นักวิจัยจีนพัฒนางานพิมพ์ 3 มิติ สร้างกระดูกเทียมโดยใช้ผงกระดูกป่นเป็นวัสดุในการพิมพ์

by ตะโร่งโต้ง
18 July 2015 - 20:45

มาอีกแล้วกับข่าวคราวเทคโนโลยีงานพิมพ์ 3 มิติ กับการใช้งานด้านการแพทย์ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างหลอดเลือดเทียม หรือสร้างเนื้อเยื่อตับเพื่อใช้กับงานวิจัยยาเท่านั้น วันนี้การพิมพ์ 3 มิติสามารถผลิตกระดูกเทียมด้วยวัสดุตั้งต้นจากกระดูกจริงที่ถูกนำมาป่น

ทีมวิจัยของ Southern Medical University ใน Guangzhou ประเทศจีนได้พัฒนาเทคนิคการสร้างกระดูกเทียมโดยอาศัยการผสมผงกระดูกของสัตว์ (มีการทดลองใช้กระดูกของแพะและกระต่าย) เข้ากับกาวชีวภาพ (ไม่ระบุรายละเอียดของสารที่ใช้) แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนกระดูกเทียมด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นเมื่อเทียบกับความพยายามที่มีมาก่อนหน้าในการใช้งานวัสดุเนื้อโลหะมาพิมพ์เป็นกระดูกเทียม เพราะการใช้วัสดุตั้งต้นจากผงกระดูกของจริงนั้นมีแนวโน้มว่าจะปลูกถ่ายในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้สำเร็จมากกว่า

การพิมพ์กระดูกเทียมนี้จะทำการฉีดผงกระดูกที่มีขนาดเล็กราว 0.1 มิลลิเมตรลงไปทีละชั้นตามด้วยกาวประสาน จากนั้นก็พิมพ์ผงกระดูกลงไปอีกเรื่อยๆ กระบวนการนี้อาจต้องทำซ้ำนับพันรอบเพื่อให้ได้กระดูกเทียม 1 ชิ้น อย่างไรก็ตาม กระดูกเทียมที่สร้างขึ้นด้วยการพิมพ์นี้ยังมีความแข็งแรงน้อยกว่ากระดูกจริง นั่นจึงทำให้ในขณะนี้ทีมวิจัยสามารถพิมพ์กระดูกเทียมได้ในขนาดไม่เกิน 15 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะเมื่อพิมพ์ชิ้นงานใหญ่กว่าข้อจำกัดดังกล่าวจะทำให้ชิ้นงานมีความเปราะบางต่างจากกระดูกจริงอย่างมีนัยจนไม่สามารถใช้งานได้

ขั้นต่อไปของงานวิจัยนี้คือการเปรียบเทียบหาความเหมือนและต่างระหว่างกระดูกสัตว์ของจริง กับกระดูกที่ได้จากการพิมพ์ 3 มิติ และหวังว่าจะนำไปสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายกระดูกเทียมกับสิ่งมีชีวิตได้จริงในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายในอนาคตของงานพัฒนาการพิมพ์กระดูกเทียมนี้ ก็เพื่อเพิ่มโอกาสในการปลูกถ่ายกระดูกให้แก่ผู้ป่วยที่สูญเสียกระดูกจากโรคมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจนกระดูกเดิมไม่สามารถใช้การได้

Southern Medical University ได้ศึกษาและปรับใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยจริงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็เคยใช้การพิมพ์ 3 มิติ จำลองชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ป่วยมะเร็งตับรายหนึ่ง โดยพิมพ์ตับ, เส้นเลือดแดงและดำ รวมถึงก้อนเนื้อมะเร็ง เพื่อวางแผนทำการผ่าตัด ยังผลให้การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกจากผู้ป่วยประสบผลสำเร็จ โดยสามารถวางแผนจนลดปริมาณของตับที่ต้องทำการผ่าออกจากเดิมที่ประเมินไว้ราว 60% เหลือเพียง 42.8% เท่านั้น ยังไม่นับการทดลองพิมพ์เนื้อเยื่อส่วนตับและไตซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกับทีมจากแคนาดา

ที่มา - 3Ders via SlashGear

Blognone Jobs Premium