที่สุดไว้ตอนท้าย นั่นคือคำถามว่า “MacBook Air น่าซื้อแค่ไหน”
หลังจาก MacBook Air ประกาศตัวในงาน MacWorld ’08 คำถามนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากไม่ว่าจะเป็นที่ไหน แน่นอนว่าทุกคนใฝ่ฝันจะมีโน้ตบุ๊คแสนบางแสนเบา แต่ข้อจำกัดที่แลกมาด้วยความบางเบานี้กลับกลายเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คนเช่นกัน ได้แสนบางแสนเบามาแต่ใช้นี่ไม่ได้ นั่นไม่ดีก็ไม่ไหว แปลง่ายๆ ว่า MacBook Air ไม่เหมาะสำหรับทุกคน
คำตอบของคำถามที่ว่านี้ มีแต่ตัวเราเองที่จะตอบได้ครับ เพราะมันเป็นคำถามนำไปยังคำถามต่อไป “เราต้องการโน้ตบุ๊คไปใช้ทำอะไรกันแน่”
ผมคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ให้กับทุกคนได้ ขอยกกรณีของตัวเองขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นแทนจะดีกว่า
ผมเป็นนักข่าว งานหลักของผมคือเขียนข่าวบน Blognone ซึ่งใช้แค่เว็บเบราว์เซอร์ ในบางครั้งผมต้องปรับปรุงแก้ไข Blognone บ้างตามสมควร มีเขียนโปรแกรมหรือเขียนเว็บบ้าง แต่ถ้าใครทำเว็บโปรแกรมมิ่งก็คงรู้ดีว่าใช้แค่ SSH ช่วงนี้ผมมีงานอ่าน-เขียนเปเปอร์วิชาการเพิ่มมาบ้าง แต่ก็แทบไม่ต่างอะไรกับเขียนเว็บ แค่เปลี่ยนภาษาจาก HTML มาเป็น LaTeX งานทั้งหมดที่เอ่ยมานี้ใช้พลังประมวลผล-พื้นที่เก็บข้อมูลน้อยมากๆ ผมไม่มีงานเขียนโปรแกรมฝั่ง client ที่ต้องใช้ IDE พลังแรงสูง ไม่มีงานกราฟฟิกดีไซน์หรือตัดต่อวิดีโอ (ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดของ MacBook Pro) แต่อย่างใด สรุปว่าฮาร์ดแวร์ของ MacBook Air เหลือกินเหลือใช้สำหรับวิถีชีวิตของผม
สำหรับย่อหน้าข้างต้น MacBook ธรรมดาหรือโน้ตบุ๊คทั่วไปในท้องตลาดก็เหลือเฟืออยู่แล้ว ไม่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อทำงานแบบเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วงานนักข่าวต้องออกนอกสถานที่เป็นระยะ ถึงแม้ผมจะไม่ต้องวิ่งออกไปรายงานข่าวไฟไหม้น้ำท่วมหรือผจญภัยในป่าเขา แต่การแบกโน้ตบุ๊คระดับ 2 กิโลขึ้นไปกับอุปกรณ์เสริมอย่างกล้องถ่ายรูป สมุดจด เอกสารแจก ไปในงานประชุมสัมมนา (อย่างที่เคยไปใน FOWA และ BarCamp Leeds รวมถึงกำลังจะไป FOSDEM) ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกนัก การจ่ายแพงกว่าเพื่อน้ำหนักที่เบาขึ้น และชีวิตที่ดีขึ้นระหว่างเดินทางจึงคุ้มค่า
เรื่องสภาพแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาครับ การที่ MacBook Air เชื่อมต่อได้เฉพาะ Wi-Fi นั้นเป็นข้อจำกัดสำหรับหลายๆ คน ถ้าใช้ภาษาวิชาการเน็ตเวิร์คต้องบอกว่า MacBook Air นั้นเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง nomadic กับ mobility ถ้าเกิดต้องการ mobility หรือ always-on จริงๆ เช่น รายงานข่าวบนรถหรืองานกลางแจ้ง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่มี Wi-Fi คงต้องตัด MacBook Air ทิ้งเพราะไม่มีช่องเสียบ Aircard ที่เป็น PCMCIA หรือถ้าจะเสียบ USB ก็ขนลำบาก แต่ถ้าชีวิตเรามักมีสถานที่ประจำแค่ไม่กี่แห่ง (nomadic) แต่ต้องเปลี่ยนที่ไปมาบ่อยๆ เช่น บ้าน ที่ทำงาน ไซต์งาน ห้องสมุด ร้านกาแฟ และเกิดโชคดีว่าทุกที่มันมี Wi-Fi หมด Air ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ในกรณีของผมเป็นพวก nomadic และมี Wi-Fi ใช้เกือบหมด จึงไม่มีปัญหานี้
MacBook Air คล้ายกับ iMac รุ่นแรกมากในเรื่องข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์เมื่อเทียบกับยุคสมัย ตอนนั้นแอปเปิลออก iMac ซึ่งไม่มีฟล็อปปี้ไดร์ฟ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากมายเหมือนเช่นตอนนี้ สิบปีผ่านไปเราแทบลืมเลือนฟล็อปปี้ไดร์ฟกันแล้ว ในขณะเดียวกันเราใช้โมเด็ม, Ethernet หรือ FireWire น้อยลงเรื่อยๆ และเรากำลังเริ่มโยกงานที่ต้องการพลังประมวลผลหรือพื้นที่เก็บข้อมูลมากๆ ไปไว้บนเซิร์ฟเวอร์ (อย่างที่เห็นใน S3 หรือ EC2) รวมถึงเริ่มเปลี่ยนงานหลายอย่างไปทำบนเว็บแทน คนที่เข้ากลุ่ม ahead of time นี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนที่จำเป็นต้องทำงานเฉพาะทางหรือใช้อุปกรณ์เฉพาะอย่างอยู่อีกมาก
ผมขอสรุปเหมือนรีวิวเกือบทุกเจ้าในท้องตลาดว่า MacBook Air ไม่เหมาะสำหรับทุกคน อย่าให้รูปลักษณ์หรือกระแสตลาดมาบดบังความต้องการที่แท้จริง (และเงินในกระเป๋า) ของเรา ผมมีข้อแนะนำเล็กน้อยว่าการตัดสินใจซื้อ MacBook Air ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากลำบาก ถ้าอ่านรีวิวนี้จบแล้วยังลังเล นั่นแปลว่าคุณไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของ MacBook Air ครับ เก็บเงินเอาไว้ก่อนดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ความฝันที่จะได้ใช้โน้ตบุ๊คพลังสูงแต่แสนเบาแสนบางยังอยู่กับเราเสมอ MacBook Air เป็นการจุดกระแสความต้องการนี้ให้กลายมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ดังนั้นอีกไม่นานเกินรอ (จริงๆ ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว)เราจะได้เห็นโน้ตบุ๊คในระดับเดียวกันแต่ถูกกว่า มีข้อจำกัดไม่เยอะเท่า ออกมาให้เห็นเต็มไปหมดอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม